ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ดัชนีราคาที่ดินเปล่าในกทม.-ปริมณฑล Q1/67 พุ่ง 5.7%

เศรษฐกิจ
26 เม.ย. 67
13:31
622
Logo Thai PBS
ดัชนีราคาที่ดินเปล่าในกทม.-ปริมณฑล Q1/67 พุ่ง 5.7%
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
REIC เผย ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา ในกทม. - ปริมณฑล Q 1/67 เพิ่มขึ้น 5.7% ที่ดินกรุงเทพชั้นใน ราคาพุ่ง10.1% แนวรถไฟฟ้ายังแพงสุด ขณะนี้นครปฐม ราคาดีดเกือบ 90%

วันนี้ (26 เม.ย.2567) นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC )กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ดัชนีราคาที่ดินเปล่ายังคงมีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่เป็นไปในทิศทางที่ยังชะลอตัวลงอยู่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าทั้งในและนอกประเทศในช่วงที่ผ่านมา

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

ประกอบกับหนี้ครัวเรือนของไทยที่สูงเกินกว่า 90 % ของ GDP และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งยังคงมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง ถือว่าเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย และภาครัฐไม่มีมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ทำให้ความต้องการซื้อที่ดินสะสมใน Land Bank ของผู้ประกอบการลดลง เนื่องจากการซื้อที่ดินสะสมไว้จะมีภาระที่ต้องจ่ายภาษีที่ดินฯ ทำให้เกิดต้นทุนจากการถือครองที่ดิน ซึ่งจะกลายเป็นต้นทุนในการพัฒนาโครงการในระยะต่อไป

โดยในไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า โซนที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) ดังนี้

อันดับ 1 ได้แก่ ที่ดินโซนนครปฐม มีอัตราการเปลี่ยนราคามากขึ้นร้อยละ 89.4
อันดับ 2 ได้แก่ ที่ดินในโซนเมืองสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ มีอัตราการเปลี่ยนราคา ร้อยละ 13.9
อันดับ 3 ได้แก่ ที่ดินในโซนสมุทรสาคร มีอัตราการเปลี่ยนราคา ร้อยละ 12.4
อันดับ 4 ได้แก่ ที่ดินในโซนกรุงเทพชั้นใน มีอัตราการเปลี่ยนราคาร้อยละ 10.1
อันดับ 5 ได้แก่ ที่ดินในโซนบางเขน-สายไหม-ดอนเมือง-หลักสี่-มีนบุรี-หนองจอก-คลองสามวา-ลาดกระบัง มีอัตราการเปลี่ยนราคาร้อยละ 4.6

ราคาที่ดินที่มีการเปลี่ยนแปลง สะท้อนว่า ที่ดินบริเวณพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพฯและปริมณฑล มีการเปลี่ยนแปลงของราคาที่สูงจากการขยายตัวของเมือง เป็นผลมาจากการพัฒนาขยายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง รวมถึงแผนการก่อสร้างโครงการขนส่งมวลชนระบบรางทั้งเส้นทางใหม่และส่วนต่อขยาย

นายวิชัยกล่าวอีกว่า ประชาชนเริ่มให้ความสำคัญกับการซื้อที่อยู่อาศัยบริเวณชานเมืองมากขึ้น เนื่องจากการเดินทางเข้า-ออกเมืองได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ประกอบกับราคาที่ดินบริเวณชานเมืองยังคงมีราคาไม่สูงมากนัก สามารถนำไปใช้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบที่สอดคล้องกับความสามารถในการซื้อของผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยแนวราบได้

ส่วนทำเลใจกลางเมืองมีการปรับราคาขึ้นแต่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สูง เนื่องจากที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาเริ่มมีจำกัด เนื่องจากที่ดินในเมืองมีราคาที่สูงอยู่ก่อนแล้ว จึงทำให้อัตราการเติบโตของราคาที่ดินในเมืองต่ำกว่าบริเวณพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพฯ และพื้นที่ปริมณฑล

อย่างไรก็ตามจากความเคลื่อนไหวของดัชนีราคาที่ดินในไตรมาสนี้ พบว่า ที่ดินโซนกรุงเทพชั้นในมีราคาเพิ่มสูงขึ้น อาจสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการบางกลุ่มมีความสนใจพัฒนาที่อยู่อาศัยในโซนกรุงเทพชั้นในมากขึ้น และเป็นการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวสูงมากกว่าแนวราบ

เนื่องจากในบริเวณโซนกรุงเทพชั้นในจะเป็นการซื้อขายที่ดินที่มีขนาดแปลงไม่ใหญ่แต่มีมูลค่าสูงจึงเหมาะกับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยอาคารชุด ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลสำรวจที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 พบว่าโซนดังกล่าวเป็นโซนที่มีการเปิดตัวโครงการอาคารชุดใหม่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.8

ส่วนราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในแนวเส้นทางที่มีรถไฟฟ้าผ่านในไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า เส้นทางรถไฟฟ้า 5 อันดับแรกที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่วนใหญ่เป็นที่ดินที่มีโครงการรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแล้ว และเป็นโครงการในอนาคตที่มีการเชื่อมต่อกับพื้นที่สำคัญด้านพาณิชยกรรม

เช่น รถไฟฟ้า สายสีเขียว (สมุทรปราการ-บางปู) เป็นโครงการในอนาคต และ สายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) เป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว มีค่าดัชนีเท่ากับ 265.1 จุด และ 261.2 จุด ตามลำดับ และอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY)

โดยราคาที่ดินในเขตพระประแดง พระสมุทรเจดีย์ เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่ทำเลเมืองสมุทรปราการมีราคาปรับเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ ได้แก่ ตำบลท้ายบ้าน และท้ายบ้านใหม่

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) เป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว และสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ- หัวลำโพง) เป็นโครงการในอนาคต ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 522.0 จุด และ 513.8 จุด ตามลำดับ มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่ดินในเขตพญาไท คลองเตย และห้วยขวาง เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก

รถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) เป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว และสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-มธ.รังสิต) เป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้วบางส่วน ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 486.8 จุด และ 479.3 จุด โดยมีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่ดินในเขตบางเขน ลำลูกกา เมืองปทุมธานี และสามโคก เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก

ส่วนรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) เป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว สายสีทอง (ธนบุรี-ประชาธิปก) เป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว และสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) เป็นโครงการในอนาคต มีค่าดัชนีเท่ากับ 503.1 จุด 495.9 จุด และ 488.2 จุด มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ราคาที่ดินในเขตพระนคร คันนายาว และภาษีเจริญ เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก

อันดับ 5 ได้แก่ สายสีแดงเข้ม (หัวลำโพง-มหาชัย) เป็นโครงการในอนาคต ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 476.9 จุด และอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยราคาที่ดินในเขตเมืองสมุทรสาคร บางบอน และบางกอกใหญ่ เป็นบริเวณที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นมาก

อ่านข่าว : ข้าวไทยเนื้อหอม ส่งมอบอินโดนีเซีย ล็อกแรก 5.5 หมื่นตัน

ส.ธนาคารไทย ช่วยกลุ่มเปราะบาง ลดดอกเบี้ย MRR 0.25%

แห่ลดดอกเบี้ย 0.25% นาน 6 เดือน แบงก์รัฐขานรับนโยบายรัฐบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง