ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ผู้ว่าททท." ฝันไกล ดันไทยก้าวสู่ Tourism Hub ภูมิภาค-โลก

เศรษฐกิจ
9 พ.ค. 67
12:34
954
Logo Thai PBS
"ผู้ว่าททท." ฝันไกล ดันไทยก้าวสู่ Tourism Hub ภูมิภาค-โลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ไม่ได้พกความสวยมาอย่างเดียว แต่พลังบวกที่ส่งมาทางคำตอบที่ฉาดฉาด มั่นใจ ของสตรีหมายเลข 1 ในวงการการท่องเที่ยว “ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์และตัวตนในการทำงานว่า เป็น “คนจริง”และเป็นหญิงแกร่งในวงการท่องเที่ยว ที่สามารถนำพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยให้ก้าวหน้าและอวดสู่สายตาชาวโลกได้ไม่แพ้ประเทศใดในโลก ด้วยเหตุเป็น “ลูกหม้อ”ของททท.มานานกว่า 24 ปี

“ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

“ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

“ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

นับตั้งแต่ เริ่มทำงานตั้งแต่ปี 2542 ในตำแหน่งพนักงานวิเทศสัมพันธ์ 4 กองวิเทศสัมพันธ์ ฝ่ายสำนักงานผู้ว่าการ และเติบโตในสายงานต่อเนื่อง ในปี 2558 ได้ขยับเป็นผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว ต่อมาปี 2561 เป็นผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าการท่องเที่ยว ปี 2562 และขึ้นเป็นรองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว กระทั่งปี 2564 ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศททท. และล่าสุด 1 กันยายน 2566 เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ ททท. คนใหม่

“เทรนด์ การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทย และนักท่องเที่ยวไทยเรา ที่เดินทางไปต่างประเทศ เปลี่ยนไป เน้นเที่ยวแบบธรรมชาติและเน้นสุขภาพเพิ่มขึ้น และการเปิดมาตรการแบบฟรีวีซา ทำให้เราได้ตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ๆเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มาแบบครอบครัว เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา มีชาวคาซัคสถาน เข้ามาเยอะมาก เที่ยวกับแบบลองสเตรย์ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง...ยังไม่รวมกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจากการแนะนำผ่านยูทูเปอร์ หรืออินฟลูเอ็นเซอร์ตามธรรมชาติ” ผู้ว่าหญิงเกร่งแห่ง ททท. ให้สัมภาษณ์พิเศษ“ไทยพีบีเอสออนไลน์” ถึงทิศทางการทำงาน และแนวโน้มของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในปีนี้ และเทรนด์ท่องเที่ยว ปี 2024 ของนักท่องเที่ยวดิจิตอล

เปิดกลยุทธ์ททท."P A S S"ดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

ฐาปนีย์ อธิบายว่า หัวใจสำคัญของการท่องเที่ยวอยู่ที่คุณภาพควบคู่กับมูลค่าและการเดินหน้าสู่ความยั่งยืน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวทั้งปี ภายใต้กลยุทธ์หลัก P A S S ที่เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนส่งเสริมตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย ซึ่งประกอบด้วย

P : Partnership 360 องศา คือ การหาพันธมิตรทั้งในและนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประสานความร่วมมือ รอบทิศอย่างมีประสิทธิภาพและไร้รอยต่อ พลิกฟื้นรายได้ จำนวนและคุณภาพ
A : Accelerate Access to Digital World เร่งรัดผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กร ทั้งการตลาด และการพัฒนาด้วยฐานข้อมูลและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ
S : Sub Culture Movement เจาะกลุ่มวัฒนธรรมย่อยที่ทรงอิทธิพลสร้างความแตกต่างในการเป็นผู้นำ ทางการท่องเที่ยวที่แตกมาจากกลุ่ม Mass และ Niche เช่น กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่อยากไปป่า แต่มีความสนใจ Sub Cultureอื่นเพิ่มเติม เช่น ดูดาว Dark Sky Thailand
S : Sustainably NOW สร้างความเข้าใจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตระหนักถึงเป้าหมายความยั่งยืนอย่าง เป็นรูปธรรมผ่าน โครงการ Sustainable Tourism Acceleration Rating (STAR)

“ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

“ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

“ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

ในฐานะผู้ว่าททท. พร้อมขานรับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่การเป็น Tourism Hub หรือ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยว” ของภูมิภาค โดยผลักดัน 5 ประเด็นสำคัญเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ควบคู่กับการชูประเด็นสำคัญ คือ 5 Must do in Thailand ซึ่งเป็นการเพิ่ม มูลค่าให้แก่สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวผ่านสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย

ไม่ว่าจะเป็น Must Beat มวยไทย การต่อยอดมวยไทยสู่การออกกำลังกาย, Must Eat อาหารไทยต่อยอดครัวไทยสู่ครัวโลก อาหารถิ่นประจำจังหวัดทั่ว ประเทศไทย , Must Seek วัฒนธรรมไทยดึงจุดเด่นและความพิเศษของวัดไทยและโบราณสถานสู่ เส้นทางสายศรัทธา , Must Buy ชูผ้าไทยไปต่างแดนด้วยการ co-brandกับ Fashion Designer ระดับ โลก และสุดท้าย Must See คือการโชว์ไทยผลักดันให้โชว์ไทยเป็น Global Entertainment

“ททท.จะขายเส้นทางท่องเที่ยว ทั้งเมืองหลักเพื่อเชื่อมไปเมืองรองในมิติต่าง ๆ ให้ครบ 77 จังหวัด ซึ่งหมายความว่า 55เมืองรองที่ททท.จะเชื่อมโยงในมิติต่าง ๆ ทั้ง ศาสนา ความเชื่อ วัฒนาธรรม ประเพณี อาหาร หริอแม้แต่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป้าหมายคือ การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวภูมิภาคและอนาคตศูนย์กลางการท่องเที่ยวของโลกซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงประเทศอื่น ๆ มาไทยมากขึ้นซึ่งททท.ให้ความสำคัญกับทุกมิติ”

ฐาปนีย์ กล่าวว่า การชูเมืองหลักเป็นแกนเมืองนำเที่ยว เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองใกล้เคียง กระจาย นักท่องเที่ยวไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ พร้อมทั้งกระจายรายได้สู่เมืองน่าเที่ยว สร้างสรรค์เส้นทางท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวได้ ออกไปค้นหาประสบการณ์ใหม่ โดยเส้นทางเบื้องต้น เช่น เส้นทางเชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง หรือ “Lanna culture” ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อารยธรรมล้านนา ,หรือ Unesco Heritage Trial ท่องเที่ยวเส้นทางมรดกไทย มรดกโลก เส้นทางสุโขทัย – กำแพงเพชร และ นครราชสีมา

หรือหากใครมายมูเตลูต้องเส้นทาง Naga Legacy เส้นทางตามรอยศรัทธาพญานาค (นครพนม -สกลนคร – บึงกาฬ และหนีร้อนลงใต้กับเส้นทาง Paradise Islands ท่องเที่ยวหมู่เกาะแห่งอันดามันใต้ สวรรค์แห่งท้องทะเล (ตรัง -สตูล) และThe Wonder of Deep South เยือนใต้สุดแห่งสยามมนต์เสน่ห์แห่งพหุวัฒนธรรม (ปัตตานี - ยะลา - นราธิวาส)

นอกจากนี้รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ได้มีการประกาศแผนการเป็นฮับเดินทางของอาเซียน (HUB of ASEAN) ซึ่งก็จะมาผสมผสานกับแผนของททท. โดยจะเห็นว่ามีการเปิดเส้นทางการบินเพิ่มขึ้น และเส้นทางบก ราง น้ำ ที่จะเชื่อมโยงกันมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลน์สำคัญที่จะเป็นการปลดล็อกการเดินทางของนักท่องเที่ยว

ททท.มีสำนักงาน 29 แห่งได้มีการพูดคุยกับสายการบินทั่วโลก โดยองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) มีการประเมิน ว่าการท่องเที่ยวโลกปี2567 น่าจะกลับมาใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งปัจจัยสำคัญของการท่องเที่ยวคือ การฟื้นกลับมาของจำนวนสายการบินทั่วโลกที่ททท.ให้ความสำคัญ

และอีกส่วนหนึ่ง คือ กรอบความร่วมมือต่าง ๆที่ไทยจะเป็นผู้นำในการเจรจา ไม่ว่าจะเป็นพหุภาคี ทวิภาคี กรอบอาเซียนที่ได้มีการพูดคุยกัน เพื่อเป็นอาเซียนวีซา เหมือนแชงเก้นวีซ่า ที่เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยแล้วสามารถเดินทางไปได้หลายประเทศโดยไม่ต้องขอวีซาอีก ซึ่งจะทำให้บรรยากาศของการท่องเที่ยวถูกยกระดับ และสามารถทำให้ยุทธศาสตร์ยกระดับด้วยให้การท่องเที่ยวสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย เยอรมนี ตลาดใหญ่นักเที่ยวไทย

ข้อมูลจากการท่องเที่ยวระบุว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.67) จากภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย พบว่า ตัวเลขเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสที่ผ่านมา (ต.ค.-ธ.ค. 2566) จำนวน 9,381,098 คน สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 476,072 ล้านบาท เป็นการขยายตัวทั้งจำนวนและรายได้ 44 % เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566 ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวจาก 3 ภูมิภาคที่เดินทางมาไทย ได้แก่ อาเซียน ยุโรป และเอเชียใต้

โดยตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย เยอรมนี ลาว สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ซึ่งการกระจายตัวของการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติใน 5 จังหวัดสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี สมุทรปราการ และกระบี่

ผู้ว่าการททท. บอกว่า ตัวเลขดังกล่าว ไม่เหนือความคาดหมายที่ตั้งเป้าไว้ เนื่องจากอานิสงค์จากนโยบายมาตรการฟรีวีซ่าของรัฐบาล และจีนยังเป็นกลุ่มลูกค้ารายสำคัญที่ททท.ไม่สามารถทิ้งได้ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. 2566 – 29 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับดีมาก มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ในไทยเฉลี่ย 449,285 คนต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 322,060 คนต่อเดือน หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 40%เมื่อเทียบกับช่วงก่อนใช้มาตรการฯ

และหลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการใหม่ โดยสามารถอยู่ในไทยได้สูงสุด 30 วัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนได้รับ ความสะดวกในการเดินทางมาไทยมากขึ้น โดยมีนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าไทยใน เดือนเม.ย. รวม 595,572 คน ขยายตัว 112% เทียบกับเดือนมี.ค. 2566

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

ส่วนภาพรวมของนักท่องเที่ยวจีนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. –30 เม.ย. 2567 มีนักท่องเที่ยวจีนเดิน ทางเข้าไทยแล้วจำนวน 2,351,909 คน ขยายตัว 178.70% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2566 อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามผลตอบรับของมาตรการฯ ในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้านี้ อาจจะมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนจะมีวันหยุดยาวช่วงวันแรงงานของจีน ประมาณ 5 วัน (1-5 พ.ค. 2567) ที่ช่วยหนุนให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวออกต่างประเทศ

“มาตรการดังกล่าวนี้เป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญในการกระตุ้นตลาด นักท่องเที่ยวจีน ให้เดินทางเข้าไทยตามเป้าหมาย 7.3 ล้านคนในปี 2567 ซึ่งตั้งแต่มีการประกาศมาตรการดังกล่าว พบว่า มีชาวจีนค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวกับไทยผ่านเว็บไซต์ Ctrip.com เว็บไซต์บริการ ท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของจีน เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่าจากปกติ โดยมีจุดหมายปลายทางที่มีการค้นหามากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ เกาะสมุย และพัทยา”ฐาปนีย์ ระบุ

ส่วนการฟรีวีซาระหว่างไทย-คาซัคสถาน อย่างถาวรนั้น ผู้ว่าททท. กล่าวว่า ปัจจุบันเห็นได้ว่า ตลาดนักท่องเที่ยวคาซัคสถานมีความโดดเด่นในแง่ของการเติบโคต่อเนื่องเห็นได้จากช่วง 4 เดือนโตถึง 200% เช่นเดียวกับตลาดซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดที่เติบโตสูงถึง 600%

โดย ตลาดคาซัคสถาน ถือว่าเป็นตลาดกำลังซื้อสูง เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง กลุ่มครอบครัว ที่ชอบทะเล แสงแดด และเป็นกลุ่มที่อยู่นาน ใช้จ่ายสูง เฉลี่ยอยู่ที่ไทยประมาณ 19-20 วัน

ถือเป็นกลุ่มลองสเตย์ และมีค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อทริป ประมาณ 1แสนบาท ซึ่งถือว่า เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ และคาซัคสถานถือเป็นตลาดใหม่ของไทย

สำหรับตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวคาซัคสถานเดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2567 ไม่น้อยกว่า 2 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งได้ 1.7 แสนคน ซึ่งททท.จะขยายการท่องเที่ยวของคนกลุ่มนี้ไปยังภาคอีสาน และภาคเหนือและภาคกลางสำหรับคนกลุ่มที่ต้องการหาประสบการณ์ในการเดินทางใหม่ๆเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ททท.ยังโฟกัสไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพและเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูง เช่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ รัสเซีย อินเดีย ยุโรป สหรัฐฯ จีน อินเดีย เยอรมัน ฝรั่งเศส เป็นต้น และจะมีการเจาะตลาดใหม่ๆเพิ่ม ซึ่งล่าสุดททท.ได้เปิดสำนักงานการท่องเที่ยวที่ชิคาโก เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวฝั่งสหรัฐฯ รวมถึงเจรจาสายการบินให้เปิดเส้นทางบินมาไทยเพิ่ม ซึ่งก็มีหลายสายการบินที่ตอบรับมา

สายการบินทั่วโลก มุ่งตรงไทย หยุดที่เป้า 35 ล้านคน

สำหรับเป้าหมายตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยปี 2567 ผู้ว่าททท. กล่าวด้วยความมั่นใจ ว่า ททท. ประเมินสถานการณ์การท่องเที่ยวของสายการบินทั่วโลกจะเดินทางมาท่องเที่ยวไว้ที่ 35 ล้านคน สร้างรายได้กับประเทศไทย 3 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 100% จากปี2562 เนื่องจากปัจจัยการท่องเที่ยวเอื้ออำนวย แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ สร้างรายได้หมุนเวียน 1.92 ล้านล้านบาท จำนวนท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 35 ล้านคน/ครั้ง

และตลาดในประเทศ สร้างรายได้หมุนเวียน 1.08 ล้านล้านบาท จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 200 ล้านคน/ครั้ง ซึ่งรัฐบาลยังมีเป้าหมายท้าทายให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวน 3.5 ล้านล้านบาทภายในปี 2567 ซึ่ง ทาง ททท.จะพยายามผลักดันให้มุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว

แต่จากสถานการณ์ การเดินทางมาไทยในช่วงสงกรานต์ พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย อยู่ที่ 1.92 ล้านคน เพิ่มขึ้น37.54% จากปีก่อน และสร้างรายได้ช่วงเทศกาลที่ 1.4 แสนล้านบาท ดังนั้นททท.มั่นใจว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มกว่าเป้าที่36-.37 ล้านคน ซึ่งต้องประเมินเดือนต่อเดือน

 

อ่านข่าว:

 แกะรอย มหกรรมโชว์กินข้าว 10 ปี กินได้จริงหรือ? ฤาหาทางลง 

เอกชน ค้านขึ้น “ค่าแรง 400 บาท” ชี้เสี่ยง GDP โตไม่ถึง 3% 

"เครดิตบูโร" เผย Q1 หนี้เสียพุ่ง 6.4 หมื่นล้าน Gen X-Y จ่อหนี้ท่วม

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง