เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2567 ทีมข่าวไทยพีบีเอส ไปสำรวจเส้นทาง ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ลำพูน-ลำปาง ช่วงดอยขุนตาล ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีกล้องจับความเร็วจำนวนมาก จากการสังเกตของผู้สื่อข่าวพบกล้องหลายจุดตลอดเส้นทาง แต่ไม่ใช่กล้องจับความเร็วทั้งหมด บางจุดมีป้ายแจ้งเตือนระดับความเร็วก่อน เช่น บางช่วงกำหนดไม่เกิน 90 กม./ชม. และบางช่วงกำหนดไม่เกิน 80 กม./ชม
เรื่องนี้ถูกแชร์ในโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง เช่น เพจ ฮาลำพูน ที่มีผู้ติดตามกว่า 420,000 คน โพสต์เรื่องกล้องจับความเร็วที่ติดบน เส้นทาง ลำพูน-ลำปาง ช่วงดอยขุนตาล ซึ่งจำกัดความเร็วบางช่วงไม่เกิน 50 กม./ชม. โดยโพสต์นี้มีผู้กดไลก์กว่า 3,000 คน และแสดงความคิดเห็นกว่า 300 คน
ส่วนใหญ่พูดถึงความเร็วที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะของเส้นทาง เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่ง บอกว่าการกำหนดความเร็วบางจุด ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง เช่น เวลาขับรถลงเขา (แถวนั้นเป็นเขา) จำกัดความเร็วให้ต่ำกว่า 50 กม./ชม. ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะต้องแตะเบรกบ่อยๆ
ส่วนผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกคนหนึ่งพูดถึงการติดกล้อง ที่แต่ละจุดอยู่ไม่ห่างกันมากนัก ทำให้ต้องคอยเบรก และทำให้การขับขี่เสียจังหวะ ซึ่งเขาอ้างว่าเพิ่งจะเสียค่าปรับจากเส้นทางนี้ และบางคนระบุว่าการเร่งเครื่องยนต์สลับกับการเบรก อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือชนท้ายรถคันอื่น
ผู้ใช้เส้นทางเชื่อบางช่วงกำหนด "ความเร็ว" ไม่เหมาะสม
สอบถามคนใช้เส้นทางนี้ บางคนระบุว่า บางจุดกำหนดความเร็วต่ำเกินไป แทนที่จะลดอุบัติเหตุ อาจทำให้เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุเพิ่ม โดยเสนอให้ลดจำนวนกล้องและเห็นว่ากำหนดความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. เป็นอัตราความเร็วที่เหมาะสม
พ.ต.ท.เกียรติพร สวัสดิเทพ สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 5 ระบุว่า เส้นทางในช่วงนี้ มีกล้องทั้งหมด 24 ตัว เป็นกล้องจับความเร็ว 6 ตัวเท่านั้น แบ่งเป็นฝั่งขาเข้า 3 ตัว และฝั่งขาออก 3 ตัว ซึ่งจะติดตั้งตรงจุดที่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ส่วนที่เหลือ เป็นกล้องตรวจการณ์ ติดตั้งไว้เพื่อกรณีเหตุฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุและรถเสีย เป็นต้น
เราทำแผนที่เพื่อให้เห็นความชัดเจนยิ่งขึ้น ช่วงที่กำลังเป็นปัญหา คือ ช่วงกาดแม่ทาป่าเปา อ.แม่ทา จ.ลำพูน ถึงช่วง กาดทุ่งเกวียน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เส้นทางช่วงนี้เป็นภูเขา ระยะทางประมาณ 30 กม.
ส่วนป้ายเตือนความเร็ว เป็นความรับผิดชอบของฝ่ายวิศวกร กรมทางหลวง ที่คำนวณอัตราความเร็วเพื่อความปลอดภัย ส่วนตำรวจทางหลวงเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายเท่านั้น
กล้องที่ติดในเส้นทางดังกล่าว เป็นโครงการระบบแจ้งเตือนภัยบนทางหลวง ซึ่งตำรวจทางหลวงเสนอโครงการต่อกองทุนความปลอดภัยบนท้องถนน โดยอนุมัติผ่านกรมทางหลวง งบประมาณ 47 ล้านบาท ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการทดสอบระบบการใช้งาน ซึ่งยืนยันว่า ยังไม่มีการเรียกค่าปรับจากประชาชน
อ่านข่าวอื่น :
รวบ "เชษฐ์ ปาดัง" สั่งฆ่า "หมีป่าบอน" คนสนิท "เสี่ยแป้งนาโหนด"