ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก! ไข้อีดำอีแดง พิษของเชื้อแบคทีเรีย "เสตร็ปโตคอสคัส ชนิดเอ"

สังคม
11 เม.ย. 67
11:31
294
Logo Thai PBS
รู้จัก! ไข้อีดำอีแดง พิษของเชื้อแบคทีเรีย "เสตร็ปโตคอสคัส ชนิดเอ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สถาบันโรคผิวหนัง เตือนโรคไข้อีดำอีแดง พบบ่อยในผู้ป่วยเด็ก ไม่สามารถหายได้เอง สาเหตุติดเชื้อ สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ แพร่ผ่านทางละอองฝอย สารคัดหลั่ง ผู้ป่วยมีไข้ เจ็บคอ และจะมีผื่นบริเวณคอ กระจายตามตัว แขน ขา

วันนี้ (11 เม.ย.2567) นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ไข้อีดำอีแดง เป็นโรคที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก ไม่สามารถหายได้เอง และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจทำให้อาการแย่ลงจนส่งผลร้ายต่อร่างกาย

โรคนี้เกิดจากเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ ซึ่งการแพร่กระจายของโรคจากคนสู่คน ผ่านทางละอองฝอย จากสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วย ได้แก่ เสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ทางการหายใจและการสัมผัสทางเยื่อบุต่างๆได้แก่ ตา จมูก ปาก รวมทั้งการสัมผัสใกล้ชิดผ่านทางสิ่งของเครื่องใช้ร่วมกันเช่น แก้วน้ำ ช้อน

การดูแลสุขอนามัยในทุกๆคนอย่างสม่ำเสมอ เช่น การล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโดยเฉพาะในการอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น สถานศึกษาต่างๆ

พญ.ศิรินดา แจ่มจรรยา นายแพทย์เชี่ยวชาญ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า อาการเริ่มจากมีไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน หลังจากได้รับเชื้อ 12 ชั่วโมง ถึง 5 วัน ต่อมา 1-2 วัน จะเริ่มมีผื่นที่บริเวณคอ และกระจายไปตามตัว แขนขา ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน

ลักษณะผื่นจะเป็นผื่นนูนละเอียด คล้ายกระดาษทราย มีอาการคันเล็กน้อย มักพบผื่นจำนวนมากที่บริเวณข้อพับ และพบจุดเลือดออกขนาดเล็กในบริเวณนั้นได้ 3-4 วันต่อมาผื่นจะเริ่มจางและเริ่มลอก ซึ่งมักเริ่มที่หน้า ส่วนฝ่ามือ ฝ่าเท้าอาจเกิดการลอกหลังจากนั้นเป็นเวลาหลายสัปดาห์ได้

ส่วนในช่องปากจะพบการบวมแดงของต่อมทอนซิล อาจพบเยื่อสีขาว เทา หรือเหลืองปกคลุม ในช่วง 2 วันแรกลิ้นจะมีเยื่อขาวปกคลุม หลังจากนั้นเยื่อขาวจะลอกออกกลายเป็นลิ้นสีแดงและเห็นตุ่มลิ้นชัดเจน

นอกจากนี้ยังพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หน้าแดง และรอบปากซีดได้บ่อย การรักษาที่สำคัญคือ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ penicillin หรือ erythromycin เป็นระยะเวลา 10 วัน ร่วมกับการรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ อาการไข้มักจะลดลงภายใน 12-24 ชั่วโมงหลังได้รับ ยาฆ่าเชื้อ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบ ได้แก่ ฝีที่บริเวณรอบต่อมทอนซิล ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไข้รูมาติก และไตอักเสบ

การวินิจฉัยโรคอาศัยอาการแสดง และอาจร่วมกับการตรวจยืนยันเชื้อโดยการเพาะเชื้อจากลำคอ หรือการตรวจเลือด การพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ ระยะเริ่มแรกเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยควบคุมความรุนแรงของโรค

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง