ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"พาณิชย์" เผย ส่งออกไทยฟื้นตัว พลิกกลับบวก เม.ย. 6.8%

เศรษฐกิจ
23 พ.ค. 67
16:46
446
Logo Thai PBS
"พาณิชย์" เผย ส่งออกไทยฟื้นตัว  พลิกกลับบวก เม.ย. 6.8%
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ส่งออกไทย เม.ย.พลิกบวก 6.8% อานิสงส์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดี เหตุอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยโลกชะลอตัว ทำผู้บริโภคเชื่อมั่น ซึ่งส่งผลบวกต่อภาคการผลิต เผย 4 เดือน ไทยส่งออกขยายตัวบวก 1.4%

วันนี้ (23 พ.ค.2567) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงสถานการณ์ ส่งออกเดือนเม.ย. ว่ามีมูลค่า 23,278.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ834,018 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.8 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 11.4 การส่งออกของไทยพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

สอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่มีมุมมองว่า เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่ดีจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อภาคการผลิตทั่วโลก

โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นหลายรายการ ขณะที่ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง แต่อานิสงส์ด้านราคาตามความต้องการของตลาดโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรบางรายการยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การส่งออกไทย 4 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 1.4 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 3.7

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 24,920.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.3 ดุลการค้า ขาดดุล 1,641.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 94,273.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 100,390.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 4.9 ดุลการค้า 4 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,116.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 2.0 (YoY) กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 12.7 กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน เช่น ข้าว ขยายตัวร้อยละ 91.5 ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน ตลาดอิรัก อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ สหรัฐฯ และจีน ,ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 36.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน ตลาดจีน สหรัฐฯ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเวียดนาม

อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 52.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 7 เดือน ในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ออสเตรเลีย และอิตาลีไก่แปรรูป ขยายตัวร้อยละ 17.2 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ ไอร์แลนด์ และเยอรมนี เป็นต้น

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 29.8 หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน หดตัวในตลาดจีน ฮ่องกง สหรัฐฯ มาเลเซีย และเวียดนาม แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินเดีย และเมียนมา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 9.6 หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน หดตัวในตลาดจีน เกาหลีใต้ บังกลาเทศ แอฟริกาใต้ และรัสเซีย แต่ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และสหรัฐฯ

น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 9.1 หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เมียนมา และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา มาเลเซีย ลาว เวียดนาม และญี่ปุ่น

ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 4.7 หดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน (หดตัวในตลาดอินเดีย เวียดนาม เกาหลีใต้ กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ส่งผลให้ 4 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.8

ผอ.สนค.กล่าวอีกว่า ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.2 กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัว โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 20.4 กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน

,เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 58.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เยอรมัน อินเดีย และฮ่องกง) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 12.9 กลับมาขยายตัวในรอบ 11 เดือน เป็นต้น

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ทำให้ 4 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 1.8

โดยตลาดส่งออกสำคัญ ตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อน สอดคล้องกับสัญญาณการขยายตัวของภาคการผลิตโลก อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดจีน และญี่ปุ่นยังคงหดตัว

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังสามารถเติบโตได้ดีจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เติบโตตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และปัญหาเงินเฟ้อที่เริ่มบรรเทาลง ส่งผลดีต่อกำลังซื้อในหลายประเทศ

ขณะที่สภาพอากาศแปรปรวนสร้างแรงผลักดันต่อราคาสินค้าเกษตรและความต้องการนำเข้าเพื่อความมั่นคงทางอาหาร แต่กดดันปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดโลก นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์

โดยเฉพาะความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มขยายวงกว้าง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และจะทำงานร่วมกับทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศเพื่อแสวงหาแนวทางสร้างโอกาสและลดอุปสรรคในการส่งออกต่อไป

อ่านข่าว:

คลัง ตั้งงบเงินดิจิทัลเพิ่ม ไม่กระทบกรอบ คาดจ่ายทันใช้ไตรมาส 4

ราคาทองเช้านี้ ร่วงแรง 500 บาท แนะขายกำไรระยะสั้นที่ 41,950 บาท

ศูนย์วิจัยกสิกร เผย "สูงวัยเพิ่ม-รายได้น้อย" ฉุดบริโภคไทยวูบ 34%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง