วันนี้ (25 พ.ค.2567) คณะตุลาการศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) คณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ไอซีเจ อ่านคำพิพากษา ซึ่งระบุว่า สถานการณ์ในกาซาเลวร้ายลงนับตั้งแต่ศาลสั่งให้อิสราเอลดำเนินมาตรการเพื่อผ่อนคลายสถานการณ์ ก่อนจะประกาศคำสั่งฉุกเฉินให้อิสราเอลยุติปฏิบัติการทางทหารในราฟาห์ทันที
นอกจากนี้ยังสั่งให้อิสราเอลเปิดจุดผ่านแดนราฟาห์เพื่อเปิดทางลำเลียงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมทั้งต้องยอมให้คณะตรวจสอบลงพื้นที่ในกาซาและรายงานความคืบหน้ากลับมาที่ศาลภายใน 1 เดือน
คำพิพากษาดังกล่าวเป็นคำร้องของแอฟริกาใต้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ขอให้ศาลโลกสั่งอิสราเอลยุติปฏิบัติการโจมตีในกาซา โดยเฉพาะในเมืองราฟาห์ ซึ่งแออัดไปด้วยผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ โดยแอฟริกาใต้ ระบุว่า จำเป็นต้องมีคำสั่งดังกล่าว เพื่อรับประกันการอยู่รอดของชาวปาเลสไตน์
สมาชิกของทีมกฎหมายของแอฟริกาใต้ เข้าร่วมการพิจารณาคดีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
คำพิพากษาที่จะประกาศในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของคำร้องที่แอฟริกาใต้ยื่นฟ้องอิสราเอลต่อศาลโลก ในความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยแม้ว่าคำพิพากษาของศาลโลกมักถูกละเลย เนื่องจากไม่มีหน่วยงานในการบังคับใช้คำพิพากษาดังกล่าว แต่ก็มีน้ำหนักในเชิงสัญลักษณ์บนเวทีระหว่างประเทศและจะอาจทำให้อิสราเอลถูกโดดเดี่ยวทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ประกาศยื่นคำร้องขอออกหมายจับแกนนำฮามาสและอิสราเอล ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ ซึ่งรวมตัวกันบริเวณด้านนอกศาลในกรุงเฮก ของเนเธอร์แลนด์ระหว่างการพิจารณาคดี แสดงความยินดีต่อผลคำตัดสิน แต่มองว่า การยุติการโจมตียังไม่เพียงพอและเรียกร้องให้มีการสร้างสันติภาพผ่านแนวทางสองรัฐที่อิสราเอลและปาเลสไตน์อยู่ร่วมกัน
ด้านโฆษกองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ระบุว่า เลขาธิการยูเอ็นย้ำว่าคำตัดสินของศาลมีผลผูกพันและเชื่อว่าทุกฝ่ายจะปฏิบัติตาม ขณะที่ผู้แทนปาเลสไตน์ประจำยูเอ็นเรียกร้องให้อิสราเอลปฏิบัติตามคำสั่งศาลดังกล่าว
ส่วนปฏิกิริยาในอิสราเอล ชาวกรุงเทลอาวีฟจำนวนมากไม่ได้ให้ความสำคัญกับคำตัดสินนี้ และย้ำว่าอิสราเอลจำเป็นต้องบุกราฟาห์เพื่อจัดการฮามาส ซึ่งการหยุดยิงเพียงฝ่ายเดียวไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว โดยรัฐบาล ยืนยันว่า อิสราเอลจะต่อสู้เพื่อพาตัวประกันกลับบ้านและรับประกันความปลอดภัยให้กับพลเรือน
ทั้งนี้ไอซีเจเป็นหน่วยงานสูงสุดของยูเอ็นที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีความขัดแย้งระหว่างรัฐ ซึ่งผลคำตัดสินของศาลถือเป็นที่สุด แต่ก็มักจะถูกละเลย เนื่องจากศาลขาดหน่วยงานบังคับใช้คำพิพากษา เช่น กรณีคำสั่งศาลที่ให้รัสเซียยุติการรุกรานยูเครนเมื่อปี 2022 รัสเซียเองก็ไม่ได้ปฏิบัติตามแต่อย่างใด
อ่านข่าว :
"ดินถล่ม" ในปาปัวนิวกินี คาดมีผู้เสียชีวิตเกิน 100 คน
เวทีหาเสียงเลือกตั้ง "เม็กซิโก" พังถล่มดับ 9 เจ็บมากกว่า 70 คน