ครอบครัวเปราะบาง และ การเข้าถึงสิ่งเสพติดที่ง่ายขึ้น ผลักดันเยาวชนสู่วังวนยาเสพติด

ภูมิภาค
31 พ.ค. 67
17:09
738
Logo Thai PBS
ครอบครัวเปราะบาง และ การเข้าถึงสิ่งเสพติดที่ง่ายขึ้น ผลักดันเยาวชนสู่วังวนยาเสพติด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ ม.เชียงใหม่ ระบุปัญหาเยาวชนใช้ยาเสพติด ปัจจัยหลักมาจากครอบครัวที่เปราะบาง และ การเข้าถึงสิ่งเสพติดที่ง่ายขึ้น เสนอให้ภาครัฐทบทวนการทำงานป้องกันเชิงสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพ นอกเหนือจากการปราบปราม

วัชรพงศ์ พุ่มชื่น นักวิจัยศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ ม.เชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์ยาเสพติดในเด็กและเยาวชนพื้นที่ภาคเหนือ ในระดับหมู่บ้านทั้งพื้นที่ชายแดน ชนบท และ ชุมชนเมือง พบว่าเด็กและเยาวชนมีความเสี่ยงต่อการเข้าถึงตัวสารเสพติดที่หลากหลายมากขึ้นโดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า และ กัญชา โดยหลังจากการรวมกลุ่มกัน เด็กหลายคนจะยกระดับพฤติกรรมไปใช้ยาบ้า หรือ ยาเสพติดอื่นๆ ที่ซื้อขายในโลกออนไลน์

วัชรพงศ์ พุ่มชื่น นักวิจัยศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ ม.เชียงใหม่

วัชรพงศ์ พุ่มชื่น นักวิจัยศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ ม.เชียงใหม่

วัชรพงศ์ พุ่มชื่น นักวิจัยศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ ม.เชียงใหม่

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เด็กใช้ยา มี 3 ประเด็นที่น่าสนใจ ประเด็นที่ 1 คือ ด้วยช่วงวัยของเด็กที่อยากรู้อยากลอง มีภาวะการติดใจในบรรยากาศความสนุกของการรวมตัวกัน แต่งรถ หรือ เล่นเกม แต่เด็กบางคนสามารถที่จะเอายาเสพติดเข้ามาทดลองใช้ในกลุ่มเพื่อน บางคนพบว่าใช้แล้วมันสนุก ตื่นเต้น ท้าทาย และ ใช้อย่างต่อเนื่อง ที่น่าห่วงคือ เด็กบางคนก็เสพติดผลประโยชน์จากการขายสิ่งเสพติดด้วย

ประเด็นที่ 2 คือ สื่อสังคมออนไลน์ปัจจุบันมียาเสพติดหลากหลายขายกันแบบโจ่งแจ้ง เด็กสามารถเข้าถึงได้ง่าย แล้วมีช่องทางในการจ่ายเงินและส่งของที่สะดวก

ประเด็นที่ 3 เด็กหลายคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาจากครอบครัวที่เปราะบาง มาจากครอบครัวที่แหว่งกลาง ครอบครัวที่อาจจะไม่มีความพร้อมในการที่จะดูแล หรือ ใส่ใจเด็กเท่าไหร่นัก เด็กหลายคน พ่อแม่มีปัญหาหย่าร้าง และ ต้องอยู่กับญาติ เป็นปัจจัยทำให้เด็กใช้ยาเสพติดมากขึ้น

สำหรับข้อเสนอต่อการป้องกัน และ แก้ไขปัญหายาเสพติด นักวิจัยศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มองว่า รัฐบาล หรือ หน่วยงานภาครัฐ ต้องทบทวนยุทธศาสตร์งานป้องกันปัญหายาเสพติดกันใหม่ทั้งหมด เพราะที่ผ่านมา ได้ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมาย งานปราบปราม จนลืมงานป้องกันเชิงสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพ

ควรมีการหารือกันใหม่ว่า สังคมไทยจะเอายังไงดีกับงานป้องกันปัญหายาเสพติดในเชิงรุก และ ใช้วิธีการที่สร้างสรรค์ โดยเชิญทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมจริงๆ เพราะว่าทีมวิชาการ หรือ เครือข่ายที่ทำงานเชิงลึกในพื้นที่ เห็น และ เข้าใจปัญหาในระดับหนึ่ง แต่ไม่มีพื้นที่ให้คนเหล่านี้มาพูดคุยกับผู้มีอำนาจ

ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง เด็กหลายคนจะยกระดับพฤติกรรมตัวเองเป็นผู้เสพ และ จากการเสพเขาจะยกระดับตัวเองเป็นคนขายรายย่อย เราพบว่าเด็กที่มีพฤติกรรมติดผลประโยชน์จากการขาย เขาจะยกระดับตัวเองไปเป็นผู้ขายที่มันสูงขึ้น

นักวิจัยศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ ม.เชียงใหม่ ย้ำว่าหากสามารถป้องกันไม่ให้เกิดกลุ่มเสี่ยงรายใหม่ได้ ก็จะลดกลุ่มผู้เสพหน้าใหม่ ลดกลุ่มค้ารายย่อยรายใหม่ งานป้องกันจึงเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติด หากเราอยากจะมีพื้นที่สังคมที่ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของยาเสพติด ก็จำเป็นที่ต้องชวนกันคิดในเรื่องการป้องกัน

รายงาน : พยุงศักดิ์ ศรีวิชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง