วันนี้ (8 พ.ค.2567) นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ออมสินให้ช่วยเหลือลูกหนี้โครงการสินเชื่อ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงทำให้ยังไม่สามารถฟื้นตัวและผ่อนชำระหนี้ได้ไหว จนกลายสถานะเป็นหนี้เสีย หรือ NPLs ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้เร่งช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวให้หลุดพ้นสถานะ NPLs เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกหนี้เสียประวัติเครดิต และยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบได้อีกในอนาคต
โดยให้ธนาคารนำงบประมาณชดเชยค่าเสียหายจากหนี้เสียที่รัฐบาลจัดสรรให้สำหรับโครงการสินเชื่อดังกล่าว มาใช้ชำระหนี้แทนลูกหนี้ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ไตรมาส 1/2567 ล่าสุดธนาคารได้ดำเนินการเพิ่มเติมอีกกว่า 90,000 คน ทำให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้แล้วเป็นจำนวนกว่า 720,000 คน ในระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่เริ่มมาตรการ
ทั้งนี้ คาดว่าในไตรมาส 4/2567 จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้เพิ่มอีกจำนวนกว่า 100,000 คน เมื่อได้รับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล
สำหรับ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สถานะ NPLs ของโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 ซึ่งเป็นการช่วยเหลือที่ดำเนินการเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เสียวินัยทางการเงิน โดยรัฐบาลมีนโยบายผลักดันการแก้ปัญหาหนี้ประชาชน
นายประสิชฌ์ วีระศิลป์ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า SME D Bank ประกาศจัด มหกรรมปูพรมแก้หนี้เพื่อเอสเอ็มอีไทย จัดครอบคลุมทั่วประเทศ ชูแก้ครบจบทุกปัญหา
ไฮไลท์มอบสิทธิพิเศษ 3 ลด ปลดหนี้ คือ ได้แก่ ลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัด เหลือในระดับไม่เกิน MLR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 7.50% ต่อปี) ,ลดค่างวด เหลือชำระตามความสามารถเท่าที่ผ่อนไหว และ ลดดอกเบี้ยค้างชำระ เมื่อชำระตามเงื่อนไขของธนาคาร หรือปิดบัญชี ลดดอกเบี้ยค้างให้ทั้งหมด 100% เพื่อช่วยผ่อนภาระ สร้างโอกาสพลิกฟื้นธุรกิจ ประเดิม จ.เพชรบุรี 13-14 พ.ค. นี้
มหกรรมปูพรมแก้หนี้ฯ จะจัดต่อเนื่องตลอด 4 เดือน ระหว่างเดือนพ.ค.-ส.ค. 2567 รวม 28 ครั้งทั่วประเทศ ตั้งเป้าช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้กว่า 10,000 ราย
อ่านข่าว:
"เครดิตบูโร" เผย Q1 หนี้เสียพุ่ง 6.4 หมื่นล้าน Gen X-Y จ่อหนี้ท่วม