วันนี้ (28 พ.ค.2567) กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) โดย สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับ นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบพื้นที่ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นรอยตีนสัตว์โบราณ บริเวณถ้ำวง ต.แสนตอ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา
ผลการตรวจสอบพบว่าบริเวณดังกล่าวเป็นหินโผล่ของหินปูน ที่มีลักษณะภูมิประเทศแบบคาสต์ อยู่ในหมวดหินผาหวด กลุ่มหินงาว อายุประมาณ 290 - 250 ล้านปี มีสภาพแวดล้อมโบราณแบบทะเลตื้น และพบซากดึกดำบรรพ์กลุ่มไครนอยด์ซึ่งเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเล
โดยบริเวณที่พบว่ามีลักษณะคล้ายรอยตีนสัตว์ขนาดใหญ่หรือคล้ายรอยพระพุทธบาท เกิดจากหินปูนบริเวณดังกล่าวถูกกัดกร่อนจากน้ำฝนซึ่งเป็นกรดอ่อน ๆ และผุพังแตกหักกลายเป็นเศษหินขนาดต่าง ๆ กัน เกิดเป็นธรณีสัณฐานรูปร่างลักษณะต่าง ๆ ที่สวยงาม โดดเด่นได้
น.ส.กมลลักษณ์ วงษ์โก นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 และผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา จ.ลำปาง อธิบายว่า เมื่อตรวจสอบแล้วเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะหินโผล่ที่มีรอยแตกคล้ายรอยตีนสัตว์ขนาดใหญ่ ชาวบ้านบ้านจึงเรียกกันว่า "รอยเท้าราชสีห์" เป็นที่เคารพสักการะเพื่อความสิริมงคลและความปลอดภัยเมื่อเข้ามาหาของของป่า
สำหรับการศึกษารอยตีนสิ่งมีชีวิตต้องพิจารณาว่าพบร่องรอยแนวทางเดินหรือไม่ มีระยะช่วงก้าวและขนาดรอยตีนที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งร่องรอยดังกล่าวไม่พบหลักฐานว่าเป็นรอยตีนสัตว์โบราณแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การสำรวจทางธรณีวิทยาในพื้นที่เบื้องต้นได้พบซากดึกดำบรรพ์พลับพลึงทะเล (Crinoidea) ที่สามารถพบได้ทั่วไปในชั้นหินปูนทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งบ่งบอกว่าพื้นที่นี้เคยเป็นท้องทะเลในยุคเพอร์เมียนที่เก่าแก่กว่ายุคไดโนเสาร์ และได้เสนอให้มีการสำรวจเพิ่มเติมเพื่อเป็นจุดท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาในพื้นที่ต่อไป
อ่านข่าว : "หมอล็อต" ชี้ลิงลพบุรีสุขภาพแย่ เครียด-ขี้เรื้อน-ขาดอาหาร