เฉลยแล้ว "รูปสลัก" กลางป่าดงใหญ่ ไม่ใช่ของโบราณ

สังคม
15 พ.ค. 67
11:29
1,959
Logo Thai PBS
เฉลยแล้ว "รูปสลัก" กลางป่าดงใหญ่ ไม่ใช่ของโบราณ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมศิลปากร เปิดข้อมูลการตรวจสอบ "รูปสลัก" กลางป่าสลักพระ พบไม่ใช่ของโบราณ ร่องรอยสลักยังมีความคม รูปแบบไม่เข้ากับบริบทศิลปกรรมในพื้นที่อีสานใต้ ไม่พบร่องรอยโบราณสถาน-โบราณวัตถุในพื้นที่โดยรอบ สอดคล้องผู้ใช้โซเชียลเฉลยเป็นพระสลักไว้เมื่อ 20 ปีก่อน

จากกรณีชาวบ้านเข้าไปหาเห็ด และพบรูปสลักในพื้นที่เขากระเจียว เขตรักษาพันธุ์ป่าดงใหญ่ ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ต่อมาในวันที่ 13 พ.ค.2567 นักโบราณคดี และนายช่างโยธา ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับปลัดอำเภอโนนดินแดง และเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ซึ่งจุดพบรูปสลักบนหิน อยู่ห่างจากวัดป่าเขากระเจียว ต้องเดินลัดเลาะในป่า ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร

ล่าสุดวันที่ 14 พ.ค.2567 ผู้สื่อใช้สื่อสังคมออนไลน์คนหนึ่ง ได้ออกมาระบุว่า มีพระอาจารย์ท่านหนึ่งเป็นผู้แกะสลักรูปพระแม่ธรณี เมื่อช่วง 20 ปีก่อน แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ไม่ใช่ของโบราณ หรือรูปพระนางสิริมหามายา ตามที่มีการสันนิษฐานกันในโซเชียล

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานการลงพื้นที่ตรวจสอบของกรมศิลปากร โดยนายภาคภูมิ อยู่พูล หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เปิดเผยว่า ลักษณะโบราณสถานและโบราณวัตถุในพื้นที่อีสานใต้ จะเป็นศิลปะแบบขอม เช่น ทับหลังในปราสาท หรือในพื้นที่ อ.โนนดินแดน มีโบราณสถานสำคัญ คือ ปราสาทหนองหงส์ ซึ่งภาพสลักกลางป่าดงใหญ่ มีผู้สนใจทางประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่า คล้ายพระนางสิริมหามายา หรือยักษิณี

แต่การตรวจสอบทางและวิเคราะห์ทางศิลปกรรม พบว่ารูปแบบของภาพสลักในป่าดงใหญ่ ไม่เข้ากับบริบทของงานศิลปกรรมที่อยู่ในพื้นที่อีสานใต้ และในพื้นที่โดยรอบไม่ปรากฏร่องรอยโบราณวัตถุและโบราณสถานเพิ่มเติม น่าจะเป็นถูกสร้างในยุคหลัง ไม่ใช่ของโบราณ อีกทั้งเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ระบุว่า เมื่อ 20-30 ปีก่อน พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ รวมทั้งกุฏิของพระที่แกะสลักก็เคยอยู่บริเวณนี้ และเป็นพระที่มีฝีมือทางศิลปะ

ภาพสลักนี้ไม่เข้ากับบริบทในพื้นที่ ไม่เป็นศิลปะที่ปรากฏตามอิทธิพลของแถบอีสานใต้ แต่ผมไม่ได้เรียกว่าของปลอม เพราะคนทำคงตั้งใจทำ

หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง กล่าวว่า ภาพสลักนี้สวยงาม และร่องรอยสลักยังมีความคม พร้อมระบุว่า กรณีรูปสลักโบราณที่ผ่านมานับร้อยปี และถูกตั้งกลางแจ้ง จะมีความสึกกร่อนจากลมและแดด

อย่างไรก็ตาม การเข้าพื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ไปยังรูปสลัก ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดิน 40 นาที โดยมีเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ดูแล ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องสัตว์ป่า เช่น ช้างป่า

อ่านข่าว กรมศิลป์ ตรวจสอบ "รูปสลัก" กลางป่าดงใหญ่ ยังไม่ชี้ชัดอายุ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง