ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดใจ "แสงชัย" ค่าแรง 400 บาท อย่ากระชากแรงจน SMEs ล้มตาย

เศรษฐกิจ
31 พ.ค. 67
14:19
472
Logo Thai PBS
เปิดใจ "แสงชัย" ค่าแรง 400 บาท อย่ากระชากแรงจน SMEs ล้มตาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ทันทีที่รัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ แม้จะมีเสียงชื่นชมจากแรงงานที่รายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็มีเสียงคัดค้านจากกลุ่มผู้ประกอบการ เนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น หลังรัฐบาลประกาศว่า ค่าแรงจะขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งอาจไม่เป็นธรรมกับจังหวัดเล็กๆที่มีมูลค่าเศรษฐกิจน้อยกว่าจังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่า คือ การผลักภาระของรัฐบาลมากกว่าที่จะช่วยภาคธุรกิจ

"ภาคเอกชนเห็นด้วยในการขยับขึ้นค่าแรง แต่การปรับควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ทำแบบกระชาก อย่างที่รัฐบาลกำลังจะประกาศขึ้นทั่วประเทศ" นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เปิดใจกับ "ไทยพีบีเอส ออนไลน์"

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช” ประธานสมาพันธ์ SME ไทย

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช” ประธานสมาพันธ์ SME ไทย

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช” ประธานสมาพันธ์ SME ไทย

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า การปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ส่งผลกระทบแน่นอน และที่ผ่านมาภาคเอกชนเคยเสนอทางออกเพื่อลดผลกระทบรอบด้านไปแล้ว โดยสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ การปรับยุทธศาสตร์แบบขั้นบันได และค่อยเป็นไป ไม่ใช่ในลักษณะปรับรวดเดียวแบบก้าวกระโดด 400 บาททั่วประเทศ

ประธานสมาพันธ์ SME ไทย ระบุว่า การปรับขึ้นค่าแรงควรกำหนดให้เป็นกลยุทธ์ หรือวางแผนทำเป็นระยะๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัว โดยแยกประเภทเป็นกลุ่มธุรกิจ เช่น กลุ่มธุรกิจที่สามารถปรับขึ้นค่าแรงได้ทันที ,กลุ่มที่ต้องใช้เวลาปรับตัว 6-12 เดือน และกลุ่มที่ใช้เวลามากกว่า 1 ปี ซึ่งรัฐบาลจะทำอย่างไร ดูแลคนกลุ่มนี้อย่างไร ต้องมีแผนให้ชัดเจน โดยเฉพาะการเตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะตามมาในภายหลัง

อยากให้รัฐบาลนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่13 มาเป็นแผนแม่บท หรือเป็นแนวทาง เพราะมีกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพที่จะแข่งขันได้ ว่ารัฐบาลจะทำอะไร เพื่อเตรียมการให้ SME รองรับเรื่องค่าแรง

นายแสงชัย ระบุว่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการพัฒนากำลังแรงงานให้มีทักษะสูงเฉพาะด้าน ถือเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมากในตลาดแรงงานไทย ซึ่งสมาพันธ์ฯ ต้องการและผู้ประกอบการอยากได้ คือ ทักษะหรือการอัพสกิลฝีมือแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งมีโรดแมปหรือแผนปรับขึ้นค่าแรง เช่น จาก ค่าแรง 400 บาท จะขึ้นเป็น 420 ,450, 470, 480 หรือ 500 บาท โดยรัฐบาลต้องชัดเจนและอย่าใช้ค่าแรงเป็นนโยบายหาเสียงทางการเมือง เพราะผู้ได้รับผลกระทบ คือ ตัวผู้ประกอบการที่ต้องมีต้นทุนที่เพิ่ม ในขณะที่ภาครัฐไม่ได้มาจ่ายต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตรงนี้

"ปี 2556 ปรับค่าแรงเป็น 300 บาท หลังจากนั้นอีก 3 ปี ตั้งแต่ 2557-2559 ค่าแรงก็ถูกแช่แข็ง ชี้ให้เห็นว่า การกระชากขึ้นค่าแรง แล้วไปแช่ไว้ กับการขึ้นแบบ ค่อยเป็นค่อยไปแล้วทำอย่างไร จึงจะให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถมีลำดับการขึ้นค่าแรงอย่างเหมาะอย่างไร เราไม่คัดค้านการขึ้นค่าแรง แต่ต้องมียุทธศาสตร์สำหรับกลุ่ม SME เล็ก ๆ อย่าง พ่อค้าแม่ค้า ร้านอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยว ที่มีลูกน้อง ขายได้วันละไม่กี่ร้อยบาท แต่ต้องมาแบกรับต้นทุนตรงนี้"

นายแสงชัย อธิบายว่า หากปรับขึ้นค่าแรงเพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ ต้องมองว่า การปรับ 400 บาท เป็นการปรับจากฐานล่างหรือฐานบน ตัวเลขฐานบนปรับครั้งล่าสุดอยู่ที่ 370 บาท ส่วนฐานล่าง 330 บาท ถ้าปรับที่ฐานล่าง จาก 330 ขึ้นไป 400 บาท เป็นการกระชากแรงมาก แต่ถ้าปรับจากฐานบน 370 บาทเป็น 400 บาท ผู้ประกอบการก็อยู่ยากเช่นกัน แต่อาจจะกระทบน้อย แต่ไม่ใช่ขึ้นทั่วประเทศ 400 บาท เพราะเหวี่ยงแหเกินไป ดังนั้นควรเจรจาในไตรภาคี

สำหรับกลุ่มแรงงานที่มีปัญหา และไม่ได้รับความเป็นธรรม คือ แรงงานนอกระบบ และภาคเกษตร ประมาณ 20 ล้านคน เป็นแรงงานภาคเกษตร 58 % ภาคการค้าส่งค้าปลีก 17% และภาคบริการร้านอาหาร ที่พัก โรงแรม 8% และภาคการผลิต 4-5% ที่เหลือภาคก่อสร้าง

แม้ที่ผ่านมาทางสมาพันธ์ฯ SME ไทยเสนอไปยังกระทรวงแรงงาน ให้ใช้กลไกของคณะกรรมการไตรภาคี นำกลุ่มนักธุรกิจ เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร ให้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้นเพื่อกระจายโอกาส และมีพื้นที่ที่จะกำหนดอนาคต ออกแบบรายได้ให้กับท้องถิ่นของตัวเอง แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีการตอบรับ ส่วนการให้ความช่วยเหลือของรัฐ เช่น มาตรลดค่าครองชีพ ก็ควรให้ทั้งสองฝ่าย เพราะเดือดร้อนเหมือนกัน

นายแสงชัย กล่าวว่า รัฐบาลควรช่วยยกระดับการฝึกทักษะหรือ “Upskill” เป็นการพัฒนาเพื่อยกระดับฝีมือแรงงงานให้ดีกว่าเดิม และการ Reskill คือ การสร้างทักษะใหม่ ที่จำเป็นต่อการทำงานของแรงงานไทยเช่นเดียวกับ "สิงคโปร์" ที่มีโปรแกรมอัพสกิล-รีสกิลให้กับแรงงาน

โดยเริ่มตั้งแต่เป็นเยาวชน จึงทำให้คนสิงคโปร์มีทักษะและสมรรถนะสูง ซึ่งเราอยากเห็นภาพแรงงานไทยที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันไปสู่เวทีระดับโลกได้ โดยรัฐอาจสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีความเปราะบาง เช่น ผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ รายย่อย ที่ไม่ใช่นิติบุคลหรือกลุ่มธุรกิจใหญ่

การจะช่วยให้เอสเอ็มอีไทยสามารถแข่งขันและอยู่รอดในตลาดได้ คือ ภาครัฐต้องมีมาตรการทางการเงินและอัตราดอกเบี้ยในการส่งเสริมสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เพราะเอสเอ็มอีพวกนี้ส่วนใหญ่สายป่านจะสั้นมีเงินทุนน้อยเข้าถึงแหล่งทุนยาก

ประธานสมาพันธ์ SME ไทย กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ความต้องการการพัฒนาขีดความสามารถของคนไทยในวัยแรงงานมีปีละ 5 ล้านคน ขณะที่งบประมาณภาครัฐที่ให้มาทำได้เพียงครึ่งเดียว ชี้ให้เห็นงบประมาณของประเทศ ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อส่งเสริมให้มีการสร้างงานและอาชีพ เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ เพราะในอนาคตไทยอาจจะส่งออกเอสเอ็มอีไปเติบโตในต่างประเทศ เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาเปิดกิจการร้านอาหารในไทย

ทรานส์ฟอร์ม"แรงงานนอก-ในระบบ" เฟืองหมุนเศรษฐกิจไทย

ปัจจุบันแรงงานไทยทั่วประเทศมีจำนวน 38 ล้านคน จำนวนนี้จบการศึกษาในระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่าประถมศึกษา 16 ล้านคน 42% จบแต่ประถมหรือต่ำกว่าประถม คือ วิกฤติของประเทศ ขณะที่มีแรงงานต่างด้าวในประเทศประมาร 2 ล้านคน จึงมีคำถามว่า การปรับค่าแรง 400 บาท ผู้ได้รับประโยชน์จริง ๆ คือ กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบใช่หรือไม่

ประธานสหพันธ์เอสเอ็มอีไทย บอก ต้องยอมรับความจริง ความเสมอภาคความเท่าเทียมของมนุษย์ แรงงานกลุ่มดังกล่าวจะได้ประโยชน์จากการขึ้นค่าแรง เนื่องจากเป็นแรงงานที่อยู่ในประเทศ และปัจจุบัน ยังมีแรงงานต่างชาติเข้าทำงานต่อเนื่อง เพราะได้รับค่าจ้างสูงกว่า และถือว่ามีประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจไทย เพราะถ้าไทยไม่มีแรงงานต่างด้าว ไทยอยู่ไม่ได้ ดังนั้นทำอย่างไรเพื่อให้คนกลุ่มนี้และผู้ประกอบการไทยก็อยู่ได้

ต้องทรานส์ฟอร์มหรือการเปลี่ยนแปลงแรงงาน โดยมีระบบจูงใจให้แรงงานและเอสเอ็มอีที่อยู่นอกระบบ ให้เข้าระบบ และส่งเสริมและอัพสกิลคู่ขนานไปพร้อมกัน เพราะเอสเอ็มอีจะเติบโตขึ้นได้ต้องอาศัยและพึ่งพาแรงงานในการโตไปด้วยกัน

นายแสงชัย บอกว่า การจะพัฒนาแรงงานให้ยั่งยืน ภาครัฐต้องรับฟังความคิด และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆที่เกิดขึ้น สิ่งที่อยากเห็นเรื่องการปรับค่าแรง คือ การรับฟังเสียงเอสเอ็มอีรายย่อย ดึงแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม ทั้งม.33 ม.39 และม.40 เข้ามาทั้งหมด และมีมาตรการให้ความช่วยเหลือ เช่น ลดราคาสินค้าและบริการในท้องถิ่น และการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งอาหาร ของใช้ประจำวัน เช่น ซื้อข้าวแกงได้ส่วนลด 5 บาท โดยกำหนดมาตรการเป็นระยะๆ เช่น 6 เดือน - 1 ปี ในช่วงระหว่างรอการปรับขึ้นค่าแรง

"รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกจุด วันนี้ต้นทุนค่าขนส่ง พลังงาน ไฟฟ้า เป็นปัจจัยหลักของผู้ประกอบการ และเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตของแรงงานด้วย ถ้ารัฐบาลสามารถดูแลต้นทุนโครงสร้างพลังงานได้ก็จะลดค่าครองชีพได้ระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันสัญญาณหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งให้แรงงานเริ่มมีให้เห็นยิ่งมาเจอเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นซ้ำเติมยิ่ง ทำให้แรงงานอาจจะไม่มีขีดความสามารถในอยู่ในระบบการเงินได้ในอนาคต"

MicroSME สายป่านสั้น หวั่นกระทบหนัก

มีข้อกังวลว่า หากรัฐบาลยังเดินหน้าขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศต่อไป กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดกลาง คงพร้อมดำเนินกิจการต่อไปได้ แม้จะนิติบุคคลรายเล็ก ๆซึ่งผลประกอบการดีมาตลอด คงไม่น่าเป็นห่วง มากนัก ส่วนกลุ่มที่น่าวิตก คือ กลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กๆและรายย่อย เช่น กลุ่ม MicroSME ที่มีประมาณ 2.7 ล้านคน หรือ 85%ของผู้ประกอบการทั้งประเทศที่มีทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบประมาณ 2 ล้านราย ยังไม่รวมแรงงานนอกระบบอีกจำนวนมาก

นายแสงชัย กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการMicroSME ในปัจจุบัน คือ การเข้าไม่กลไกการพัฒนาของภาครัฐ เป็นลูกจ้างเหมา ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างช่วง และผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความล้าสมัยที่จะพัฒนาคนของตัวเอง บางส่วนใช้แรงงานจนพลาดโอกาสในการพัฒนาแรงงานของตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและตัวผู้ประกอบการทำได้คือ ส่งเสริมพัฒนาฝีมือ ในรูปแบบการเทรน์นิ่งในรูปแบบต่าง ๆ เช่น อบรบเรื่องการใช้เทคโนโลยีมาช่วยการขาย การขายของออนไลน์ การไลฟ์ขายสินค้า

รัฐบาลคงไม่ขายฝัน ปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท แต่คงทำไม่ได้ทั้งประเทศ เพราะแต่ละพื้นที่เขตเศรษฐกิจต่างกัน ประเด็นสำคัญ ไม่ควรเอาค่าแรงมาใช้เป็นนโยบายหาเสียง เพราะบนความคาดวังของกลุ่มหนึ่งแต่จะกลายเป็นวิกฤตของอีกกลุ่มหนึ่ง มันเป็นดาบสองคม

สำหรับผู้ใช้แรงงาน ที่ได้รับค่าแรง 400 อาจจะดีใจเพราะช่วยลดผลกระทบค่าใช้จ่าย แต่ฟากผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีกำไรไม่มากพอที่จะจ่ายค่าแรงได้ อาจกระทบหนัก เพราะผู้ประกอบการกว่า 50% เป็นเกษตรกร ค้าขาย และกลุ่มนี้เกือบ 40-50 % เป็นหนี้นอกระบบ

ประธานสมาพันธ์ SME ไทย ทิ้งท้ายว่า สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)สำรวจการใช้จ่ายพบว่า ผู้ประกอบการกว่า 1.2 ล้านคนใน 3.2 ล้านคนที่เป็นเอ็สเอ็มอีใช้เงินนอกระบบในการทำธุรกิจถึง 35% สุดท้ายไปไม่ไหวทางออก คือ ลดต้นทุน และต้นทุนที่ว่าก็ คือ การลดคน ดีที่สุด คือ เพิ่มราคาสินค้าแต่เมื่อเพิ่มไม่ได้ก็ต้องลดคน และนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงานมนุษย์ หากอยู่ไม่รอดก็ต้องเลิกกิจการ ไปทำอาชีพอื่นหรือกลับไปเป็นแรงงาน สุดท้ายคนเหล่านี้ ก็ออกจากระบบ

 อ่านข่าว:

รัฐเปิดประมูลข้าวเก่า ยังไร้เสียงตอบรับ "ข้าวถุง" มั่นใจคนกินแยกได้

"ข้าวไทย" ค้างโกดัง 10 ปี ส่งออกความกังวลสู่ "ไนจีเรีย"

ทวงแชมป์ "ทุเรียนไทย" ส่งออกตลาดจีน 4 เดือน พุ่ง 2.25 แสนตัน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง