ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มหากาพย์ผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล เวนคืน 1 แสนล้านบาท ได้คุ้มเสียหรือไม่?

ภูมิภาค
26 พ.ค. 67
12:44
2,839
Logo Thai PBS
มหากาพย์ผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล เวนคืน 1 แสนล้านบาท ได้คุ้มเสียหรือไม่?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“ผมยืนยันว่า ภาคอีสานไม่ใช่ไม่มีน้ำ อีสานมีน้ำ แต่การบริหารจัดการน้ำมันไม่ดี” ในแต่ละปี ภาคอีสานมีน้ำท่าเฉลี่ยปีละ 58,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่กักเก็บได้เพียงปีละ 13,800 ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วน้ำที่เหลือไปไหน มันก็ไหลลงแม่น้ำโขง"

ผมถามแบบชาวบ้าน ถามแบบงง ๆ ถ้าจะผันน้ำ 50,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร ลงแม่น้ำโขง แล้วจะเอาน้ำโขงเข้ามาทำไม ทำไมไม่บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด กรมชลประทานขยายพื้นที่ชลประทานสิ ติดปัญหาอะไร เพราะชาวบ้านเขามีความหวัง แต่ที่เป็นปัญหาขณะนี้คือ หน่วยงาน ระหว่างกรมชลประทาน กับกรมทรัพยากรน้ำ เป็นหน่วยงานที่คุยกันไม่จบ ผลกระทบก็เลยตกอยู่กับชาวบ้าน

หลากหลายคำถาม หลากหลายข้อสงสัย พรั่งพรูมาจาก ร.ท.มานิตย์ อ่อนท้าว ชาว อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู และเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชีมูล โครงการมหากาพย์ที่ถูกพูดถึงมาตั้งแต่ปี 2538 มีความพยายามผลักดันมาแล้วหลายรัฐบาล

มีการศึกษาความเหมาะสม ความเป็นได้ ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง ใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท

ภายใต้คำถาม “แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร สิ่งแวดล้อมกระทบจะแก้ไขอย่างไร โครงการนี้มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์หรือไม่ ที่สำคัญจะได้งบประมาณจากไหนมาก่อสร้าง”

ร.ท.มานิตย์ ระบุว่า หากรัฐบาลเดินหน้าผลักดันโครงการผันน้ำ จะส่งผลกระทบหลายอย่าง ทั้งทางกายภาพ ระบบนิเวศ วิถีชีวิต ยกตัวอย่าง ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งเป็นพื้นที่หัวงาน บริเวณใกล้เคียง มีการเลี้ยงปลากระชัง มีประมงพื้นบ้าน มีร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ท มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ แก่งคุดคู้ ถามว่า ถ้าน้ำโขงถูกเบี่ยงเข้ามาปากแม่น้ำเลย แก่งคุดคู้จะได้รับผลกระทบเพราะปริมาณน้ำโขงลดลง

ยังมีเรื่องผลกระทบเรื่องโครงสร้าง ทั้งรอยเลื่อน และธรณีวิทยา เมื่อสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ อากาศเปลี่ยนไป ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด แล้วจะเยียวยาได้อย่างไร ในเมื่อภูเขาพัง ธรณีวิทยาพัง มันเยียวยาไม่ได้

“งบประมาณดำเนินโครงการทั้ง 5 ระยะ กว่า 2.6 ล้านล้านบาท จำนวนนี้เป็นงบประมาณค่าเวนคืนที่ดิน 100,000 ล้านบาท เนื้อที่กว่า 2 ล้านไร่ แค่ค่าเวนคืนก็ไม่คุ้มแล้ว ผมว่าโครงการแลนบริดจ์อาจจะโม้มากไปว่าจะเกิดได้ โครงการนี้ก็เช่นกัน ผมว่าโม้มากไป เพราะดูจากค่าเวนคืน และสามารถใช้น้ำได้เฉพาะหน้าแล้ง ก็ไม่คุ้มค่าแล้ว” ร.ท.มานิตย์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ยังมีในเรื่องของการจัดการกองดินบริเวณหัวงานคือ ปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย การเจาะภูเขา และการขุดคลองผันน้ำแบบเปิด บริเวณ อ.สุวรรณคูหา จ.เลย เราจะได้ภูเขาเพิ่มอีกลูก เพราะดินจำนวนมหาศาล จะถูกนำมากองไว้

การขุดคลองผันน้ำ จะทำให้เปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของน้ำ เพราะคลองน้ำต้องยกสูงเหนือพื้นดิน 3-4 เมตร เป็นการขวางทางน้ำ นี่คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากรัฐบาลเดินหน้าผลักดันโครงการ

พร้อมเสนอว่า กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจะบริหารจัดการให้คุ้มค่า ให้ประโยชน์ได้รับประโยชน์สูงสุด ทำอย่างไรก็ได้ อย่าให้น้ำไปท่วมพี่น้องชาวมหาสารคาม อุบลราชธานี ทุกปี

นายบรรลุ อ่อนบัวขาว ชาว ต.มะค่า อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม กลุ่มผู้ใช้น้ำชี และเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล เขาได้ศึกษาเรื่องผันน้ำโขง ตั้งแต่ยุคของ นายประจวบ ไชยสาส์น อดีต สส.อุดรธานี หลายสมัย และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ที่เป็นผู้ผลักดันโครงการนี้

ต้องบอกว่า ปัจจุบันสภาพน้ำโขงเปลี่ยนไป นับตั้งแต่ที่ประเทศจีนเริ่มสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง เมื่อ 30 ปีที่แล้ว หน้าแล้งน้ำโขงแห้ง การไหลของน้ำไม่เป็นธรรมชาติ แต่พอในช่วงฤดูฝน น้ำท่าตกเป็นจำนวนมากในพื้นที่ภาคอีสานจนเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก

ปี 2562 พายุโพดุลเข้า มหาสารคามน้ำก็ท่วม ปี 2564-2566 มหาสารคามน้ำก็ท่วม เคยท่วมนานกว่า 4 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม ช่วงน้ำหลาก เจ้าหน้าที่ชลประทาน และเขื่อนต่าง ๆ รู้ดีอยู่แล้วว่า ปริมาณน้ำจะไหลเข้าเขื่อนมากน้อยแค่ไหน และสามารถบริหารจัดการด้วยการพร่องน้ำ คำถามคือว่า แต่ทำไมน้ำยังท่วม

นายบรรลุ เสนอไปยังกรมชลประทานถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำ คือ การเพิ่มที่พักน้ำให้แหล่งน้ำต่าง ๆ ทั้งอ่างเก็บน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง น้ำท่าที่มีปีละ 58,000 ล้านลูกบาศก์เมตรสามารถเพิ่มที่พักน้ำได้

อย่างเขื่อนอุบลรัตน์ กักเก็บน้ำได้ 2,431 ล้านลูกบาศก์เมตร กักเก็บน้ำได้สูงสุด 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ไปเพิ่มที่พักน้ำได้ ขุดลอกแหล่งน้ำในระดับท้องถิ่น ไม่ต้องใช้งบประมาณแผนดินสักบาท รัฐก็ไปตกลงกับผู้รับเหมาให้มาขุดลอกตามสเปก ส่วนดินก็ให้ผู้รับเหมาเอาไปบริหารจัดการ เป็นการแลกผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน แต่ทำไมหน่วยงานรัฐไม่ทำกัน

ยังมีแนวคิดเรื่องการทำก้างปลา เชื่อมโยงลุ่มน้ำ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งน้ำท่วม อย่างแม่น้ำชีฝั่งขวา สามารถเชื่อมโยงกับลำน้ำเสียว และไหลลงสู่แม่น้ำมูลได้ ส่วนแม่น้ำชีฝั่งซ้ายก็สามารถเชื่อมกับลำน้ำปาว และน้ำยัง และไหลลงมูล

ถ้าชลประทานบริหารจัดการเส้นทางน้ำในลักษณะก้างปลา ในฤดูน้ำหลากก็สามารถกระจายน้ำไปลงลำน้ำสาขาเพื่อเป็นการหน่วงน้ำ ไม่ให้น้ำจากทางตอนบนไหลไปท่วมที่แม่น้ำมูลที่ จ.อุบลราชธานี ในปริมาณมาก

ผศ.ราชภัทร รัตนวราห ผู้อำนวยการสถานวิจัยทรัพยากรลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล กล่าวถึงโครงการมหากาพย์ผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ว่า โครงการผันน้ำ เขาไม่ได้มองมติเรื่องน้ำเพียงอย่างเดียว แต่มองไปถึงเรื่องพลังงาน แหล่งอาหาร

เพราะมองว่า อนาคตภาคอีสานจะเป็นแหล่งอาหารของโลกก็ได้ ฉะนั้นเราต้องมีน้ำมาสำรอง เพื่อให้เกิดความมั่นคง (water security) ยิ่งความร้อนของโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ การระเหยของน้ำก็สูงขึ้น ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำเริ่มไม่คงที่

ยกตัวอย่างในเรื่องพลังงาน ขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์ ทำโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ที่เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เป็นระบบกักเก็บพลังงานประเภทหนึ่ง ที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำ

การผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชนิดนี้ ใช้หลักการเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั่วไป คือเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำ แล้วปล่อยน้ำผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าทดแทนไฟฟ้าจากพลังลมหรือแสงอาทิตย์ ที่ขาดหายไปได้ ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นเขาโรงไฟฟ้าแบบนี้เกือบทุกเขื่อน

ฉะนั้นคือน้ำคือชีวิต คือความมั่นคง ทางด้านพลังงาน และความมั่นคงทางด้านอาหาร ถ้าขาดน้ำ ก็จะส่งผลกระทบต่อผลผลทางการเกษตร เราจะเห็นว่า ขณะนี้ลูกทุเรียนร่วงหล่นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะขาดน้ำ เมื่อที่ใดไม่มีแหล่งน้ำ นักลงทุนเขาก็ไม่กล้ามาลงทุน

“ถามว่าโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล คุ้มทุนหรือไม่ ต้องถามตัวเองก่อนว่า ในกระเป๋าเรามีเงินเท่าไหร่ ถ้าเงินไม่มี ก็ควรทำโครงการเล็กลงดีกว่าไหม ปรับขนาดท่อให้เล็กลง จากเดิมที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว้าง 10 เมตร ก็ปรับให้เล็กลง ความเดือดร้อนก็อาจจะน้อยลง ไม่ต้องทำใหญ่มาก ถ้าทำใหญ่เกิน อาจจะมีปัญหาในระดับต่างประเทศก็ได้ เอามาแค่พอดี พอตัว ประชาชนไม่เดือดร้อน และไม่เป็นหนี้เขามาก” ผศ.ราชภัทร กล่าว

สำหรับมหากาพย์โครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ผ่านมากว่า 2 ทศวรรษแล้ว เริ่มจากมูลนิธิน้ำและคุณภาพชีวิต เป็นผู้ผลักดันและเสนอโครงการต่อรัฐบาลตั้งแต่ปี 2548 ต่อมาปี 2550 กรมชลประทานเริ่มศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมาแล้วตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน

ขณะนี้บริษัทที่ปรึกษา และกรมชลประทาน อยู่ระหว่างการทบทวนแก้ไขรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หลังจากที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำรายงานความเห็นไปยังกรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.ให้ชะลอโครงการเป็นเวลา 180 วัน (ต.ค.2566-มี.ค.2567)

เนื่องจากพบว่า โครงการนี้ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้มีส่วนได้เสีย ตั้งแต่บริเวณหัวงาน คือ ปากแม่น้ำเลย-เขื่อนอุบลรัตน์ ระยะทาง 174 กิโลเมตร มีชาวบ้านได้รับผลกระทบกว่า 1,000 คน 303 ครัวเรือน ทั้งทั้งอยู่อาศัย ที่ดินทำกิน วิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำเลย ระบบนิเวศ และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ

เดือนมีนาคม 2567 กรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาได้จัดประชุมรับฟังความเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) จำนวน 6 เวที
เวทีที่ 1 ที่ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น
เวทีที่ 2 ที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น
เวทีที่ 3 ที่ อ.ประทาย จ.นครราชสีมา
เวทีที่ 4 ที่ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
เวทีที่ 5 ที่ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
เวทีที่ 6 ที่ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู

และในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ จะมีการจัดประชุมกลุ่มย่อยในระดับตำบล และในปี 2568 จะเป็นการปัจฉิมนิเทศโครงการ และสรุปรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแว้อม หรือ คชก.พิจารณา ก่อนจะส่งต่อให้คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ หรือ คนช.พิจารณาต่อไป

สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียง ก่อนหน้านี้ กรมชลประทานได้ว่าจ้างให้ บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัทร่วมดำเนินงานอีก 2 แห่ง คือ บริษัท ครีเอทีฟ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท เอส เอน ที คอนซัลแตนท์ จำกัด ศึกษารูปแบบและเตรียมความพร้อมในการพัฒนาโครงการ

โดยเป็นการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อขยายผลจากการศึกษาความเหมาะสมเดิมในปี 2555 (ปี 2558-2559) เป็นงบประมาณจ้างบริษัทที่ปรึกษา 49,986,758.79 บาท

1.ศึกษารูปแบบการพัฒนาของภาพรวมการพัฒนาโครงการเต็มศักยภาพ โดยศึกษาเพิ่มเติมจากการศึกษาความเหมาะสมเดิม (2555) ในรายละเอียดที่สำคัญ
2.ศึกษาผลกระทบในแม่น้ำโขงจากการพัฒนาโครงการ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพชลศาสตร์การไหลของแม่น้ำโขง จัดทำเอกสารเพื่อเตรียมดำเนินการตามขั้นตอน ในข้อตกลงการใช้น้ำอย่างยั่งยืนของประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ปี พ.ศ. 2538

3.ศึกษารูปแบบการพัฒนาโครงการระยะที่ 1 ที่เหมาะสม โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญในการเตรียมความพร้อม เช่น การศึกษาพฤติกรรมและชลศาสตร์การไหลจากปากน้ำเลยผ่านอุโมงค์ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้งทั้งโดยแบบจำลองคณิตศาสตร์ต่าง ๆ และแบบจำลองกายภาพ การศึกษาแนวทางบริหารจัดการงานก่อสร้างอุโมงค์ แนวทางบริหารจัดการน้ำของการผันน้ำโขงและน้ำเลย แนวทางการอพยพและการชดเชยทรัพย์สิน เป็นต้น

4.ศึกษารูปแบบการลงทุน หรือการร่วมลงทุน พร้อมทั้งจัดทำแผนการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อประกอบการจัดหางบประมาณก่อสร้าง ของการพัฒนาโครงการเต็มศักยภาพและแผนการพัฒนาโครงการระยะที่ 1
5.การประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน

รายงาน : มยุรี อัครบาล ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคอีสาน

อ่านข่าว : มหากาพย์โครงการผันน้ำ "โขง-เลย-ชี-มูล" กว่า 2 ทศวรรษ

บทวิเคราะห์ : “โขง-ชี-มูล” มหากาพย์ 30 ปี วันนี้ยังไม่มีทางออก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง