"บ้านเวียงเหล็ก" เรือนทรงไทยโบราณ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นของ "ดำรงค์ พุฒตาล" ผู้ก่อตั้งนิตยสารคู่สร้างคู่สม ในบริเวณดังกล่าว ยังแบ่งเป็นที่พักและคาเฟ่สไตล์อบอุ่น ด้วยบรรยากาศร่มรื่นด้วยสีเขียวของต้นไม้ เหมาะกับการพักผ่อนสบาย ๆ สถานที่นี้จึงเป็นจุดนัดพบของสองวัยเก๋า ผู้มากด้วยประสบการณ์ระหว่าง "สุทธิชัย หยุ่น" กับ "ดำรง พุฒตาล" ซึ่งต่างอยู่บนเส้นทางของนักสื่อสารมวลชนตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน และได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวงการจากจอขาว-ดำ มายุค "อนาล็อก" และ "ดิจิทัล" ในปัจจุบัน
"ดำรง" เป็นอดีตพิธีกรมืออาชีพชื่อกระฉ่อน เคยอยู่เบื้องหลังในการผลักดันกฎหมายห้ามโฆษณาแอลกอฮอล์ก่อน 22.00 น. และ "ยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ" หรือแม้แต่จัดตั้ง "มูลนิธิเมาไม่ขับ" หลากหลายเส้นทางชีวิตที่ผ่านจากวัยรุ่น วัยทำงาน จนล่วงเข้าสู่ปัจฉิมยาม ในวัย 80 ปี มีหลากเรื่องราวที่น่าสนใจและสามารถนำมาถ่ายทอดเป็นประสบการณ์ในคนรุ่นหลังได้ รายการ "คุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" จับเข่าเปิดใจกับบุคคลระดับตำนานดังกล่าว
ประเดิมเรื่องราววัยเด็ก "ดำรง พุฒตาล" บิดาเป็นชาวบ้านธรรมดา มีอาชีพเรือรับจ้างโยงซุง แต่ความทะเยอทะยานทำให้ใฝ่เรียนรู้ รักการอ่าน จากหนังสือเล่มแรก "พล นิกร กิมหงวน" ฝีมือการประพันธ์ของ ป. อินทรปาลิต ที่จัดพิมพ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2482 - 2511 มากกว่าพันตอน มีเนื้อหาออกไปในแนวสนุกสนานครื้นเครง จัดเป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน ทำให้ ด.ช.ดำรง ในขณะนั้น ได้เปิดประตูสู่โลกวรรณกรรม และเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต
"หนังสือพล นิกร กิมหงวน เป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวคนมีสตางค์ ชีวิตหน้าร้อนจะต้องไปเที่ยวหัวหิน ขับรถบูอิค (รถยนต์ระดับหรูของสหรัฐอเมริกาในเครือเจเนรัลมอเตอร์) ทำให้ได้ซึมซับอะไรหลายอย่างเลย กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัวเองมีความมุ่งมั่นจะเป็นคนเก่งหาเงินได้มาก ๆ เพื่อใช้ชีวิตที่อยากจะเป็น จนปัจจุบันมีบ้านที่หัวหิน เชียงใหม่ เชียงราย และแฟลตที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ" ดำรง กล่าว
"ผมไม่ได้พูดอวด หรือโชว์อะไร แต่สิ่งที่อยากให้เห็น คือ ความทะเยอทะยานตั้งแต่เด็ก เลยทำให้มีความตั้งมั่นและลงมือทำตามแนวทางของตัวเอง เป็นสิ่งที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จในชีวิต"
เส้นทาง 47 ปี ในวงการสื่อมวลชนบน "จอแก้ว"
กลับมาสู่บทบาทอาชีพสื่อมวลชน มีชื่อเสียงในฐานะพิธีกรมืออาชีพ "ดำรง" บอกว่า ออกโทรทัศน์มาตั้งแต่ปี 2510 - 2557 ผ่านมาทั้งระบบขาวดำ, อนาล็อก 625 เส้น, 525 เส้น กระทั่งมาเป็นระบบทีวีดิจิทัล เห็นการเปลี่ยนแปลงของพิธีกรในแต่ละยุค จนถึงปัจจุบัน และมักจะเกิดคำถามขึ้นในใจทุกครั้งที่ได้ดูรายการโทรทัศน์
"ผมไม่เคยนั่งไขว่ห้างออกทีวีเลย พูดตามตรงก็ คล้ายกับยกส้นเท้าให้คนดู เพราะฉะนั้น ใครมารายการเจาะใจ ซึ่งเป็นรายการที่ดังที่สุดในชีวิต ผมจะขอร้องแขกว่า กรุณาอย่านั่งไขว่ห้าง แต่ปัจจุบันนี้จะเห็นรายการคนนั่งไขว่ห้าง โดยเฉพาะสุภาพสตรีนุ่งกระโปรงสั้น ซึ่งสมัยก่อนไม่มี"
…เมื่อถามว่ารู้สึกยังไง กับสิ่งที่เกิดขึ้น จะบอกว่าเราคิดแบบคนแก่หรือไม่?…
"ดำรง" มองว่า ประเทศไทยมีวัฒนธรรม ดังนั้นการเป็นโฆษก, พิธีกร ควรเป็นแบบอย่างที่ดีโดยเฉพาะเรื่องการพูด ในอดีตเคยไปบรรยายให้กับผู้ประกาศที่สอบกรมประชาสัมพันธ์จะเน้นเสมอ "คุณต้องพูดภาษาไทยให้ถูกต้อง" สมัยนั้นการเข้าไปสอนจะได้ผล ยิ่งพอมาทำหนังสือคู่สร้างคู่สม มีคอลัมน์ "ภาษาไทยในสื่อ" ทำหน้าที่จับผิดคนที่พูดภาษาไทยออกจอ โดยมีอาจารย์ที่เก่งภาษาไทยร่วมทำงาน นำคำที่พิธีกรพูดผิดทางหน้าจอทีวีแก้ไขให้ประชาชนใช้ถูกต้อง แต่ในปัจจุบันมีการปล่อยปละละเลยไม่มีใครมาคอยท้วงติง ทำให้มีการพูดผิดพูดถูกจนเป็นความเคยชิน
สอดคล้องกับความน่ากังวลรายการข่าวปัจจุบัน ไม่ได้เป็นการบอกเล่าเหตุการณ์ ใครทำอะไรที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ ผลที่ได้รับ ผลกระทบ หรือมีความรู้อย่างไร แต่ตอนนี้การเล่าข่าวเป็นการ "ขยี้" ข่าวหนึ่งเรื่องที่เป็นกระแสสังคม ใช้เวลาเล่าไม่ต่ำกว่า 30 นาที – 1 ชั่วโมง เพียงเพื่อต้องการเรตติ้ง อีกทั้งการเข้าถึงข่าวสารในปัจจุบันง่าย ทุกคนเป็นนักข่าวได้เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือ ยิ่งทำให้แวดวงข่าวมีการเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
"คู่สร้างคู่สม" จากกระดาษ สู่ "On Radio"
ปัจจุบันนอกจากเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประธานรัฐสภาแล้ว "ดำรง" ยังจัดรายการวิทยุ "คู่สร้างคู่สม On Radio" รายการเล่าเรื่องสบาย ๆ ในสิ่งที่ไปพบไม่ว่าจะเป็นการไปต่างประเทศกับประธานรัฐสภา เช่น เดินทางไป "กัมพูชา" ก็มีประสบการณ์ได้พบกับ "พล.อ.ฮุน มาเนต" นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และ สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน ประธานองคมนตรีกัมพูชา ที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายที่ไม่ได้เป็นในมุมทางการมากเท่าไหร่ ด้วยจังหวะการเล่าเรื่องแบบสบายไม่เครียด แต่สามารถสื่อสารได้ดีเสมือนว่าได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ด้วย ทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งชอบฟัง
ส่วนเส้นทางการเมืองในฐานะอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ดำรง บอกว่าเป็น สว. 2 สมัย นานถึง 10 ปี เดิมจากที่คิดว่า จะได้ทำงานเพื่อตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของทุกฝ่ายการเมือง แต่กลับต้องพบความผิดหวังเพราะไม่สามารถทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งที่มีอำนาจในการที่จะถอดถอนนายกรัฐมนตรี ศาล ผู้พิพากษา รัฐมนตรี แต่ความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ ทั้ง ๆ ที่บ้านเมืองก็เกิดการคอร์รัปชัน
แต่สิ่งที่ดีที่สุดของการเป็น สว. คือ การที่ได้เสนอกฎหมายให้คนอายุ 60 ปี เป็นต้นไป สามารถเข้าชมสถานที่ราชการโดยไม่ต้องเสียค่าเข้าชม เช่น พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ ในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ กระทั่งได้รับความเห็นชอบและมีผลมาจนถึงทุกวันนี้
"ผมเคยไปประเทศอังกฤษ จะเข้าไปดูพระราชวังผมก็ไปกับเพื่อน กำลังเข้าไปซื้อบัตรเข้าชม แต่เจ้าหน้าที่ก็ถามว่าอายุเท่าไหร่ เพื่อนผมก็บอก 60 ปี เขาก็บอกไม่ต้องซื้อ ผมก็ถามทำไม เขาบอกเป็นกฎหมายไม่เก็บค่าผ่านประตูสำหรับคนอายุ 60 ปี และอีกหลายประเทศที่ไปเจอมา เลยรู้สึกว่ามันดี จึงมาเสนอเพื่อใช้ในประเทศไทย"
จุดกำเนิด "มูลนิธิเมาไม่ขับ-กม.คุมฯแอลกอฮอล์"
ดำรง เล่าว่า ครั้งหนึ่งเดินทางไปรายงานข่าวกีฬาโอลิมปิกที่ลอสแอนเจลิส ช่วงว่าง ๆ ไม่ได้ไปสนามกีฬา ได้นั่งดูทีวีอยู่ในห้องแล้วเห็นผู้หญิงอเมริกันคนหนึ่งร้องไห้คร่ำครวญออกทีวีว่า "เธอมีลูกสาวอยู่คนเดียว แล้วก็หวังให้ลูกสาวคนนี้เป็นที่พึ่งเมื่อเธอแก่ตัวลง แต่แล้วลูกก็ถูกคนเมาขับรถชนตาย จึงมาเรียกร้องการดูแลรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น" นั่งดูแล้วน้ำตาซึม และก็กลับมาคิดว่า ประเทศไทยก็มีคนเมาขับรถเต็มถนน น่าจะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง ประกอบกับ "นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช" ก็ได้รับนโยบายมาจากปลัดกระทรวงในสมัยนั้นให้ชวน "ดำรง" ทำงานรณรงค์เมาไม่ขับ ได้รับการสนับสนุนองค์กรต่าง ๆ จากประชาชน
กระทั่งได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิเมาไม่ขับโดย นายแพทย์แท้จริง เป็นประธานมูลนิธิเมาไม่ขับ ทำงานอย่างเต็มที่ ต่อสู้ให้กับเหยื่อที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งร้องเรียนผ่านตำรวจ ผ่านรัฐมนตรี แต่ที่ไม่จริงจังก็คือบ้านเมือง และรัฐบาล
"วันหนึ่งผมก็ไปประชุมกับ นายแพทย์แท้จริง วันนั้นรัฐมนตรีฯมหาดไทย ได้เกณฑ์ทหาร ตำรวจ มาประชุม พอเขาจะปิดประชุมนายแพทย์แท้จริง ก็บอกว่าท่านประธานครับ "คุณดำรง" ประธานมูลนิธิเมาไม่ขับมีข้อเสนอให้มีการตรวจแอลกอฮอล์ทันทีเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ในที่ประชุมประธานก็เห็นด้วย และได้บอกอธิบดีกรมตำรวจว่าให้ดำเนินการตามที่คุณดำรงเสนอเอาไว้ แต่พอตอนบ่ายมีจดหมายออกมาว่า ให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตำรวจ ผมจึงมองว่าประเทศเรามันไม่เจริญเพราะมันขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ"
อีกความภูมิใจที่เป็นผลงานของมูลนิธิเมาไม่ขับ "ดำรง" ผลักดันให้มีกฎหมายควบคุมโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเวลา 22.00 น. ด้วยการรณรงค์ผ่านทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันคุยที่รัฐสภา พร้อมกับทำเรื่องเสนอไปยัง "ทักษิณ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
กระทั่งมีงานเลี้ยงฉลองละศีลอดรอมฏอน ที่ทำเนียบรัฐบาล จังหวะที่นั่งอยู่โต๊ะเดียวกับ "ทักษิณ" มีผู้เดินเข้ามาบอกว่า "อนุมัติแล้วครับ" ไม่ให้โฆษณาเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ก่อน 4 ทุ่ม
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกฎหมายออกมา แต่ผู้ประกอบการบางรายก็มีวิธีเลี่ยงด้วยการโฆษณาแฝง ไม่ได้โฆษณาเบียร์ แต่โฆษณาโซดา ที่มีขวดเหมือนเบียร์ ซึ่งสมัยก่อนกรมประชาสัมพันธ์จะต้องท้วงติงตรวจสอบ แต่ก็มีการปล่อยผ่าน ซึ่งในสมัยนี้ก็จะต้องเป็นหน้าที่ของ กสทช. ในการควบคุมดูแล
ขอแค่ร่างกายแข็งแรง "ความสุขในวัย 80 ปี"
ถ้าถามว่าในวัย 80 ปี ที่ผ่านอะไรมาเยอะ คิดว่ามีอะไรที่อยากจะทำและยังไม่ได้ทำ "ดำรง" บอกว่า หากเป็นเรื่องงานก็คงไม่มีแล้ว เพราะได้ทำในสิ่งที่อยากทำมาหมดแล้ว ตอนนี้ขอเพียงแค่ให้มีร่างกายที่แข็งแรง
สิ่งสำคัญคืออยากมีเพื่อนกินข้าว เพราะตอนนี้เพื่อนเริ่มทยอยเสียชีวิตไปทีละคน
ดำรงทิ้งท้ายว่า การดูแลสุขภาพตอนนี้ จะเน้นในเรื่องของการกินอาหารให้เป็นยา ไม่กินของหวาน น้ำอัดลม ไม่ทานอาหารเย็น สาเหตุที่ไม่ทานอาหารเย็นเพราะจะทำให้หัวใจทำงานหนักในขณะที่นอน เนื่องด้วยระบบย่อยอาหาร รวมทั้งออกกำลังกายด้วยการเดินเร็ว เดินช้า สลับกันไปทุกวัน
พบกับ: รายการคุยนอกกรอบกับสุทธิชัย หยุ่น ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เวลา 21.30-22.00 น.ทุกวันพฤหัสบดี
อ่านข่าว : ปูพรมค้น "จิงโจ้แดง" ห่วงตกใจหนีวิ่งกล้ามเนื้อสลายเสี่ยงตาย
"บิ๊กต่อ-ภรรยา" เบี้ยว ป.ป.ช.รับทราบข้อหาปมซุกบ้านอังกฤษ
กาง 4 แนวทางคำวินิจฉัย ก.พ.ค.ตร.ปม "บิ๊กโจ๊ก" อุทธรณ์ปลดออกราชการ