วันนี้ (24 เม.ย.2567) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงเป็นฐานกำลังผลิตที่น่าลง ทุนของอาเซียน โดยเห็นได้จากไตรมาสแรกปี 2567 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 356 รายเงินลงทุนรวม 35,902 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 849 คน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ญี่ปุ่น เงินลงทุน 19,006 ล้านบาท ในธุรกิจเช่น ธุรกิจโฆษณา บริการรับจ้างผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ บริการรับจ้างผลิด และ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ
รองมาเป็น สิงคโปร์ เงินลงทุน 3,294 ล้านบาท ธุรกิจบริการศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยการให้ใช้ระบบฝากซื้อขายสินค้าและบริการ เป็นต้น สหรัฐอเมริกา เงินลงทุน 1,048 ล้านบาท ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม นายหน้าและตัวแทนในการจัดซื้อ จัดหา และจัดจำหน่ายสินค้า
ในขณะที่ทุนจีนเข้ามาลุงทุนเพียง 20 ราย หรือ 11% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 2,886 ล้านบาท เช่น บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า ธุรกิจบริการให้ใช้ช่วงสิทธิแฟรนไชส์ (Franchising) เพื่อประกอบธุรกิจการขายอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนฮ่องกง เงินลงทุน 1,017 ล้านบาท เช่น ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เครื่องฉีดขึ้นรูป) ศูนย์กระจายสินค้า เป็นต้น
ธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในไทย ถือได้ว่า มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย
นางอรมน กล่าวอีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 พบว่า ไทยอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น 2% มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 2,854 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 9% ขณะที่มีการจ้างงานคนไทย ลดลง 56%
สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC พบว่านักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 81% มูลค่าการลงทุน 11,629 ล้านบาท เป็นนักลงทุนญี่ปุ่น ,จีน ,สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ
อ่านข่าวอื่นๆ:
นายกฯ ถก 4 แบงก์ใหญ่หาช่องลดดอกเบี้ย
ลุ้นไทยเจ้าภาพจัด "F1" อีก 3 ปี ฝันดึงรายได้ 1.2 หมื่นล้าน
ราคาทองคำวันนี้ร่วงหนัก 850 บาท รูปพรรณรับซื้อ 39,719.20 ขาย 41,050