วันนี้ (13 พ.ค.2567) ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ผู้รับใบอนุญาต และผู้ผลิตรายการ ร่วมกันยื่นหนังสือต่อ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการออก (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. ...
ตามที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีการประชุมครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2566 และเห็นชอบหลักการของ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... และมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ไปดำเนินการตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งต่อมาสำนักงาน กสทช. ได้จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.2566 - วันที่ 15 ส.ค.2566 ความทราบแล้วนั้น
ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน ผู้รับใบอนุญาต และผู้ผลิตรายการ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศฯ ฉบับดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลกันเองในกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนอย่างสำคัญและยังเป็นหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพการสื่อสารให้กับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนในประเทศไทยอีกด้วย
อีกทั้งยังเห็นว่าการจัดทำประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าว เป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของ กสทช. ตามที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 27 (18) กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เป็นองค์กรในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพ หรือ วิชาชีพและควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม
ประกอบกับวัตถุประสงค์กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามมาตรา 52 (3) กำหนดให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนา บุคลากรด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการดำเนินการขององค์กรซึ่งทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์
ตลอดจน พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 39 วรรคแรก กำหนดให้คณะกรรมการดำเนินการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นองค์กรในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพและควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม
ในการนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 3 องค์กรซึ่งมีบทบาทในการกำกับดูแลกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมมาโดยตลอด ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและกระจายเสียง (ประเทศไทย) ได้ติดตามความคืบหน้าในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. มาโดยตลอด
บัดนี้ระยะเวลาได้ล่วงเลยมานานกว่า 6 เดือนแล้ว แต่มิได้ปรากฏผลการดำเนินการปรับปรุงหรือมีการประกาศใช้ประกาศหลักเกณฑ์ฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด
จึงเรียนมาเพื่อขอติดตามรับทราบความคืบหน้าและขอให้ท่านได้โปรดกรุณาเร่งรัดดำเนินการเพื่อให้มีการประกาศใช้ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... โดยเร็ว และขอให้ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เป็นธรรม และมีความโปร่งใสเพื่อให้สาธารณะตรวจสอบได้ต่อไป
อ่านข่าวอื่น :
วิกฤต! หมู่เกาะมัน พบปะการังฟอกขาวกว่า 80%