วันนี้ (6 มิ.ย.2567) สำนักข่าว METRO รายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันมีผู้เสียชีวิต 1 คนจากติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ที่ไม่เคยได้รับการยืนยันในมนุษย์มาก่อน
รายงานระบุว่าผู้เสียชีวิตเป็นชายอายุ 59 ปีในเมืองเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ซึ่งถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล หลังมีอาการไข้ หายใจลำบาก และท้องร่วงเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมาจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ชายคนดังกล่าวเสียชีวิต
ถือเป็นกรณีแรกที่ได้รับการยืนยันจากห้องปฏิบัติการในมนุษย์ว่ามีการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A (H5N2) ที่มีการรายงานทั่วโลก และเป็นการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกครั้งแรกในบุคคลที่รายงานในเม็กซิโก
องค์การอนามัย รายงานว่า ศูนย์ประสานงานแห่งชาติ (NFP) ของกฎระเบียบด้านสุขภาพระหว่างประเทศของเม็กซิโก (IHR) รายงานการติดเชื้อในมนุษย์เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตไม่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือสัตว์อื่น ๆ มาก่อน และมีอาการป่วยหลายโรคนานกว่า 3 สัปดาห์ก่อนที่จะเริ่มมีอาการไข้หวัดนก
นอกจากนี้จากการสอบสวนทางระบาดวิทยาจากผู้เสี่ยงทั้ง 17 คนใกล้ชิดกับผู้เสียชีวิตแลอยู่ในโรงพยาบาลที่มีผู้เสียชีวิตดังกล่าว ที่พบมีอาการน้ำมูกไหล แต่ตัวอย่างที่นำมาจากผู้ติดต่อของโรงพยาบาลเหล่านี้ ระหว่างวันที่ 27-29 พ.ค.ที่ผ่านมาผลตรวจไม่พบเชื้อไข้หวัดใหญ่และ SARS-CoV 2
นอกจากนี้ยังพบเพิ่มเติมอีก 12 คน (แสดงอาการ 7 คนและไม่แสดงอาการ 5 คน) ใกล้กับบ้านพักของผู้ป่วย เก็บตัวอย่างสารหลั่ง เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง 12 ตัวอย่างจากการสัมผัสใกล้ที่พักของผู้ป่วยมีผลทดสอบลบ
สำหรับสายพันธุ์ H5N2 เป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมากที่สุด โดยสามารถติดเชื้อจากนกหนึ่งตัวและลามไปทั้งฝูงทั้งหมดได้ภายใน 24-48 ชั่วโมง
ไข้หวัดนกสายพันธุ์อื่นที่รู้จักกันในชื่อ H5N1 ถือเป็นข้อกังวลอันดับต้น ๆ สำหรับเจ้าหน้าที่ เนื่องจากการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วทำให้สามารถข้ามจากนกไปสู่วัวได้
อ่านข่าว ไทยเฝ้าระวัง "ไข้หวัดนก H5N1" หลังสหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อจากโคนมเป็นคนที่ 2
ก่อนหน้านี้เมื่อ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 เซึ่งคาดว่าติดเชื้อจากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของโคนมในฟาร์มที่รัฐมิชิแกน นับเป็นคนที่ 2 ของสหรัฐอเมริกา
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกจากโคนม เป็นรายแรกของประเทศ ที่รัฐเท็กซัส จากการแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ครั้งนั้น ถึงแม้จะพบได้ยาก แต่ถือเป็นกรณีแรกที่มีแนวโน้มว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถแพร่เชื้อไปยังคนได้ จึงจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง