ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ทาปลาดุก" สกัดบุหรี่ไฟฟ้า ก่อนเด็กใช้ยาเสพติด

ภูมิภาค
31 พ.ค. 67
10:46
211
Logo Thai PBS
"ทาปลาดุก" สกัดบุหรี่ไฟฟ้า ก่อนเด็กใช้ยาเสพติด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปัญหาเด็กและเยาวชนเสี่ยงเข้าสู่วงจรการใช้ยาเสพติดยังคงน่าห่วง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ผู้ปกครองใช้ยาเสพติด ทำให้ชุมชน และ โรงเรียนใน จ.ลำพูน ต้องสร้างกลไกการเฝ้าระวัง และ ป้องกัน เด็กๆ ในวัยอยากรู้อยากลอง และ สิ่งเสพติดเข้าถึงได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว

ห้องน้ำนักเรียนที่ได้รับการปรับปรุงให้ลดจุดอับสายตา เป็นหนึ่งในมาตรการเฝ้าระวังของครูโรงเรียนบ้านทาป่าสัก ต.ทาปลาดุก อ.แม่ทา จ.ลำพูน หลังพบว่านักเรียนบางคนมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ และใช้บุหรี่ไฟฟ้า ที่สั่งซื้อผ่านทางออนไลน์

แต่เพราะห้องน้ำไม่ได้เป็นจุดเสี่ยงเพียงจุดเดียว และอาณาเขตของโรงเรียนที่ค่อนข้างกว้าง ทำให้ทางโรงเรียนต้องหางบประมาณติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มจากที่มีอยู่ 5 ตัว เพิ่มเป็น 11 ตัว เพื่อช่วยในการสังเกตพฤติกรรมของเด็กกลุ่มเสี่ยง

ณัฐวัฒน์ สมมะโน ผอ.โรงเรียนบ้านทาป่าสัก

ณัฐวัฒน์ สมมะโน ผอ.โรงเรียนบ้านทาป่าสัก

ณัฐวัฒน์ สมมะโน ผอ.โรงเรียนบ้านทาป่าสัก

ณัฐวัฒน์ สมมะโน ผอ.โรงเรียนบ้านทาป่าสักยอมรับว่า บุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นสิ่งเสพติดที่ครูกังวลมากที่สุด เพราะเด็กเข้าถึงได้ง่าย และ มีรูปลักษณ์ที่สังเกตได้ยาก เพราะออกแบบมาคล้ายของเล่น หรือ แฟลชไดร์ฟ

ที่ผ่านมา เคยมีเด็กชั้นประถมศึกษาเห็นพบนักเรียนรุ่นพี่ชั้นมัธยมใช้บุหรี่ไฟฟ้า จึงมาแจ้งให้กับคุณครูเข้าไปตรวจยึด และ แจ้งให้กับผู้ปกครองรับทราบเพื่อช่วยในการเฝ้าระวัง

เราให้คุณครูช่วยสังเกตสิ่งของแปลกๆ ที่เด็กใช้ หรือ สั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ และ ให้นำมาส่งที่โรงเรียน นอกจากนี้ ยังให้เฝ้าระวังกลิ่นแปลกๆ ประเภท กลิ่นแอปเปิล กลิ่นเมล่อน หรือ กลิ่นแปลกปลอมอื่นๆ ที่มาจากตัวเด็กให้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นบุหรี่ไฟฟ้า ก็จะทำการตรวจกระเป๋าเพื่อค้นหาสิ่งของต้องห้าม

บุหรี่ไฟฟ้า นอกจากมีโทษต่อสุขภาพ ทำให้เด็กปวดศีรษะ สมาธิสั้น และ มีภาวะซึมเศร้า ยังอาจเป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กใช้ยาเสพติดอื่นๆ โดยเฉพาะ ยาบ้า เพราะตำบลทาปลาดุก เป็นหนึ่งในเส้นทางลำเลียงยาเสพติด และ ชาวบ้านบางส่วน ก็เป็นผู้เสพ

"อยากให้พ่อเลิกยาบ้า" "ขอให้ทุกคนเลิกยาเสพติด" "อยากให้พ่อแม่เข้าใจ และ ฟังที่ลูกพูด" เป็นบางข้อความ ที่เด็กๆสะท้อนผ่านกิจกรรมที่ชุมชน ร่วมกับองค์กรภาคเอกชนจัดขึ้น โดยเด็กๆ หลายคนรับรู้ว่าผู้ปกครองใช้ยาเสพติด และ มองไปอีก 10 ปีข้างหน้า ก็เชื่อว่าอาจมีชีวิตไม่ต่างจากคนในครอบครัว

นงค์เยาว์ กันเนตรกาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.บ้านทาป่าสัก

นงค์เยาว์ กันเนตรกาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.บ้านทาป่าสัก

นงค์เยาว์ กันเนตรกาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.บ้านทาป่าสัก

นงค์เยาว์ กันเนตรกาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.บ้านทาป่าสัก บอกว่า ชุมชนจะพยายามนำเด็กมาร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เยี่ยมบ้านผู้สูงวัย ทำกิจกรรมฟ้อนรำ ทำน้ำยาล้างจาน หรือ ปลูกผัก สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กกล้าแสดงออก และ ลดช่องว่างระหว่างวัย ทำให้เด็กกล้าเปิดใจบอกเล่าปัญหา โดยเด็กผู้ชาย หรือ ผู้หญิงที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เราพบว่าครอบครัวเขามีปัญหา ผู้ปกครองเสพยาบ้าด้วย หรือ บางครอบครัวก็หย่าร้าง ส่งผลกับเด็ก ต้องอยู่กับตายาย

เด็กบางคน เริ่มมีความรู้สึกว่าไม่อยากเป็นเหมือนพ่อแม่ เราก็จะติดตามเฝ้าดูเด็ก และ นำรุ่นพี่นักศึกษามหาวิทยาลัยมาทำกิจกรรมกลุ่ม เพื่อเป็นตัวกระตุ้นว่า หากหนูตั้งใจเรียน หนูจะเป็นพยาบาล เป็นคุณครู ทำให้เด็กๆเกิดแรงอึดฮึดสู้ ว่าเราสามารถเปลี่ยนได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนพ่อแม่ และ มีอนาคตที่ดีได้
สมชาย ตันโยง กำนันตำบลทาปลาดุก

สมชาย ตันโยง กำนันตำบลทาปลาดุก

สมชาย ตันโยง กำนันตำบลทาปลาดุก

สมชาย ตันโยง กำนันตำบลทาปลาดุก ให้ความเห็นว่า จริงๆ แล้วการแก้ไขปัญหายาเสพติด เราไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องยาเสพติดก็ได้ แต่เน้นให้เด็กได้มีกิจกรรม เกิดความสัมพันธ์ และ พบปะพูดคุยกันบ่อยๆ จะทำให้เด็กมีความเข้มแข็งในเรื่องจิตใจ และ เปิดเผยปัญหา เพื่อให้เราได้เข้าไปแก้ไขให้ตรงจุด

เราได้พี่เลี้ยงจาก รพ.สต. ซึ่งเป็นผู้หญิง เวลาทำงานจะพูดกับเด็กๆ ได้ดีกว่า ในขณะที่ทางอำเภอจะให้กวดขันเข้มงวด แต่ความเป็นจริงมันต้องทำงานพร้อม ๆ กัน จึงได้ทีมงานหมอช่วยอีกแรงหนึ่ง

มาตรการเฝ้าระวังยาเสพติดในกลุ่มเยาวชนของชุมชนในตำบลท่าปลาดุก ดำเนินการในนาม เครือข่ายพลังแผ่นดินต้านยาเสพติดลุ่มน้ำทา มีการทำงานต่อยอดมานานกว่าสิบปี ถือเป็นหนึ่งในชุมชนแก้ปัญหายาเสพติด ที่มีความเข้มแข็ง และ เป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ทั้งระดับภูมิภาค และ ระดับประเทศ

รายงาน : พยุงศักดิ์ ศรีวิชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง