ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นาฏกรรมซ้ำรอย "ถังก๊าซเก่า-ใช้ซ้ำ" ระเบิดเวลา "กลางชุมชน"

อาชญากรรม
25 พ.ค. 67
14:04
1,218
Logo Thai PBS
นาฏกรรมซ้ำรอย "ถังก๊าซเก่า-ใช้ซ้ำ" ระเบิดเวลา "กลางชุมชน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เสียงระเบิดสนั่นหวั่นไหว ดังไปทั่วบริเวณถนนเพชรเกษม เมื่อช่วงสายวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ไม่เพียงสร้างความตกใจให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในย่านซอยเพชรเกษม 77/8 แยก 3 ถนนเพชรเกษม แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กทม. อย่างเดียว แต่ยังทำให้เกิดความโกลาหล เมื่อมองเห็นเปลวไฟลุกลามขึ้นอย่างรวดเร็ว

จุดเกิดเหตุเป็นบ้านทาวน์เฮาส์ 2 ชั้นหลัง แต่สิ่งที่ทำให้หลายคนต้องประหวั่นพรั่นพรึง คือ เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบพบว่า ภายในบ้านหลังดังกล่าว ถูกใช้เป็นที่เก็บถังก๊าซรวมทั้งสิ้น 71 ถัง

เป็นถังออกซิเจน จำนวน 37 ถัง , ถังคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 16 ถัง และถังบรรจุแก๊สอะเซทิลีนอีก 18 ถัง 

แม้เบื้องต้นเจ้าของบ้าน จะอ้างว่า ได้ใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่พักถังก๊าซ หรือ "ถังเปล่า" ที่รับมาจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยนำมาเก็บเอาไว้เพื่อเตรียมนำไปบรรจุ "สารเคมี" ก่อนส่งกลับไปยังโรงงานอุตสาหกรรม และยอมรับว่า ครอบครัวได้ทำกิจการดังกล่าวมานานกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม

แต่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น จากถังที่บรรจุแก๊สอะเซทิลีน ซึ่งเป็นสารเคมี ที่ใช้สำหรับเชื่อมโลหะในภาคอุตสาหกรรมระเบิด ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และหากไม่มีการป้องกันหรือมีมาตรการดูแลความปลอดภัยอย่างรัดกุม อีกไม่นานวงรอบโศกสลดนี้อาจเกิดซ้ำรอยอีก

อ่านข่าว : ถังออกซิเจนระเบิด ย่านเพชรเกษม เสียชีวิต 1 คน บ้านพังยับ

11 ปี ระเบิด 4 ครั้ง "ถังก๊าชเก่า-ใช้ซ้ำ"

นางมณีวรรณ ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการเขตหนองแขม บอกว่า บ้านต้นเหตุ ไม่ได้มีการขออนุญาตจัดเก็บทางเคมีตามกฎหมาย นอกจากนี้ ถังก๊าซถูกนำมาเก็บไว้ มีสภาพเก่าและอาจมีการใช้ซ้ำ

และเหตุการณ์ถังก๊าซระเบิดในครัวเรือน ซึ่งอยู่ในย่านชุมชน เคยเกิดเหตุการณ์ต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2556 – 2567 มาแล้วถึง 4 ครั้ง

ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกกังวลกับการที่มีสถานประกอบกิจการลักษณะนี้มาเปิดในชุมชน แต่ผู้ประกอบการอ้างว่า ถังที่นำมาพักไว้ในบ้านเป็นถังเปล่า ทำให้รู้สึกวางใจกระทั่งเกิดอุบัติเหตุขึ้น

"อยากให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบโดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งมีบทบาทหน้าที่หลักในการกำกับดูแลด้วย"

อ่านข่าว : เขตหนองแขมสั่งเร่งขนย้าย "ถังสารเคมี" พบยังไม่ขออนุญาต

นาฏกรรมซ้ำรอย ถังก๊าซเก่า-ใช้ซ้ำ ระเบิดเวลา กลางชุมชน

นาฏกรรมซ้ำรอย ถังก๊าซเก่า-ใช้ซ้ำ ระเบิดเวลา กลางชุมชน

นาฏกรรมซ้ำรอย ถังก๊าซเก่า-ใช้ซ้ำ ระเบิดเวลา กลางชุมชน

ช่องว่าง กม.เก็บ "ถังก๊าซอื่น" ไม่ต้องขออนุญาต

นายอนุรักษ์ ชัยวิเชียร นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการพิเศษ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม อธิบายขั้นตอนการตรวจสอบมาตรฐานถังก๊าซ ชนิดต่าง ๆ ของประเทศไทยว่า ปัจจุบันมีการแบ่งเป็น 2 ประเภท

กล่าวคือ มาตรฐานบังคับ จะใช้กับการควบคุมดูแลมาตรฐานถังก๊าซปิโตรเลียมและก๊าซออกซิเจนทางการแพทย์ ซึ่งผู้ประกอบการหรือบริษัทผู้ผลิต และนำเข้า ต้องขออนุญาต หรือทำตามข้อกำหนด ด้านความปลอดภัย หากละเลยต้องถูกดำเนินคดี และข้อกำหนดที่นำมาใช้ควบคุมนั้นจะเริ่มตั้งกระบวนการผลิตถังและการบรรจุก๊าซลงในถัง

โดย สมอ.จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดและมีการตรวจอายุการใช้งานทุกปี ทำให้มีฐานข้อมูลและเป็นไปได้ยากที่ผู้ประกอบการจะนำถังเก่าหรือไม่ได้มาตรฐานกลับมาวนใช้จนก่อให้เกิดความเสี่ยงอันตราย

ส่วนประเภทที่สอง เป็นมาตรฐานทั่วไป เช่นผู้ประกอบการ บรรจุ ถังก๊าซออกซิเจน เพื่ออุตสาหกรรม ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซอะเซทีลีน

สำหรับบ้านที่เกิดเหตุ ถังก๊าชระเบิดอยู่ในข่ายนี้ ซึ่งผู้ประกอบการผลิต หรือมีไว้ในครอบครอง จะแจ้งขออนุญาตหรือไม่แจ้งก็ได้

นักวิชาการจาก สมอ.ยังบอกอีกว่า ในกรณีผู้ประกอบการมีการแจ้งประกอบกิจการมาที่ สมอ. ทางเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบ โดยยึดแนวทางตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงานที่เกี่ยวกับการผลิต การเก็บ การบรรจุ การใช้และการขนส่งก๊าซ พ.ศ.2548 ซึ่งจะมีการเข้าไปตรวจสอบคุณภาพของถังก๊าซทุกๆ 5 ปี

และจะมีการตรวจสอบรูปแบบการประกอบกิจการว่า มีความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานหรือพื้นที่โดยรอบสถานประกอบการหรือไม่

แต่หากผู้ประกอบการจะไม่แจ้ง ก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากการขออนุญาตสำหรับมาตรฐานทั่วไปนั้น เป็นเรื่องของความสมัครใจ

จุดนี้อาจกลายเป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ประกอบกิจการแบบไม่คำนึงถึงความปลอดภัย และมีการนำถังที่ไม่ได้มาตรฐาน มีสภาพชำรุดทรุดโทรมกลับมาใช้ซ้ำ

"ยอมรับว่า ปัจจุบัน สมอ.ยังไม่มีอำนาจหรืออาวุธที่จะนำมาบังคับใช้เพื่อเอาผิดกับผู้ประกอบการลักษณะนี้ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีสถานประกอบกิจการที่เข้าข่ายทำให้เกิดความเสี่ยงกับชุมชนและพื้นที่โดยรอบมากน้อยเพียงใด"

อ่านข่าว : สั่งปิดพื้นที่ "ถังแก๊สอะเซทิลีน" ระเบิด เร่งย้ายถังออก-ห่วงซ้ำรอย

ถอดบทเรียนแก้ กม.ใช้ "มาตรฐานบังคับ"

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุ ทาง สมอ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมรวบรวมพยานหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุและสำรวจเศษซากความเสียหายของถังก๊าซที่เกิดระเบิด พบว่า มีสภาพเก่าคาดว่าจะถูกนำมาใช้งานเป็นเวลานาน

โดยทีมงานของ สมอ.ระบุว่า จะนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นกรณีศึกษาสำหรับพิจารณาผลกระทบด้านความปลอดภัยและเศรษฐกิจ เพื่อทบทวนแนวทางการตรวจสอบถังก๊าซทุกประเภทที่เข้าข่ายเป็นอันตรายและอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ให้เปลี่ยนจากมาตรฐานทั่วไปเป็นมาตรฐานบังคับต่อไป

รายงานโดย : พลอยพรรณ คล่องแคล่ว ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม

อ่านข่าว : 

"ชาดา" นำจับผับดังกลางพัทยา พบนักเที่ยวฉี่ม่วงกว่า 200 คน

รวบคาสนามบิน "ตัวการใหญ่" คดีแชร์ลูกโซ่ยูฟันตุ๋นหมื่นล้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง