เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 รัฐสภาไอร์แลนด์รับรองรัฐปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการ พร้อมเชิญธงปาเลสไตน์ขึ้นสู่ยอดเสาที่หน้าอาคารรัฐสภาในกรุงดับลิน เคียงคู่กับธงสหภาพยุโรปและธงชาติยูเครน
ไซมอน แฮร์ริส นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ ระบุว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นท่าทีครั้งสำคัญและเป็นหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ โดยสภาไอร์แลนด์ใช้เวลาหารือประเด็นนี้ถึง 4 ชั่วโมง ซึ่งหลังมติผ่านสภา ผู้นำไอร์แลนด์ระบุว่า หวังว่าชาวปาเลสไตน์จะได้รับความหวังว่าในชั่วโมงอันมืดมนนี้ ไอร์แลนด์ยังอยู่เคียงข้างพวกเขา และหวังว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปจะเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากจำเป็นต้องใช้กลไกทุกอย่างเท่าที่มีเพื่อต่อรองและผลักดันให้เกิดการหยุดยิงขึ้นในที่สุด จนนำมาซึ่งอิสรภาพของตัวประกันที่ถูกจับไปในกาซา
อ่านข่าว : "ไอร์แลนด์-นอร์เวย์-สเปน" เตรียมรับรอง "รัฐปาเลสไตน์"
นอกจากไอร์แลนด์แล้ว ยังมีนอร์เวย์และสเปนที่รับรองรัฐปาเลสไตน์ในวันเดียวกัน ตามที่ประกาศกำหนดการไว้ก่อนหน้านี้ โดยในบรรดา 3 ประเทศที่แสดงท่าทีสนับสนุนปาเลสไตน์ อิสราเอลก็มีท่าทีไม่พอใจสเปนมากที่สุด หลังจากกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลเรียกตัวเอกอัครราชทูตประจำกรุงดับลิน ออสโล และมาดริดกลับประเทศ พร้อมเรียกตัวเอกอัครราชทูตทั้ง 3 ชาติในเทลอาวีฟเข้าพบเพื่อแสดงการคัดค้าน และให้รับชมวิดีโอภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2023
"ผู้นำสเปน" ชี้รับรองรัฐปาเลสไตน์ต่อต้านกลุ่มฮามาส
ขณะที่ เปโดร ซานเชส นายกรัฐมนตรีสเปน แถลงก่อนการรับรองของสภา ว่า สเปนจะรับรองรัฐปาเลสไตน์ ครอบคลุมพื้นที่เขตกาซาและเวสต์แบงก์ที่อยู่ภายใต้องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ โดยมี East Jerusalem หรือเยรูซาเล็มตะวันออก เป็นเมืองหลวง
พร้อมระบุว่า สเปนจะไม่รับรองการเปลี่ยนแปลงขอบเขตดินแดนใดๆ ของปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นหลังปี 1967 เว้นเสียแต่ว่าทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวร่วมกัน และย้ำว่าความเคลื่อนไหวของสเปนไม่ได้มีขึ้นเพื่อต่อต้านอิสราเอล แต่เป็นการต่อต้านกลุ่มฮามาส องค์กรก่อการร้ายที่คัดค้านแนวทาง 2 รัฐ
ส่วนในเมืองรามัลลาห์ ที่เวสต์แบงก์ อาคารศาลาว่าการเมืองติดตั้งธงสเปน ไอร์แลนด์ และนอร์เวย์ผืนใหญ่ เคียงข้างธงปาเลสไตน์และแอฟริกาใต้ ท่ามกลางความยินดีของประชาชนที่บางส่วนระบุว่า รู้สึกยินดีที่ได้รับการรับรองเป็นสากลและหวังจะได้รับการรับรองรัฐปาเลสไตน์เพิ่มขึ้นจากนานาประเทศ จนได้รับเอกราชและสิทธิเต็มรูปแบบ
ความเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนับจากนี้ หลังการรับรองรัฐปาเลสไตน์ของ 3 ชาติยุโรป คือ หน่วยงานทางการทูต ไม่ว่าจะเป็นสถานกงสุลหรือหน่วยงานย่อยอื่นๆ ในเวสต์แบงก์หรือเยรูซาเล็มตะวันออก จะยกสถานะขึ้นเป็นสถานเอกอัครราชทูต ส่วนผู้แทนทางการทูต เช่น กงสุลใหญ่เดิม จะได้รับตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตแทน
"อิสราเอล" ตอบโต้รุนแรงค้านรับรองรัฐปาเลสไตน์
ด้านฝ่ายอิสราเอลโจมตีการรับรองรัฐปาเลสไตน์ของทั้ง 3 ประเทศว่าเป็นการตบรางวัลให้การก่อการร้าย หลังเหตุโจมตีที่กลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์อื่นบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2023 แต่ถูกโต้กลับว่า การรับรองรัฐปาเลสไตน์ถือเป็นบทลงโทษอิสราเอลที่ใช้ความรุนแรงโหดเหี้ยมต่อชาวปาเลสไตน์ จากการเปิดสงครามในเขตกาซามากกว่า
นักการทูตจากหลายประเทศ ประเมินว่า อิสราเอลแสดงท่าทีโต้ตอบรุนแรง เนื่องจากไม่ต้องการให้ประเทศอื่นๆ เจริญรอยตามไอร์แลนด์ นอร์เวย์และสเปน
ขณะที่ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สโลวีเนีย, มอลตา และเบลเยียม แสดงท่าทีว่ามีแนวโน้มอาจจะรับรองรัฐปาเลสไตน์เช่นกัน แต่ในระยะหลังรัฐบาลเบลเยียมไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อีก เนื่องจากใกล้ถึงกำหนดการเลือกตั้ง โดยจะรอรับรองพร้อมสมาชิกอียูชาติอื่นๆ ซึ่ง อเล็กซานเดอร์ เดอ โกร นายกรัฐมนตรีเบลเยียม ระบุว่า จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าการประกาศรับรองชาติเดียวเป็นเชิงสัญลักษณ์
อ่านข่าว
อิสราเอลโจมตีค่ายในราฟาห์ ตาย 45 คน หลังฮามาสถล่มเทลอาวีฟ