ชะตากรรม "ผู้นำอิหร่าน" อาจสะเทือนตะวันออกกลาง

ต่างประเทศ
20 พ.ค. 67
13:02
5,395
Logo Thai PBS
ชะตากรรม "ผู้นำอิหร่าน" อาจสะเทือนตะวันออกกลาง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้ผู้นำสูงสุดของอิหร่านจะยืนยันว่าเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกจะไม่กระทบต่อการบริหารประเทศ แต่การสูญเสีย "อิบราฮิม ราอีซี" ประธานาธิบดีอิหร่าน ในครั้งนี้อาจส่งผลไปทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง

กรณีเกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ที่ "อิบราฮิม ราอีซี" ประธานาธิบดีอิหร่าน โดยสารประสบอุบัติเหตุตกที่ จ.อาเซอร์ไบจานตะวันออก ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิหร่าน นอกจากประธานาธิบดีแล้ว บนเฮลิคอปเตอร์ลำเดียวกันยังมีบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งคือ "ฮอสเซน อามีร์อับดอลลาเฮียน" รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในช่วงที่สถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางกำลังร้อนแรง

หลังจากอิสราเอลใช้ปฏิบัติการโจมตีกาซาตั้งแต่เดือน ต.ค.2023 ทำให้กลุ่มติดอาวุธต่างๆ ที่อิหร่านให้การสนับสนุนออกมาเคลื่อนไหว โดยกลุ่มนี้ถูกเรียกขานว่า "อักษะแห่งการต่อต้าน"

กลุ่มนี้ประกอบไปด้วย ฮามาสและอิสลามิก จีฮัด ในกาซา, กลุ่มเฮซบอลลาห์ที่อยู่บริเวณชายแดนอิสราเอลกับเลบานอน, กลุ่มกบฏฮูตีจากเยเมน รวมถึงกลุ่มติดอาวุธฝ่ายชีอะห์ในซีเรีย ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน โดยกองกำลังคุดส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนกลุ่มอักษะแห่งการต่อต้าน

รัฐบาลอิหร่านสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้มานานหลายสิบปี โดยมีศัตรูที่ชัดเจนคือ อิสราเอลและสหรัฐฯ และในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มเหล่านี้ใช้ปฏิบัติการโจมตีศัตรูของอิหร่านอย่างเปิดเผยทั้งทางบก ทางทะเลและทางอากาศ จนกระทั่งเมื่อเดือน เม.ย.2024 อิสราเอลและอิหร่านเปิดหน้าโจมตีตอบโต้กันโดยตรงเป็นครั้งแรก

อ่านข่าว : ไม่มีสัญญาณผู้รอดชีวิต เฮลิคอปเตอร์ ปธน.อิหร่านตก

จุดเริ่มต้นการโจมตีระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา เมื่ออิสราเอลถล่มสถานกงสุลอิหร่านในซีเรีย ทำให้ทหารกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่านเสียชีวิต 7 นาย หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ อิหร่านเอาคืนด้วยการส่งโดรนและยิงขีปนาวุธโจมตีอิสราเอล ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่อิหร่านเปิดหน้าโจมตีอิสราเอลโดยตรง แม้ว่าการโจมตีในครั้งนั้นจะมีผู้บาดเจ็บ 12 คนในอิสราเอลก็ตาม

ขณะที่ในวันที่ 19 เม.ย. อิสราเอลตอบโต้ด้วยการส่งโดรนโจมตีเมืองอิสฟาฮานของอิหร่าน แต่ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ในขณะที่อิหร่านนิ่งเฉยต่อเรื่องนี้ โดยระบุว่าไม่มีหลักฐานว่าอิสราเอลเกี่ยวข้องกับการโจมตีเมืองอิสฟาฮาน ทำให้การตอบโต้กันไปมาจบลง ซึ่งการตัดสินใจตอบโต้อิสราเอลย่อมต้องได้รับความเห็นชอบจาก "อยาตอลลาห์ อาลี คาเมเนอี" ผู้นำสูงสุดและ "อิบราฮิม ราอีซี" ที่มีแนวคิดคล้ายๆ กัน

สำหรับ "ราอีซี" ประธานาธิบดีอิหร่าน ปัจจุบันอายุ 63 ปี ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2021 และเป็นผู้นำที่สั่งการคุมเข้มกฎหมายศีลธรรมในประเทศ รวมถึงปราบปรามการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้ยังมีท่าทีแข็งกร้าวในการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์กับมหาอำนาจโลก เขาได้รับการจับตามองในฐานะบุคคลที่อาจขึ้นมารับไม้ต่อดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดอิหร่าน ต่อจากคาเมเนอี วัย 85 ปี ที่อยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 1989 และกุมอำนาจการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ รวมถึงนโยบายการต่างประเทศและโครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งคาเมเนอีสนับสนุนท่าทีและนโยบายของราอีซีมาโดยตลอด

ขณะที่นักวิเคราะห์การเมืองของอิหร่าน มองว่า ราอีซีเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับการสังหารผู้เห็นต่างหรือผู้ที่อยู่กันคนละขั้วกับฝั่งของรัฐบาลมากที่สุด

กระบวนการหลังจากนี้ รัฐธรรมนูญอิหร่านกำหนดให้รองประธานาธิบดีปฏิบัติหน้าที่แทน และจะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 50 วัน แต่สำหรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไป อำนาจการตัดสินใจที่แท้จริงจะไปอยู่ที่ คาเมเนอี ผู้นำสูงสุด ที่จะดำเนินการผ่านสภาผู้พิทักษ์ ซึ่งสมาชิกครึ่งหนึ่งของสภานี้ คาเมเนอีเป็นผู้เลือกเข้ามาด้วยตัวเอง

อ่านข่าว

เร่งค้นหาเฮลิคอปเตอร์ ปธน.อิหร่านตก ยังไม่ทราบชะตากรรม

ทหารกะเหรี่ยง KNU โจมตี-ปิดล้อมค่ายทหารเมียนมา

ราคาน้ำมันดิบโลกผันผวนหนัก โอเปกพลัสลดกำลังผลิตสิ้นQ 3/67

ข่าวที่เกี่ยวข้อง