ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถอดเบื้องหลังคดี "วิน โพรเสส" ถึงเวลาต้องแก้กฎหมายโรงงาน

สิ่งแวดล้อม
24 เม.ย. 67
13:40
6,232
Logo Thai PBS
ถอดเบื้องหลังคดี "วิน โพรเสส" ถึงเวลาต้องแก้กฎหมายโรงงาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

คดีจบไปนานแล้ว ทำไม "ถังสารเคมี" ที่ วิน โพรเสส อยู่รอจนไฟไหม้

เหตุไฟไหม้โรงงานวิน โพรเสส ในชุมชนหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เมื่อ 22 เม.ย.2567 กลายเป็นเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ เพราะในโรงงานแห่งนี้เต็มไปด้วยถังสารเคมีทั้งขนาด 200 ลิตร และ 1,000 ลิตร จำนวนมาก จนทำให้มีเสียงระเบิดดังขึ้นติดต่อกันยาวนานหลายชั่วโมง มีควันสีดำลอยขึ้นไปในอากาศ กลายเป็นภัยร้ายแรงที่ปล่อยมลพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

เป็นที่รู้กันดีว่า บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ซึ่งเป็นชื่อของโรงงานแห่งนี้ ถูกชาวชุมชนหนองพะวา มูลนิธิบูรณะนิเวศและสื่อมวลชน ช่วยกันเดินหน้าตรวจสอบจนพบการทำผิดกฎหมาย คือ ครอบครองวัตถุอันตรายจำนวนมากโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการลักลอบนำถังสารเคมีอันตรายเข้ามาในบริเวณโรงงาน

และยังพบว่าแม้จะเป็นโรงงานที่มีใบอนุญาตทำกิจการบดอัดกระดาษ และหล่อหลอมโลหะ (ของแข็ง) แต่กลับไม่มีเครื่องจักรสำหรับประกอบการตามใบอนุญาตเลยแม้แต่ชิ้นเดียว จึงถูกนิยามให้เป็นเพียง "ถังขยะ" หรือสถานที่นำกากของเสียอันตรายมาทิ้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งไปกำจัดตามหลักวิชาการอย่างถูกต้อง ซึ่งช่วยลดราคาค่ากำจัดจากกลุ่มโรงงานรีไซเคิล ซึ่งน่าจะเป็นเจ้าของถังเหล่านี้ตัวจริงลงไปได้เป็นเงินมูลค่ามหาศาล

เมื่อถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นตั้งแต่เดือน มิ.ย.2563 ทำให้ทั้งบริษัท วิน โพรเสส และสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ระยอง ถูกกดดันอย่างหนัก จนนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในขณะนั้น ต้องลงพื้นที่มาสั่งการให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด

และในที่สุดนายโอภาส บุญจันทร์ กรรมการบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ก็ประกาศเลิกกิจการด้วยตัวเอง ก่อนที่จะมีคำสั่งลงโทษใดๆ จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม

เรื่องราวหลังจากนั้น จึงเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ทั้งคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีทางปกครอง ท่ามกลางความหวังของชาวหนองพะวาว่า เมื่อโรงงานเลิกกิจการไปแล้ว พวกเขาจะได้รับการชดเชยเยียวยา สารเคมีทั้งหลายจะถูกนำไปกำจัด สิ่งแวดล้อมในชุมชนจะกลับมาดีดังเดิม

แต่ทั้งหมดนั้น ... ไม่เกิดขึ้นจริงเลยแม้แต่เรื่องเดียว ... สิ่งที่เกิดขึ้นจริง คือ ไฟไหม้

"ไม่มีเงิน ... ไม่มีจ่าย"

นั่นเป็นเหตุผลที่ วิน โพรเสส ปฏิเสธการแสดงความรับผิดชอบในคดีแพ่ง ที่ชาวหนองพะวา 15 คน ฟ้องเรียกค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.2564 และศาลจังหวัดระยองมีคำพิพากษาเมื่อ 13 ธ.ค.2565 ให้ วิน โพรเสส ต้องชดใช้ค่าเสียหายรวม 20.8 ล้านบาท

โดยผู้เสียหายรายใหญ่ที่สุด คือ นายเทียบ สมานมิตร ซึ่งสูญเสียสวนยางพารา 30 ไร่ ที่อยู่ติดกับโรงงาน ได้เพียงคำพิพากษาว่าต้องได้รับเงินชดเชย 5.32 ล้านบาท แต่ผ่านมาถึงเดือนเม.ย.2567 ยังไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียว

ความหวังแรกของชาวหนองพะวา คือ "ค่าชดเชย เยียวยา" จึงได้มาเป็นเพียง "สถานะผู้ชนะคดีตามคำพิพากษา"

แต่พวกเขาก็ยังมีอีกหนึ่งความหวังว่า "ของเสียอันตราย" ที่เป็นต้นเหตุของความเดือดร้อนทั้งปวง จะถูกกลไกทางกฎหมาย หรือกลไกจากอำนาจรัฐ บังคับให้ วิน โพรเสส นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง ดิน น้ำ อากาศที่สะอาดดังเดิมจะกลับคืนมา

แต่ที่ได้กลับมาจริงๆ กลายเป็นเปลวเพลิงปนเปื้อนสารพิษ

อุตฯ ระยอง เร่งรัด วิน โพรเสส ทำสัญญากำจัดของเสียเพิ่มเติมก่อนไฟไหม้เพียง 3 วัน

"ถังสารเคมี" ตามหลักการแล้วจะต้องถูกส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องในโรงงานรับกำจัดกากของเสียอันตราย (ลำดับที่ 101) แต่อย่างที่เห็น คือ มันไม่เกิดขึ้น

ต้องย้อนกลับไปหาสาเหตุ

หลังถูกกดดันอย่างหนัก ทำให้วันที่ 11 มิ.ย.2563 อุตสาหกรรม จ.ระยอง เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ วิน โพรเสส ฐานครอบครองวัตถุอันตราย

แม้จะถูกตั้งคำถามอย่างมากมายว่า ทำไมการแจ้งความดำเนินคดี จึงเพิ่งเกิดขึ้นภายหลังการเข้าตรวจโรงงานครั้งแรกจากการร้องเรียนของชาวบ้านตั้งแต่เมื่อ 6 เดือนก่อนหน้านั้น

แต่เมื่อตำรวจส่งสำนวนให้อัยการมีคำสั่งฟ้อง การแจ้งความครั้งนั้นก็เป็นที่มาของ "คดีอาญา" ในเวลาต่อมา โดยมีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้ร้องทุกข์ ส่วนบริษัท วิน โพรเสส เป็นจำเลย และศาลมีคำพิพากษาว่า วิน โพรเสส มีความผิดจริง

ข้อความสำคัญที่ต้องบันทึกไว้ คือ ศาลมีคำสั่งให้ ริบของกลาง (ของเสีย) และส่งมอบของกลางให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลตามสมควร โดยจำเลย (วิน โพรเสส) ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการบำบัดหรือกำจัด

คำพิพากษาในคดีครอบครองวัตถุอันตราย ยังเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญร่วมกับผลตรวจดินและน้ำในชุมชนและโรงงานจากกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งทีมทนายของชาวบ้าน 15 คน ใช้ประกอบการฟ้องจนชนะคดีแพ่ง

แต่ที่จะต้องดูลงไปในเชิงลึก คือ ความพยายามที่จะบังคับให้ วิน โพรเสส ส่งของเสียในโรงงานไปกำจัด มีเรื่องราวที่เป็นข้อเท็จจริงจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวของในเหตุการณ์ต่างๆ ดังนี้

เมื่อมีคำพิพากษาในคดีอาญา กรมโรงงานอุตสาหกรรม เรียกผู้แทนจากบริษัทที่มีศักยภาพในการรับกำจัดของเสียอันตราย (101) เกือบทุกแห่งเข้ามาพบกับเจ้าของ วิน โพรเสส เพื่อประเมินราคาค่ากำจัด

และมีรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญประเมินราคาค่ากำจัดของเสียอันตรายทั้งถังสารเคมี กองกากตะกอนน้ำมัน และน้ำในบ่อน้ำ รวมเป็นมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งทาง วิน โพรเสส อ้างว่า แพงเกินไป และจะจัดหาผู้รับเหมาการกำจัดเอง

จะเห็นได้ว่า ในขั้นตอนนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีบทบาทเป็นคนกลางในการเรียกบริษัทรับกำจัดของเสียอันตรายมาพบกับ วิน โพรเสส เพื่อให้เกิดการตกลงว่าจ้างกันเอง โดยไม่เกี่ยวข้องกรมโรงงานฯ

ต่อมา กรมโรงงานอุตสาหกรรม เรียกผู้แทนบริษัทกลุ่มเดิมมาหารืออีกครั้ง พร้อมแจ้งว่า มีวงเงินค่ากำจัดที่จะว่าจ้างอยู่ที่ประมาณ 11 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาจากการบังคับคดีขายของเก่าและเศษเหล็กในโรงงานที่ยังใช้ได้ออกไป

แต่เมื่อบริษัทรับกำจัดส่วนใหญ่เข้าไปประเมินราคาในโรงงาน ต่างก็พากันถอนตัว เหลือเพียง บริษัท เอส.เค. อินเตอร์เคมิคอล จำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการจัดการของเสียอันตรายที่เป็นของเหลว ตกลงรับงานในส่วนที่เป็นของเหลว แต่ในโรงงาน วิน โพรเสส มีของเสียอยู่ในรูปแบบถัง ซึ่งถือเป็นของแข็งจำนวนมาก

มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ ระบุว่า เมื่อ เอส.เค.อินเตอร์เคมิคอล เริ่มดำเนินงาน ก็พบว่า น้ำในบ่อของ วิน โพรเสส คล้ายมีการรั่วซึมมาจากบ่ออื่น เพราะเมื่อดูดน้ำเสียออกไป ก็มีน้ำไหลเข้ามาเติมอยู่ตลอด จึงไม่สามารถปิดงานได้ และเลยเถิดมาจนถึงปัจจุบัน

สนิท มณีศรี ชาวหนองพะวาที่ได้รับผลกระทบจากโรงงาน เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการกำจัดของเสียในโรงงาน ครั้งหนึ่งซึ่งมีอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วมด้วย ผู้แทนของบริษัท เอส.เค.อินเตอร์เคมิคอล กล่าวในที่ประชุมว่า หากจะให้ดำเนินการกำจัดของเสียต่อไปทาง วิน โพรเสส ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพราะไม่สามารถทำงานในงบประมาณ 11 ล้านบาทต่อไปได้

19 เม.ย.2567 สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ระยอง มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท วิน โพรเสส เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการ "ร่วมร่างสัญญาแนบท้ายสัญญาเพิ่มเติม ระหว่าง วิน โพรเสส กับ เอส.เค.อินเตอร์เคมิคอล"

หลังจากที่มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2567 ว่าจะทำสัญญาเพิ่มเติมในการกำจัดของเสียในโรงงาน แต่ผ่านมาถึงกลางเดือนเมษายนแล้วกลับยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ โดยเนื้อหาในเอกสารระบุด้วยว่า กรรมการบริษัท เอส.เค.อินเตอร์เคมิคอล ไม่ได้เข้าร่วมการประชุม และเกิดเพลิงไหม้ขึ้นในอีก 3 วันถัดมา หลังมีเอกสารฉบับนี้

ก่อนมีเอกสารเร่งรัดการทำสัญญาเพียง 1 วัน สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ระยอง เพิ่งมีเอกสารส่งถึง วิน โพรเสส ขอให้จัดเก็บถุงบิ๊กแบ็กที่บรรจุวัตถุอันตรายอย่างถูกต้อง เพราะพบว่าถูกจัดเก็บไว้กลางแจ้ง เสี่ยงต่อการปนเปื้อนหากมีฝนตก

เมื่อไล่เรียงเหตุการณ์ทั้งหมดนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า มีความพยายามจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่จะให้ วิน โพรเสส เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสียอันตรายในโรงงานตามคำพิพากษาในคดีอาญา โดยการจัดการให้ผู้รับเหมาได้มาพบและทำความตกลงกับทาง วิน โพรเสส ด้วยตัวเอง 

แต่ในเมื่อ วิน โพรเสส มีงบประมาณที่ได้จากการขายของเก่าเพียง 11 ล้านบาท ก็ทำให้มีเพียงบริษัทเดียวที่ตกลงรับงาน ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่า ตกลงรับงานทั้งหมดหรือตกลงรับกำจัดเฉพาะส่วนที่เป็นของเหลวตามความเชี่ยวชาญของบริษัทเท่านั้น

แต่ที่ชัดเจน คือ การกำจัดหรือบำบัดภายใต้วงเงิน 11 ล้านบาท ไม่เกิดผลใดๆ เลย และทางผู้รับเหมาไม่พร้อมจะทำงานต่อไป จนกรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องมีหนังสือเร่งรัดให้ วิน โพรเสส รีบไปทำสัญญาเพิ่มเติม แต่ก็มาเกิดไฟไหม้ขึ้นก่อน

เปลวเพลิงเผาผลาญของเสียอันตรายที่มีราคาค่ากำจัดสูงลิ่วไปเกือบทั่วทั้งโรงงาน ทนายความชาวบ้านหนองพะวา ตั้งข้อสังเกตต่อวิธีการบังคับให้ วิน โพรเสส กำจัดของเสีย คำพิพากษาในคดีอาญาคดีนี้ ไม่เหมือนคดีในพื้นที่อื่นที่เราเคยทำคดีมา

ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความของชาวหนองพะวา 15 คน ที่ยื่นฟ้องคดีแพ่ง ตั้งข้อสังเกตต่อบางถ้อยคำในคำพิพากษา ซึ่งต่างไปจากคดีอื่นที่เขาเคยเห็น

"ศาลมีคำสั่งให้ ริบของกลาง และส่งมอบของกลางให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลตามสมควร โดยจำเลย (วิน โพรเสส) ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการบำบัดหรือกำจัด"

ชำนัญ ซึ่งเป็นทนายความที่มีความเชี่ยวชาญในคดีสิ่งแวดล้อม บอกว่า เคยเห็นแต่ศาลมีคำสั่งให้ริบและทำลายของกลาง (ของเสียอันตราย) แต่ไม่เคยเห็นคำพิพากษาเช่นนี้มาก่อน คือ ให้ส่งมอบของกลางให้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์

ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความของชาวหนองพะวา

ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความของชาวหนองพะวา

ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความของชาวหนองพะวา

ทนายความของชาวหนองพะวา ตั้งข้อสังเกตไว้ 2 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ การที่มีคำพิพากษาที่แตกต่างออกไปจากคดีก่อนๆ อาจบอกได้ว่า ผู้ร้องทุกข์ คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีความพยายามที่จะทำบางอย่างแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ ซึ่งถ้าจะมองอย่างให้ความเป็นธรรมก็จะพบว่า มีคดีในพื้นที่อื่นก่อนหน้านี้ ที่ศาลมีคำพิพากษาให้โรงงานต้องรับผิดชอบแล้ว จากนั้นกรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็ต้องอ้างอิงคำสั่งทางปกครองให้โรงงานนำของเสียไปกำจัด แต่ก็ไม่สามารถบังคับได้ เพราะโรงงานอ้างว่า ไม่มีเงินหรือล้มละลาย จนต้องไปขออนุมัติงบประมาณของรัฐ มากำจัดไปก่อน และตามไปฟ้องร้องเรียกเงินคืนในภายหลัง

"เคสนี้ตั้งข้อสังเกตว่า พอศาลมีคำพิพากษาให้ส่งมอบของกลางมาที่กรมโรงงานฯ และกรมโรงงานฯ ก็มีบทบาทที่พยายามจัดสรรให้จำเลยได้ไปตกลงทำสัญญากำจัดของเสียอันตรายกับผู้รับเหมา โดยให้จำเลยจ่ายเงินเอง ซึ่งก็อาจมองได้ว่า เป็นความพยายามที่ดี เพราะถ้าทำในรูปแบบเดิมก็จะบังคับให้กำจัดไม่ได้ ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง”

ชำนัญ ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ต้องยอมรับ ครั้งนี้ก็ยังไม่ใช่ทางออกที่ประสบความสำเร็จอยู่ เพราะท้ายที่สุด ก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่า คงไม่สามารถกำจัดของเสียอันตรายจำนวนมหาศาล ด้วยเงินเพียงเล็กน้อย ที่ได้จากการขายเศษเหล็ก และยังอาจจะมีปัญหาตามมาภายหลังด้วยว่า ของเสียอันตรายในโรงงานที่เกิดไฟไหม้ เป็นของที่อยู่ในความรับผิดชอบของใครกันแน่ ยังเป็นหรือส่งมอบมาอยู่ในความดูแลของกรมโรงงานฯ แล้ว ... เพราะสถานะนี้ อาจมีผลต่อความรับผิดชอบตามมาหลังเกิดเหตุไฟไหม้โรงงาน

ส่วนประเด็นที่ 2 ทนายชำนัญ มองว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ส่งมอบของกลางมาที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว อาจเป็นผลต่อเนื่องทำให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่สามารถใช้คำสั่งทางปกครองไปบังคับให้ วิน โพรเสส ต้องรับผิดชอบนำของเสียอันตรายไปกำจัดตามรูปแบบที่เคยสั่งได้ในคดีอื่นๆ เพราะของเสียเหล่านั้นถูกส่งมาอยู่ในความดูแลของกรมโรงงานฯ ไปแล้วหรือไม่

แม้คำพิพากษาที่เปลี่ยนแปลงไป จะยังคงให้ผลลัพธ์เหมือนเดิม หรืออาจได้ผลลัพธ์ที่แย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะเงิน 11 ล้านบาท ที่อาจถูกใช้เป็นค่าชดเชยเยียวยาให้ชาวหนองพะวาได้บ้าง กลับถูกละลายไปกับการกำจัดน้ำเสียในโรงงานที่ไม่ได้ผล ชาวบ้านไม่ได้เงิน ของเสียอันตรายไม่ถูกกำจัด แถมยังเกิดเพลิงไหม้จนส่งผลร้ายแรงกว่าเดิม

แต่ทนายชำนัญ ยังมองว่า กรณีหนองพะวา จะถือเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่ยืนยันได้ว่า กฎหมายเดิมๆ ที่ประเทศไทยใช้อยู่ ยังไม่เคยและยังไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับผู้ได้รับกระทบจากการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมได้แม้แต่กรณีเดียว

"การที่หน่วยงานรัฐพยายามใช้วิธีการทางกฎหมายใหม่ๆ ถึงมันจะไม่สำเร็จ แต่ก็อาจทำให้เราได้ข้อสรุปตรงกันสักทีว่าเราอาจต้องปรับปรุงแก้ไขทั้งกฎหมายโรงงานและกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ไม่ใช่มัวแต่จะไปพยายามพลิกแพลงข้อกฎหมาย แต่ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบได้เช่นนี้ไปเรื่อยๆ" 

"ข้อหนึ่งที่องค์กรพัฒนาเอกชนเคยเสนอ คือ การเขียนกฎหมายให้โรงงานที่มีความเสี่ยงจะก่อมลพิษ เช่น โรงงานรีไซเคิล จะต้องทำประกันกับบริษัทประกันภัยเอกชน เพื่อให้บริษัทประกัน เป็นอีกหนึ่งปาร์ตี้ในการร่วมตรวจสอบมาตรฐานของโรงงาน โดยต้องมีเงื่อนไขด้วยว่า ถ้าไม่มีประกันก็ดำเนินกิจการไม่ได้”

ทนายชำนัญ ทิ้งท้ายว่า ดังนั้นหากโรงงานพวกนี้ไม่ได้มาตรฐาน ก็จะไม่ผ่านการประเมินของบริษัทประกันและจะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตทันที เพราะบริษัทประกันอาจจะต้องกลายเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายแทนในภายหลัง หากปล่อยให้โรงงานสร้างมลพิษต่อไป

และนี่เป็นหนึ่งในข้อเสนอที่หวังว่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเพื่อแก้ปัญหานี้

รายงานโดย: สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง