วัวตัวใหญ่ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 160 ถึงเกือบ 200 กิโลกรัม จำนวน 47 ตัว เป็นแม่พันธุ์วัวชุดใหม่ ที่กลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงโคทาชิมะ ต.กระเสาะ อ.มายอ จ.ปัตตานี ได้รับมาจากโครงการโคบาลชายแดนใต้ และอยู่ระหว่างการรับมอบทั้งหมด หลังก่อนหน้านี้ ชาวบ้านเคยได้รับวัวจากโครงการนี้ แต่อยู่ลักษณะซูบผอมเห็นแต่ซี่โครง และน้ำหนักวัวต่ำกว่าเกณฑ์ ที่ต้องมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 160 กิโลกรัม
ทำให้ชาวบ้านเรียกร้องให้ทางการ และบริษัทเอกชนที่นำวัวมามอบให้ เอาวัวกลับคืนไป และขอเปลี่ยนวัวใหม่ ส่วนวัวที่ไม่แข็งแรงและตาย 3 ตัว ทางบริษัทรับปากว่า จะให้เงินเยียวยา แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับ
นายมะนาเซ มะรี หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม แสดงความดีใจและมีความหวัง หลังได้คืนวัวทั้งหมด และเดินทางไปหาแม่พันธุ์วัวเองกับเพื่อน ๆ ในกลุ่มจากฟาร์มอื่น ๆ ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนได้แม่พันธุ์วัวตัวใหญ่ตามเกณฑ์ บางตัวพร้อมผสมพันธุ์แล้ว บางตัวตั้งท้องมาแล้ว
แต่หลังจากบริษัทมาส่งวัวที่คอก กลับได้รับแจ้งว่า วัวที่ชาวบ้านหามาเป็นพันธุ์ผสม ซึ่งไม่ตรงกับคู่มือปฏิบัติงานของโครงการที่เจาะจงว่า ต้องจัดหาแม่พันธุ์วัวพื้นบ้านเท่านั้น สร้างความไม่สบายใจให้ชาวบ้านอีกครั้ง
อ่านข่าว : ตรวจสอบโครงการ "โคบาลชายแดนใต้" พบแม่พันธุ์วัวไม่ตรงสเปก
ผมก็ไม่เข้าใจ เพราะผมกับเพื่อนก็พอใจแล้ว วัวที่หามาเอง เราไปเลือกเองกับมือ บางตัวติดท้องมาแล้ว ที่เลือกมาก็ตัวใหญ่สมบูรณ์คิดว่า อีกสัก 5-6 เดือนก็น่าจะขายได้ เราก็มีเงินพอไปจ่ายหนี้
โครงการโคบาลชายแดนใต้ เป็นโครงการที่ดำเนินงานโดย กรมปศุสัตว์ ศอ.บต.และกระทรวงมหาดไทย งบประมาณ 1,566 ล้านบาท แต่การดำเนินการในระยะนำร่อง ที่ได้ส่งมอบวัวให้แก่เกษตรกรใน จ.ปัตตานี 800 ตัว นราธิวาส 800 ตัว และสตูล 400 ตัว พบปัญหาหลายอย่าง
เช่น น้ำหนักแม่พันธุ์วัว ส่วนใหญ่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานคือ ไม่ได้ 160 กิโลกรัมต่อราคาวัวตัวละ 17,000 บาท วัวบางตัวตาย หรือป่วย เลี้ยงไม่โต ไม่ตั้งท้อง เกษตรกรบางกลุ่ม เช่นที่ จ.สตูล ก็มีปัญหาในการรับมอบหรือเข้าร่วมโครงการ เพราะพื้นที่ก่อสร้างคอกอยู่ในแนวเขตป่า จึงเข้าร่วมโครงการไม่ได้ แต่ชาวบ้านได้ทำสัญญากับบริษัทไปแล้ว จึงมีภาระหนี้ติดตัว
เนื่องจากโครงการนี้กำหนดให้ชาวบ้าน 10 คน มารวมกลุ่มเพื่อกู้เงินผ่านกองทุนสงเคราะห์เกษตรกลุ่มละ 1,500,000 บาท โดย 350,000 บาท คือ การก่อสร้างโรงเรือน และ 850,000 บาท เพื่อใช้จัดซื้อแม่พันธุ์วัว 50 ตัว ซึ่งในปีที่ 4 -7 ชาวบ้านต้องชำระคืนเงินกู้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะนำร่อง ชาวบ้านทุกกลุ่มได้ทำสัญญากับห้างหุ้นส่วนจำกัด วิชัยฟาร์ม เพียงรายเดียว ซึ่งพบปัญหาคล้ายกันจนต้องส่งคืนวัวหลายกลุ่ม
และแม้ขณะนี้ชาวบ้านบางกลุ่ม จะไปจัดหาแม่พันธุ์วัวจากฟาร์มใดก็ได้ แต่จากคู่มือปฏิบัติงานของโครงการ ก็จำเพาะเจาะจงว่า ต้องจัดหาแม่พันธุ์วัวพื้นบ้านเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชาวบ้าน เนื่องจากแม่พันธุ์วัวพื้นบ้านส่วนใหญ่ที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์ อาจหาในคราวเดียวกัน 50 ตัวได้ยาก
อ่านข่าว : ป.ป.ช.เร่งตรวจสอบ หลังพบพิรุธซื้อวัว “โครงการโคบาลชายแดนใต้”
ข้อสงสัยในการดำเนินการโครงการนี้ ทำให้ ป.ป.ช.ภาค 9 อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งหากพบมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการดำเนินการอย่างใดในหน่วยงานของรัฐ ที่อาจจะนำไปสู่การทุจริต หรือส่อว่าอาจมีการทุจริต ก็จะส่งเรื่องให้ฝ่ายปราบปรามการทุจริต ดำเนินการตรวจสอบและไต่สวน
รวมถึงจับตาการดำเนินการโครงการในระยะที่ 2 จะมีการขยายกลุ่มเกษตรอีก 400 กลุ่ม ซึ่งจะมีวัวถูกส่งมาให้ชาวบ้านอีกกว่า 20,000 ตัวใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
อ่านข่าว : "เขื่อนพูงอย" ผลกระทบข้ามแดน : ตอบโจทย์ความมั่นคงทางพลังงาน หรือหายนะ “คนลุ่มน้ำโขง”
วันแรก! ปิดเมืองจับลิงลพบุรีได้ 30 ตัว เปิดอาวุธคู่กายปราบจ๋อ
เพิ่มค่าปรับ! จับคนขายอาหารนกให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปประตูท่าแพ