วันนี้ (3 พ.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถบรรทุกแคดเมียม จำนวน 10 คันที่ขนย้ายมาจาก จ.สมุทรสาคร ยังไม่สามารถนำไปเข้าจุดพักคอยในโรงงานที่ จ.ตากได้ เพราะชาวบ้านที่อาศัยรอบโรงงานยังกังวลผลกระทบจากแคดเมียม

ขณะที่วันนี้แกนนำภาคประชาชน ตัวแทน ส.ส.ภาคก้าวไกล และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นำสื่อมวลชน เข้าไปตรวจสอบกระบวนการก่อสร้าง จุดพักคอยแร่แคดเมียม ภายใน โรงงานบริษัทเบาด์ แอนด์ บียอนด์ จํากัด (มหาชน) อ.เมือง จ.ตาก
ตัวแทนโรงงาน พาไปดูจุดพักคอยเเร่ ซึ่งเป็นอาคารเก่า มีหลังคาคลุม มีขนาดพื้นที่ประมาณ 2,200 ตารางเมตร
ส่วนพื้นตอนนี้มีการบดอัดด้วยดินลูกรัง มีการขุดเจาะพื้นดินโดยรอบ 8 จุดเพื่อดูการรองรับน้ำหนักของแร่
ขณะที่จุดที่บดอัดดินเสร็จแล้ว พนักงานจะปูทับด้วยผ้าปู HDPE และปิดทับอีกชั้นด้วยผ้าแผ่นดินเหนียวเทียม เพื่อป้องกันการรั่วไหลของของแดดเมียมระหว่างพักคอย

นายศุภโรฒน์ พรมทับ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ที่มาสังเกต เปิดเผยว่า พอใจกับการก่อสร้างที่มีการเรียกร้องไปก่อนหน้านี้ พร้อมกับย้ำว่าจะต้องดูว่าเมื่อก่อสร้างให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะสามารถสรุปร่วมกันได้ ว่ามีความปลอดภัยพร้อมที่จะขนแร่หรือไม่
ชาวบ้านไม่ได้ค้านขนกลับ สิ่งที่กลัวคือได้มาตรฐานแค่ไหน รถ 10 คัน ตอนนี้มีมา 250 ตัน ของเศษๆ ที่มาจากสมุทรสาคร ชลบุรี กรุงเทพฯ คิดว่าต้องจัดการให้ดี ถ้าไม่ดีจะกระทบกับลูกหลาน
ด้านนายกฤชพล สังวังเหล่า ผจก.โครงการขนส่ง ตัวแทนบริษัทเบาด์ แอนด์ บียอนด์ จํากัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนการจัดการแร่แคดเมียม ว่า การขนส่งทุกขั้นตอน ได้พูดคุยกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อวางระบบขั้นตอนแล้ว

การทำงานที่ผ่านมาคำนึงถึงความปลอดภัย พร้อมกับเร่งทำระบบจุดพักคอย ป้องกันการรั่วไหลของแคดเมียม มีผ้าคลุม ระบบรางบำบัดน้ำเสียให้มีการขนส่งแร่กลับให้เร็วที่สุด ซึ่งระบบการขนส่งก่อนหน้านี้ที่มีปัญหา ก็อาจมีการปรับเปลี่ยนมาใช้ตู้คอนเทนเนอร์แทน
ส่วนขั้นตอนขนส่งเราได้คุยกับกระทรวงอุตสาหกรรม ตอนนี้ขนส่งทางบกมีปัญหา เราจะใช้ตู้คอนเทนเนอร์แทนยาว 42 เมตร บรรทุกเข้นมาข้างใน ส่วนขั้นตอนต่างๆยังเหมือนเดิม อยากให้พี่น้องประชาชนจังหวัดตากมั่นใจ ไม่มีเจตนาปิดบัง ซ้อนเร้น
ขณะเดียวกัน สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 5 (พิษณุโลก) วันนี้ก็ได้เข้ามาตรวจสอบการวางมาตรการป้องกันจุดพักคอย และระบบรางระบายน้ำ ซึ่งหากมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะส่งต่อจังหวัดพิจารณาร่วมในคณะทำงาน และขออนุมัติการขนส่งแร่ต่อไป

สำหรับการประเมินว่า จะสามารถขนแร่จากปลายทาง จ.สมุทรสาคร, ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร กลับต้นทางที่ จ.ตาก ได้เมื่อใด ตอนนี้ต้องรอประชุมร่วมกับคณะทำงานทุกฝ่าย
โดยรถที่จะขนแร่กลับมาที่ จ.ตาก คาดว่าอาจจะต้องขนมากถึง 400 เที่ยว ซึ่งตอนนี้ขนมาได้เพียง 10 เที่ยวเท่านั้น ซึ่งรถที่ขนแคดเมียมทุกคนจะต้องมีใบอนุญาตขนกากของเสีย
บ่อฝั่งกลบแคดเมียมเป็นสิ่งที่ภาคประชาชนยังกังวล
ซึ่งจะใช้พื้นที่ขนาด 7,000-8,000 ลูกบาศก์เมตร กว้าง 30 เมตร ยาว 90 เมตร ลึก 30 เมตร จุดนี้จะต้องมีการหารือร่วมกันกับทุกฝ่ายอีกครั้ง เพราะภาคประชาชนยังมีความกังวลว่าอาจจะมีการรั่วซึมเกิดขึ้น

สำหรับการตรวจสอบผลกระทบสารเคมีรอบโรงงานก่อนหน้านี่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก ได้สุ่มตรวจกลุ่มตัวอย่างปัสสาวะ 2 ครั้ง ครั้งแรก 11 เม.ย.2567 จำนวน 16 ราย ครั้งที่สอง 30 เม.ย.2567 ตรวจ 18 คน ผลตรวจทั้งสองครั้งกลุ่มตัวอย่างปกติ และยังมีเก็บตัวอย่างข้าวเปลือก 6 ตัวอย่าง ยังไม่การปนเปื้อนของแดคเมียม
โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ