ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“กฤษฎา” ไขก๊อก รมช.คลัง เรื่องยุ่งใน ครม.ยังไม่จบ

การเมือง
9 พ.ค. 67
14:37
415
Logo Thai PBS
“กฤษฎา” ไขก๊อก รมช.คลัง เรื่องยุ่งใน ครม.ยังไม่จบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

พรรครวมไทยสร้างชาติเป็นพรรคชุดแรกๆ ที่พรรคเพื่อไทยเมื่อครั้งสลัดจาก 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลเป็นแกนนำเอง และเจรจาดึงเข้าร่วมวงเครื่องดื่ม “มินต์ช็อก” เพราะเป็นผู้นำกลุ่มพรรคอนุรักษ์นิยม

แต่ในการปรับ ครม.ใหม่ กลับเป็นพรรคที่ลงตัวเป็นพรรคสุดท้าย เพราะโควตารัฐมนตรี 4 ตัวไม่ลงตัวสำหรับพรรคการเมืองที่มาจากการรวมตัวของหลายกลุ่มที่ต้องการสนับสนุน และขณะเดียวกันก็หวังพึ่งใบบุญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ จึงได้เห็นภาพความไม่พอใจและผิดหวังมาตั้งแต่ต้น เมื่อแต่ละกลุ่มต่างก็ต้องการได้โควตารัฐมนตรี ยังไม่นับกลุ่มทุนโดยเฉพาะด้านพลังงาน นอกจากนี้ยังมี “ตั๋วพิเศษ” ที่ถูกจองแต่แรก

เมื่อมีสัญญาณปรับ ครม.ใหม่ จึงเกิดแรงกระเพื่อมภายในถึงขั้นมีบางกลุ่มรวมตัวเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีพลังงาน ถึงขั้นมีข่าวว่า ได้เชื้อเชิญคนสำคัญในรัฐบาลไปร่วมวงกินอาหารก่อนวงมื้อเที่ยงที่โรงแรมโรสวูดด้วยซ้ำ พร้อมๆ กับมีชื่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีพลังงาน สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โผล่ขึ้นมาในฐานะแคนดิเดตรัฐมนตรีอีกครั้ง แม้จะไม่มีใครยืนยันเรื่องดังกล่าว แต่ในที่สุดนายสุพัฒนพงษ์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากพรรค วันเดียวกับการยื่นหนังสือไขก๊อกจาก รมช.คลัง ของนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ

นายกฤษฎายื่นหนังสือลาออกผ่านนายพิชัย ชุณหวชิร ที่ได้แจ้งให้นายกฯ ทราบ แต่ไม่ได้ยื่นกับหัวหน้าพรรค ทำให้มีคำให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ว่าไม่ทราบข่าว นายกฤษฎาไม่ได้ปรึกษา แต่ไม่ตกใจเพราะเป็นเรื่องปกติทางการเมือง เมื่อลาออกไปก็ต้องหาคนแทน เพราะโควตารัฐมนตรียังคงเป็นของพรรค

นัยสะท้อนว่าเรื่องลาออกจากรัฐมนตรีของนายกฤษฎาไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่ต่างจากลาออกจากพรรคของนายสุพัฒนพงษ์ ที่เป็นเรื่องในพรรค แต่ในเชิงทางการเมืองเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะโดยความเชื่อทั่วไป นายสุพัฒนพงษ์และนายกฤษฎา ถูกมองว่าเป็นตัวแทนกลุ่มทุนพลังงานที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นายสุพัฒนพงษ์ ถือเป็นหนึ่งในสายตรง “บิ๊กตู่” ส่วนนายกฤษฎา มีผลงานผ่านตาในแทบทุกกรมสำคัญของกระทรวงการคลัง อาทิ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กระทั่งขึ้นเป็นปลัดกระทรวงการคลัง

รอบรู้เชี่ยวชาญงานในกระทรวง กระทั่งมีข่าวถูกทาบทามแบบเจาะจงตัวจากระดับบิ๊กให้มาช่วยงานในกระทรวงการคลัง จนตอนนั้นบางคนตั้งข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้วมาเป็นในโควตาพรรคไหนกันแน่

อีกปัจจัยที่เชื่อว่ามีส่วนให้ตัดสินใจไขก๊อกง่ายขึ้น คือการแบ่งงานรัฐมนตรีช่วยคลังที่ลงนามโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีคลังป้ายแดง นายกฤษฎา ที่เคยทำหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานสำคัญๆ ในรัฐบาลเศรษฐา 1/1 เหลือแค่ดูแลหน่วยงานรัฐเฉพาะสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ที่เหลือเป็นรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานในกำกับของกระทรวงคลังที่ไม่ได้ใหญ่โตหรือมีรายได้มากนัก เมื่อเทียบเกรดกับรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นที่รัฐมนตรีช่วยคลังอีก 2 คนจากพรรคเพื่อไทยกำกับดูแล กลับต่างกันลิบลับ

ยังไม่จบเท่านี้ ยังมีเรื่องต้องติดตามต่อ เพราะนายกฯ สั่งเบรค และมีสายตรงไปคุยกับนายกฤษฎาให้คิดทบทวน 1 คืน ด้วยคงจะเห็นศักยภาพและความรับผิดชอบในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากนายกฯ เข้าไปที่กระทรวงการคลังน้อยมาก แต่นายพีระพันธุ์ กลับพูดกับสื่อทำนองว่าเมื่อมีคนลาออกก็หาคนใหม่เข้าไปแทน จึงไม่รู้ว่าจะคุยกับใคร หรือไม่

ยังมีประเด็นข้อกฎหมายให้ต้องขบคิดอีกต่างหาก เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีความเห็นว่า การลาออกของนายกฤษฎามีผลสมบูรณ์แล้ว ตั้งแต่แสดงเจตนาว่าจะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีและได้แจ้งให้นายเศรษฐา นายกฯ ได้ทราบ แม้จะยังไม่ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการ ก็ตาม

จะจบอย่างไรต้องติดตาม

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง