ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สมาคมนักข่าววิทยุฯ เรียกร้อง 5 ข้อ ไม่กดขี่ใช้แรงงานในวิชาชีพสื่อ

สังคม
1 พ.ค. 67
07:44
353
Logo Thai PBS
สมาคมนักข่าววิทยุฯ เรียกร้อง 5 ข้อ ไม่กดขี่ใช้แรงงานในวิชาชีพสื่อ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย แถลงการณ์วันแรงงาน เรียกร้อง 5 ข้อ เพื่อให้สื่อมวลชนยืนหยัดทำงานอย่างเต็มกำลังตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ ไม่ถูกกดขี่การใช้แรงงานเพื่อประโยชน์ของความอยู่รอดของผู้ประกอบกิจการเพียงฝ่ายเดียว

วันนี้ (1 พ.ค.2567) สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ เรื่อง การกดขี่ใช้แรงงานคนในวิชาชีพสื่อสารมวลชน

นับจากการเปลี่ยนแปลงกลไกการกำกับดูแลและออกใบอนุญาตการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.

คนทำงานในวิชาชีพสื่อสารมวลชนโดยเฉพาะด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ได้รับผลกระทบกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านความมั่นคงในอาชีพ การปรับตัวให้ทันกับการแข่งขันและแย่งชิงพื้นที่การเข้าถึงของผู้เสพสื่อออนไลน์ โดยจะต้องยังคงยึดมั่นการทำงานตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน

แต่ในหลายสถานการณ์บนความอยู่รอดของนายทุนผู้ประมูลเข้ารับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่ได้สิทธิคืนใบอนุญาต ได้รับเงินชดเชย แต่คนทำงานในวิชาชีพสื่อกลับได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งในรูปแบบการเลิกจ้าง ปรับโครงสร้างเพื่อลดคนทำงานแต่แบกภาระงานเพิ่มขึ้น โดยที่ กสทช. ไม่เคยยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือได้อย่างจริงจัง และไม่เคยยอมรับความผิดพลาดในนโยบายประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่องแต่อย่างใด

อ่านข่าว : 1 พ.ค. "วันแรงงาน" ใครบ้างที่ต้องหยุดใน "วันบังคับหยุด"

ขณะที่บนบ่าของคนทำงานสื่อที่ถูกเรียกร้องคุณภาพและความน่าเชื่อถือ แต่ในกระบวนการของการดำรงอยู่ของธุรกิจสื่อกลับรีดเค้นให้ต้องทำงานเพิ่มขึ้น ต้องเผยแพร่ได้ทุกสื่อทุกช่องทางและทุกเวลา ต้องเรียนรู้ปรับตัวให้ทันกับการแข่งขันกับสื่อออนไลน์ที่เน้นจำนวนการเข้าถึงโดยไม่สนใจว่าจะเกิดความบิดเบี้ยวของการรับรู้ข่าวสารในสังคมมากน้อยเพียงใด องค์กรสื่อหลายแห่งยังต้องปรับลดต้นทุน และทยอยปรับลดคนทำงานด้วยวิธีการต่างๆ นานา

เป็นเหตุทำให้คนทำงานในวิชาชีพสื่อ ทั้งนักข่าว ช่างภาพ ผู้ช่วยช่างภาพ รวมทั้งทุกตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกลับกลายเป็นแรงงานกลุ่มที่ต้องยอมรับสภาพการถูกเอารัดเอาเปรียบ บีบคั้น กดดันให้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ด้านรายได้เป็นเป้าหมายสูงสุดด้วยเหตุผลเพื่อความอยู่รอดขององค์กรสื่อ โดยละเว้น ละเลย ต่อคุณภาพและจริยธรรมคุณธรรมในการนำเสนอ หากไม่ยึดถือปฏิบัติก็จะถูกกดดันด้วยผลประเมินการปฏิบัติงาน การโยกย้ายหรือมอบหมายงานที่ไม่ตรงกับตำแหน่งที่จ้างงาน หรือการด้อยค่าให้ไปปฏิบัติงานที่ต่ำลงกว่าเดิม

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน ได้ตรวจสอบพบว่ามีบางองค์กรสื่อใช้วิธีการกดดัน กลั่นแกล้ง รังแก กระทำในรูปแบบต่างๆ โดยเลี่ยงกฎหมายแรงงานกับคนทำงานในวิชาชีพสื่อมวลชนในหลากหลายรูปแบบ อาทิ

การปฏิเสธการลาแม้จะเป็นเหตุจำเป็นยิ่งยวด การกลั่นแกล้งให้ไปประจำต่างจังหวัด การลดตำแหน่ง หรือแม้กระทั่งการสั่งงานให้ออกไปปฏิบัติงานตามหมายข่าวแบบปัจจุบันทันด่วนที่ต้องเดินทางระยะไกล ไปเฝ้าเกาะติดติดตามแหล่งข่าวต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์โดยไม่มีสิทธิปฏิเสธ และเมื่อกลับมาปฏิบัติงานในกองบรรณาธิการก็ต้องรับหมายงานต่อเนื่องโดยไม่ได้หยุดพักผ่อนด้วยเหตุผลว่าจำนวนคนไม่พอจึงต้องให้อยู่ปฏิบัติงาน

อ่านข่าว : ดีเดย์ 1 พ.ค.วันขึ้นเงินเดือนข้าราชการและขึ้นเงินบำนาญขั้นต่ำ

เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.2567 สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องได้หันมารับทราบและช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้สื่อมวลชนยังสามารถยืนหยัดทำงานได้อย่างเต็มกำลังตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ และไม่ถูกกดขี่การใช้แรงงานเพื่อประโยชน์ของความอยู่รอดของผู้ประกอบกิจการสื่อแต่เพียงฝ่ายเดียว ดังต่อไปนี้

1. ขอให้ กสทช. หันมาให้ความสนใจ ติดตามตรวจสอบ กวดขันกำกับผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาต พึงให้ความเคารพต่อการทำหน้าที่ตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และอำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามบทบัญญัติแห่งกฏหมายแรงงาน

2. ขอให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ใช้กลไกผู้ตรวจแรงงานเข้าไปดำเนินการสอดส่องตรวจตราให้เป็นไปตามสภาพการจ้าง ระเบียบการว่าจ้าง สวัสดิภาพ ตลอดจนสวัสดิการแรงงานแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
3. ขอให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ดำเนินการกวดขัน ตรวจสอบบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ประกอบกิจการสื่อสารมวลชน ให้ปฏิบัติตามหลักบรรษัทภิบาลอย่างเคร่งครัด

4. ขอให้ผู้ประกอบกิจการสื่อสารมวลชน ละ เลิก การกระทำการใดๆ ที่เป็นการกดดัน บีบคั้นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้กระทำการในลักษณะขัดหรือแย้งต่อจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสื่อสารมวลชน และกำชับกวดขันให้ดูแลสภาพการจ้าง และสวัสดิการให้เป็นไปตามกฎหมาย

5. ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอให้ยื่นคำร้องหรือคำขอความช่วยเหลือมายังสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เพื่อให้สภาทนายความฯ จัดผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายมาดำเนินการต่อผู้ประกอบกิจการการฯ ที่กระทำผิดกฎหมายต่อไป

อ่านข่าว : 

เพิ่มวงเงินรักษา 6.5 หมื่นบาท ลูกจ้างเจ็บป่วยจากการทำงาน

ดีเดย์ 1 พ.ค.วันขึ้นเงินเดือนข้าราชการและขึ้นเงินบำนาญขั้นต่ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง