เด็กเล็กต้องระวัง! "มือ เท้า ปาก" โรคระบาดหน้าฝน-เปิดเทอม

ไลฟ์สไตล์
31 พ.ค. 67
17:17
166
Logo Thai PBS
เด็กเล็กต้องระวัง! "มือ เท้า ปาก" โรคระบาดหน้าฝน-เปิดเทอม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เข้าช่วงฤดูฝนและเปิดเรียน โรคมือ เท้า ปาก เป็นอีกโรคที่ระบาดหนักในโรงเรียน สร้างความกังวลใจให้พ่อแม่ ผู้ปกครองจำนวนมาก หากมีเด็กป่วยเพียงคนเดียวในโรงเรียน ก็อาจแพร่กระจายเชื้อโรคสู่เด็กนักเรียนคนอื่นได้

โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่ม Human enteroviruses โดยเชื้อในกลุ่มนี้ที่พบบ่อย คือ Coxsackieviruses เป็นโรคที่พบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝน อากาศเย็นและชื้น กลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อยคือเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

การติดต่อ

เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับ น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ น้ำในตุ่มพอง หรือ แผลของผู้ป่วย ซึ่งมีเชื้อไวรัส หรือ โดยอ้อมจากการสัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ

การแพร่เชื้อมักเกิดได้ง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย ซึ่งมีเชื้อออกมามาก ระยะฟักตัวของเชื้อ ปกติประมาณ 3-6 วัน

อาการแสดงที่พบบ่อย

ผู้ป่วยมักมีไข้ เจ็บปาก น้ำลายไหล มีตุ่มแผลในปากหรือในคอ มีผื่นลักษณะตุ่มน้ำใส หรือเม็ดแดงๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือรอบทวารหนัก บางครั้งอาจมีผื่นตามลำตัว แขนขา ได้ อาจมีอาการอาเจียน ถ่ายเหลวร่วมด้วย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยอาการมักไม่รุนแรง สามารถหายป่วยได้เอง ไข้มักจะหายใน 2-3 วัน และผื่นจะค่อยๆดีขึ้นใน 7-10 วัน ส่วนน้อยที่มีอาการโรครุนแรง พบประมาณร้อยละ 0.05-1 อาการรุนแรงมักเกิดจากเชื้อ Enterovirus 71

อ่านข่าว : เปิดเทอมใหม่ "ไข้หวัดใหญ่-มือเท้าปาก" ระบาดพุ่งกว่า 6 พันคน

ภาวะแทรกซ้อน

ระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เยื่อบุสมองอักเสบ สมองอักเสบ แขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน เป็นต้น ระบบทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนโลหิต เช่น ภาวะน้ำท่วมปอดเฉียบพลัน ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน เป็นต้น หากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบกลับมาพบแพทย์ทันที

  • ไข้สูง โดยเฉพาะมากกว่า 39 องศาเซลเซียส และนานกว่า 48 ชั่วโมง
  • กระสับกระส่าย ร้องกวนตลอดเวลา
  • อาเจียนบ่อย ๆ รับประทานไม่ได้หรือรับประทานได้น้อยมาก
  • มีอาการทางระบบประสาท ได้แก่ ซึม การกรอกตาที่ผิดปกติ กล้ามเนื้อกระตุก ชัก ไม่รู้สึกตัว ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • แขนขาอ่อนแรง
  • ตัวลาย ซีด
  • หอบเหนื่อย

คำแนะนำการดูแลเด็ก

  • แยกเด็กป่วยให้พักอยู่บ้าน / หยุดเรียน หลีกเลี่ยงการพาเด็กป่วยไปสถานที่ชุมชนจนกว่าตุ่มหรือผื่นแห้ง ประมาณ 7-10 วัน
  • เช็ดตัวและให้ยาลดไข้ ยาอื่นๆ ตามที่แพทย์แนะนำ
  • ให้อาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัด และสามารถรับประทานของเย็น เช่น ไอศกรีมได้ แยกภาชนะในการดื่มน้ำและการรับประทานอาหาร
  • ใช้ผ้า / ทิชชู่ ปิดปาก ปิดจมูกขณะไอ จาม ระมัดระวังในการทิ้งทิชชู่ รวมทั้งผ้าอ้อมสำเร็จรูปในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด
  • ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัสผู้ป่วย และควรล้างมือบ่อยๆ ทำความสะอาดของเล่นที่อาจเอาเข้าปาก หรือสัมผัสสารคัดหลั่งด้วยสบู่หรือผงซักฟอก แล้วน่าไปผึ่งให้แห้ง
  • มาตรวจตามที่แพทย์นัด หากมีอาการแย่ลง ควรรีบกลับมาพบแพทย์ก่อนเวลานัดหมาย

การป้องกัน

แยกผู้ป่วยไม่ให้ไปสัมผัสผู้อื่น และรักษาสุขอนามัยของสิ่งแวดล้อม เน้นเรื่องการล้างมือ ทำความสะอาดของเล่นและสิ่งแวดล้อมโดยสบู่ ผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป สามารถกำจัดเชื้อได้ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก สายพันธุ์ 71 ป้องกันการติดเชื้อ Enterovirus 71 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรครุนแรง แต่วัคซีนไม่สามารถป้องกันไวรัสชนิดอื่นที่ทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก ได้ ฉีดในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี 11 เดือน โดยฉีด 2 เข็ม ระยะห่างกัน 1 เดือน

ที่มา : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์

อ่านข่าวอื่น :

ย้อนตำนาน "นักโทษประหาร" แหกคุกไทย ปิดฉาก "แป้ง นาโหนด"

“นายใหญ่” โดน ม.112 บี้ “เพื่อไทย” จุดยืนกฎหมายนิรโทษฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง