ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ-ระนอง ชุมนุมค้าน “โครงการแลนด์บริดจ์”

สิ่งแวดล้อม
17 พ.ค. 67
16:45
539
Logo Thai PBS
เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ-ระนอง ชุมนุมค้าน “โครงการแลนด์บริดจ์”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ-ระนอง ชุมนุมที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ค้าน “โครงการแลนด์บริดจ์” ชี้ใช้ทรัพยากรจำนวนมากเกินความจำเป็น และเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน รวมถึงการใช้ที่ดินที่ยาวนานถึง 99 ปี

วันนี้ (17 พ.ค.2567) เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ เครือข่ายรักษ์ระนอง และภาคีประชาชนภาคใต้ ชุมนุมเคลื่อนไหวคัดค้านการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ ที่หน้าที่ว่าการอำเภอหลังสวน จ.ชุมพร พร้อมออกแถลงการณ์ระบุว่า ต้องหยุดโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อรักษาที่ดินและฐานทรัพยากรไว้ให้ลูกหลาน

“แลนด์บริดจ์” เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยโครงการย่อยอีกหลายโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ทั้งสองฝั่ง โครงการรถไฟรางคู่ โครงการมอเตอร์เวย์ โครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และยังมีโครงการด้านสาธารณูปโภคที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โครงการสัมปทานแหล่งหิน ที่ต้องระเบิดภูเขาหลายลูก โครงการสร้างเขื่อน และเชื่อว่าจะมีโครงการอื่น ๆ ตามมาอีกหลายโครงการ

การนำเสนอข้อมูลของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่า ภายใต้อภิมหาโปรเจคนี้ จะต้องใช้ที่ดินในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด หลายหมื่นไร่ เช่น พื้นที่สร้างท่าเรือน้ำลึกอ่าวอ่าง ฝั่ง จ.ระนอง ต้องใช้เนื้อที่ชายฝั่งและทะเลรวมกันเกือบ 7,000 ไร่ ท่าเรือแหลมริ่ว ฝั่ง จ.ชุมพร ต้องใช้พื้นที่ชายฝั่งและทะเลรวมกัน 5,800 ไร่

เวนคืนและยึดคืนที่ดินสร้างรถไฟและมอเตอร์เวย์ จากท่าเรือทั้งสองฝั่งรวมระยะทางกว่า 90 กิโลเมตร รวมแล้วนับหมื่นไร่ ยังไม่นับรวมพื้นที่ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม และโรงงานซ่อมบำรุงรถไฟทั้ง 2 จังหวัด ซึ่งยังไม่ได้ระบุพิกัดที่แน่ชัดอีกนับหมื่นไร่

และยังไม่นับร่วมพื้นที่การสร้างเขื่อน เพื่อจัดหาแหล่งน้ำจำนวนมาก เพื่อรองรับกิจกรรมหรือโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และทั้งหมดนี้คือการสูญเสียที่ดิน ทะเลชายฝั่ง ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และแหล่งท่องเที่ยวครั้งใหญ่ของพี่น้องชาว จ.ระนอง-ชุมพร และของคนภาคใต้ ภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์

ทั้งรัฐบาลได้ประกาศชัด ในคราวที่เดินทางไปเสนอโครงการนี้ ให้กับนักธุรกิจและผู้นำประเทศต่าง ๆ ว่า ต้องการให้ประเทศเหล่านั้นเข้ามาลงทุนในโครงการที่ต้องใช้เม็ดเงินทั้งหมด 1 ล้านล้านบาท

ซึ่งประเทศที่มาลงทุนจะได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือรัฐบาลไทย หรือการสัมปทานพื้นที่โครงการทั้งหมด ในช่วงเวลาดำเนินโครงการเฟสแรกจำนวน 50 ปี และสามารถต่อสัญญาได้หลังจากนั้นอีก 49 ปี นั่นหมายความว่า ที่ดินและฐานทรัพยากรที่อยู่ในบริเวณโครงการทั้งหมดจะต้องตกเป็นของต่างชาติรวมทั้งสิ้น 99 ปี

ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้ รัฐบาลโดยพรรคภูมิใจไทย ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือกฎหมาย SEC ไว้กับรัฐสภาแล้วจำนวน 2 ฉบับ ที่จะช่วยเอื้อประโยชน์ให้มีการยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินและฐานทรัพยากรเหล่านั้น ให้กับประเทศที่มาลงทุนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงต้องการให้หยุดโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร - ระนอง เพื่อรักษาที่ดินและฐานทรัพยากรไว้ให้ลูกหลาน

อ่านข่าว : ราชทัณฑ์เปิดข้อมูลรักษา "บุ้ง ทะลุวัง" ก่อนส่ง รพ.ธรรมศาสตร์

รมว.ยธ.ให้รอ 30 วันผลชันสูตร "บุ้ง ทะลุวัง" ร่วมงานสวดอภิธรรมคืนนี้

ชาวบ้านกังวล “เขื่อนภูงอย” ทำน้ำมูลเท้อ-แก่งตะนะจม-เมืองอุบลฯ ท่วม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง