“เพ็ญสุภา” นักประวัติศาสตร์ศิลป์ ตั้งข้อสังเกตพบ “พระพุทธรูป” ริมน้ำโขง

สังคม
21 พ.ค. 67
14:16
2,049
Logo Thai PBS
“เพ็ญสุภา” นักประวัติศาสตร์ศิลป์ ตั้งข้อสังเกตพบ “พระพุทธรูป” ริมน้ำโขง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“เพ็ญสุภา” นักประวัติศาสตร์ศิลป์ ตั้งข้อสังเกต 8 ข้อ หลังมีการพบ “พระพุทธรูป” ริมน้ำโขง ฝั่งประเทศลาว ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

วันนี้ (21 พ.ค.2567) ดร.เพ็ญสุภา สุคตะ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ อดีตหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญชัย จ.ลำพูน โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ว่า

ประเด็นโบราณวัตถุค้นพบใหม่บนเกาะกลางลำน้ำโขงที่ เกาะดอนผึ้งคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาวนั้น ดิฉันตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้

1.เนื้อพระพุทธรูปสำริด (องค์ที่มีขนาดใหญ่มาก จึงเรียกว่า พระเจ้าตนหลวง) เต็มไปด้วยคราบสนิมจับ กระจายทั่วทุกจุด มีรอยผุกร่อนแตกเป็นร่อง เป็นแผ่น หลายช่วง ซึ่งมองในระยะไกลจะไม่เห็น ต้องใช้กล้องเลนส์ซูมจึงจะเห็นชัด

2.วิธีการหล่อองค์พระใช้ “เดือย” รูปคล้ายนาฬิกาทราย ซึ่งล้านนาเรียกว่า “แสว้” ปรากฏอยู่หลายจุด เนื่องจากเราถูกกำหนดพื้นที่ให้ถ่ายภาพได้ในระยะไกลเท่านั้น จึงมิอาจส่องรายละเอียดที่อยากดูได้ทั่วทุกจุด โดยเฉพาะด้านหลังที่ปล้องพระศอ มีเชือกกั้นไม่ให้เข้าไปชมด้านข้าง และด้านหลัง

อ่านข่าว : พบ “พระประธาน” วัดโบราณ จมแม่น้ำโขง เมืองต้นผึ้ง ประเทศลาว

3.ประเด็นการพบพระพุทธรูปจำนวนมหาศาลขนาดใหญ่น้อย คละกันหลายร้อยองค์ ที่ทยอยขุดพบเรื่อยมาเป็นเวลานานกว่าทศวรรษนี้ มิใช่เรื่องแปลก เพราะดินแดนบริเวณนี้เคยมีอารยธรรมรุ่งเรืองมาก่อน

4.โบราณวัตถุทั้งหมดมีอายุร่วมสมัยกับศิลปะยุคล้านนารุ่งเรืองคือราว 500 ปี ที่ผ่านมา มิใช่ศิลปะยุคสุวรรณโคมคำ ซึ่งเป็นเรื่องราวในตำนานหลายพันปี เพราะยุคนั้นยังไม่มีการสร้างพุทธศิลปะ แต่ด้วยเหตุที่สถานที่ของเมืองเชียงแสนบางส่วน ได้สร้างทับซ้อนดินแดนเก่า ตามที่บางท่านสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเมืองสุวรรณโคมคำมาก่อนนั่นเอง จึงทำให้ผู้ที่เชื่อในตำนานสุวรรณโคมคำ จึงเข้าใจว่า วัตถุที่ขุดพบทั้งหมดมีอายุหลายพันปี

5.พบร่องรอยหลักฐานด้านโบราณวัตถุ โบราณสถานสมัยล้านนา-เชียงแสน ร่วมสมัยกับองค์พระเจ้าตนหลวง จำนวนมากมายในเมืองต้นผึ้ง เก็บรักษาไว้ที่ วัดทองทิพย์พัฒนา วัดโพธิ์คำ วัดสิริสุวรรณโคมคำ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานพุทธศิลป์ชิ้นเยี่ยมที่มีอายุ 500 ปีทั้งสิ้น

นอกจากนี้เมื่อสำรวจพื้นที่รายรอบ ยังพบซากโบราณสถานร้างกระจัดกระจายเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งเจดีย์ทรงกลม (ทรงระฆัง) และทรงปราสาทยอดแบบศิลปะล้านนา

6.ประเด็นพุทธลักษณะพระเจ้าตนหลวง บางท่านตั้งข้อสังเกตว่า ดูคล้ายจีนนั้น เพราะหางพระเนตรเฉี่ยว อันที่จริงนั้น พุทธลักษณะเช่นนี้ มีนักวิชาการด้านล้านนาศึกษามาชี้ชัดหลายท่านแล้วว่า ได้พบอยู่หลายองค์ อาทิ วัดป่าซางหลวง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ถือเป็นอีก type หนึ่งของพระพุทธรูปล้านนาตอนปลาย หลังสมัยพระเมืองแก้วลงมา พบค่อนข้างมากในเขตรอยตะเข็บไทย-ลาว

7.เป็นไปได้หรือไม่ว่า เกาะดอนผึ้งคำนี้ ในอดีตอาจเป็น “เกาะดอนแท่น” (บ้างเรียก “เกาะดอนแห้ง” ) ที่ปรากฏในตำนาน ที่เราตามหา เกาะที่ใช้เป็นสถานที่พุทธาภิเษก มูรธาภิเษก ตอนที่กษัตริย์ล้านนาขึ้นเสวยราชย์ ต้องอัญเชิญพุทธปฏิมามาร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วยบนเกาะนี้

เป็นไปได้หรือไม่ว่า พระมเหสี บรมวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ที่ติดตามมา ก็อาจร่วมกันอัญเชิญพระพุทธรูปองค์สำคัญๆ จำนวนมากมากระทำพิธีในวาระพิเศษต่าง ๆ บนเกาะศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ด้วยอย่างต่อเนื่อง และประดิษฐานไว้โดยมิได้นำกลับราชธานี จนทำให้มีการพบพระพุทธรูปจำนวนมหาศาล?

8.ข้อเสนอแนะ น่าจะได้มีการจับมือกันศึกษา สำรวจ ค้นคว้าเรื่อง 5 อาณาจักรที่ทับซ้อนกันบริเวณรอยต่อไทย-ลาว 1.สุวรรณโคมคำ 2.โยนกนาคนคร 3.หิรัญนครเงินยาง 4.เชียงแสน 5.ล้านช้าง อย่างจริงจังและจริงใจ ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ จารึกวิทยา ภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา มานุษยวิทยา คติชนวิทยา ฯลฯ

อ่านข่าว : "พระพุทธรูปโบราณ" กับเส้นทาง-ความฝัน ที่จะผลักดัน “เชียงแสน” เป็นมรดกโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง