นายทศพล ระบุว่า ข้อสรุปการแก้ปัญหาไฟป่าฝุ่นควัน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ด้วย 4 ตัวชี้วัดที่สำคัญ หลายตัวยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้ดีขึ้นร้อยละ 50 เช่น จุด Hotspot หรือ จุดความร้อน ในปี 2566 จุดความร้อนมีประมาณ 13,000 จุด ปีนี้ลดลงเหลือประมาณ 8,000 กว่าจุด หรือ ลดลงไปประมาณ 30% ส่วนค่า PM 2.5 ปีนี้ มีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 87 วัน จากปีที่แล้ว เกินไป 112 วัน ซึ่งถือว่าดีขึ้นมา 20%
นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
ในส่วนของพื้นที่เผาไหม้ ปีนี้ ลดลงไปถึง 50% จากในปี 2566 มีพื้นที่เผาไหม้ 1.1 ล้านไร่ ปีนี้ เหลือประมาณ 5 แสนล้าน แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการดับไฟดีขึ้น ขณะที่ตัวเลขของจำนวนผู้ป่วยที่เข้าไปรับการรักษากับแพทย์ ก็ลดลงเกือบ 50%
สรุปได้ว่าจาก 4 ตัวชี้วัดมี 2 ตัว ที่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงประเมินว่าสถานการณ์ดีขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ยังไม่ถึงมาตรฐานที่อยากได้ จึงเป็นการบ้านที่จะต้องมีการถอดบทเรียนพูดคุยในรายละเอียด และ วางแผนเพื่อที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาในปีต่อไป
ปีนี้คนดับไฟของเราเพิ่มขึ้น ทำให้ถึงแม้จะมีคนแอบจุดไฟอยู่ แต่เราก็รู้เร็ว ดับเร็ว มันก็ทำให้พื้นที่เผาไหม้หายไปครึ่งหนึ่ง ในปีถัดไป เราจะเพิ่มบทบาทภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ดูแลรักษาไม่ให้มีจุดความร้อน หรือ ถ้ามี ก็มีให้น้อยที่สุด
สำหรับสิ่งที่้เป็นอุปสรรคปัญหาที่สำคัญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มองว่าโจทย์ใหญ่ คือ จะทำยังไงให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาจุดความร้อนในผืนป่าอนุรักษ์ เพราะเมื่อวิเคราะห์ในรายละเอียดของจุดความร้อนซึ่งเป็นสาเหตุของฝุ่นควัน พบว่ากว่าร้อยละ 50 มาจากป่าอนุรักษ์ พื้นที่ประมาณ 5.3 ล้านไร่ ซึ่งมีชุมชนอยู่เกือบ 400 หมู่บ้าน มีประชากรหลายหมื่นคน คนกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายในการทำงานร่วมกันเพื่อป้องกัน และ แก้ไขปัญหานี้ เพราะหากลดจุดความร้อนในป่าอนุรักษ์ได้ ฝุ่นควันก็น่าจะลดลง
นายทศพล ยังเน้นย้ำว่าหลักการพื้นฐานในการแก้ปัญหาไฟป่า คือ เรื่องธรรมาภิบาล การบริหารในสมัยใหม่ คือ ภาครัฐต้องบูรณาการการทำงานให้มากขึ้น กระจายอำนาจมากขึ้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชน และ หน่วยงานอื่นๆ
รายงาน : พยุงศักดิ์ ศรีวิชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ