เรื่องเล่าในห้างหุ้นส่วนจำกัดของคู่สมรส

สังคม
10 มิ.ย. 67
19:48
1,042
Logo Thai PBS
เรื่องเล่าในห้างหุ้นส่วนจำกัดของคู่สมรส
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปัญหาซ้อนปัญหา ที่ต้องพึ่งพากฎหมายซ้อนด้วยกฎหมาย เรื่องราวการกล่าวโทษของคู่เคยรัก โทษฐานภรรยานำเงินจากที่ทำงานสามีไปใช้จ่าย แม้จะอ้างว่าเพื่อประโยชน์ของครอบครัว แต่มุมมองกฎหมายนั้นเหมือนลูกบอลที่อยู่ที่ว่า ใครจะมองจากมุมใดได้บ้าง

ยกตัวอย่างเรื่องสมมติ

มีสามีภรรยาคู่หนึ่งที่จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย จากนั้นก็จัดตั้ง "ห้างหุ้นส่วนจำกัด" ด้วยกันขึ้นมา จดทะเบียนเสร็จสรรพ ให้สามีเป็น "ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด" โดยที่ภรรยาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้

อยู่มาวันหนึ่งภรรยาถูกคู่กรณีมอบหมายทนายความฟ้องร้องว่า "ยักยอกทรัพย์" เงินของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฝ่ายฟ้องก็ใช้กฎหมายยักยอกทรัพย์มาฟ้อง ฝ่ายที่ถูกฟ้องก็ใช้คำว่า "สินสมรส" มาแย้ง ถ้าจะให้บอกหรือวิเคราะห์ว่า เรื่องสมมติเรื่องนี้จบอย่างไร คงยังฟันธงอะไรไม่ได้ 

แต่หากมองกรณีเช่นนี้ในแง่มุมของความรู้ทางกฎหมาย จะเห็นได้ว่ามีกฎหมายใหญ่ ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท และ ว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา มาตรา 1474  สินสมรส ได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส

(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

นายวัชณ์ธิป แสดงมณี ทนายความ ยกตัวอย่างว่า กรณีผลกำไรของ หจก. ที่ได้มาขณะที่ผู้ถือหุ้นนั้นๆ มีสถานะ "สามี-ภรรยา" กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาระหว่างสมรส ให้ถือเป็น "สินสมรส" เมื่อไหร่ที่มีการหย่ากัน จึงค่อยให้แบ่งคนละครึ่ง

ไม่ว่าจะมีจดทะเบียนจัดตั้ง หจก. โดยใช้ชื่อสามีภรรยาทั้งคู่ หรือชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ถ้ากระทำระหว่างที่มีทะเบียนสมรสต่อกันอยู่ ให้ถือเป็นสินสมรสทั้งหมด

นิติบุคคลที่ชื่อ "ห้างหุ้นส่วนจำกัด"

ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) คือ "บุคคลสมมติ" ที่ถูกตั้งขึ้นมาจากการรวมหุ้นกันของคนหลาย ๆ คน อะไรก็ตามที่เกิดจากการดำเนินการของ หจก. จะเรียกว่าทรัพย์สินของ หจก. "คน" หรือผู้ถือหุ้นจะได้เงินจาก หจก. ในรูปแบบของเงินเดือน เงินปันผล กำไรที่หักจากค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของ หจก. แล้ว แต่เมื่อใดก็ตามที่ "ผู้จัดการห้าง" นำเงินออกไปใช้ ถ้าใช้ในกิจการที่ไม่ใช่ของ หจก. ให้ถือว่ามีความผิด

เช่นเดียวกันกับ ถ้ามีใครคนใดก็ตาม ที่กระทำความเสียหายต่อ หจก. ผู้จัดการห้างก็มีสิทธิร้องทุกข์กล่าวโทษต่อบุคคลที่กระทำความเสียหายต่อ หจก.ได้

ให้คิดว่า หจก. คือบุคคลอีกคนหนึ่งขึ้นมา ถ้าสามีหรือภรรยา ใครสักคนหนึ่ง กระทำความผิดต่อ หจก. ก็มีความผิด จะผิดเรื่องอะไรก็ว่าไปตามกรรมนั้น ๆ

"ผิดใจเปิดระเบียบ ผิดระเบียบเปิดใจ" เป็นข้อความที่ถูกหยิบยกมาใช้ในหลาย ๆ สถานการณ์ของความสัมพันธ์ จะด้วยจุดมุ่งหมายใด ๆ ก็แล้วแต่ แต่ในทุกความขัดแย้งย่อมมี "บุคคลที่ 3 " ที่ได้รับ "ผลกระทบ" ตามไปด้วยเสมอ จะกระทบจนเป็น "ผลเสีย" เลยหรือไม่ก็คงต้องดูว่าเป็น "บุคคลสำคัญ" แค่ไหน คงต้อง ปล่อย ขอใครสักคน ลองตรองดู ...    

รู้หรือไม่ : คดียักยอกทรัพย์ เป็นคดีที่ยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายไม่ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษภายใน 3 เดือนนับจากวันที่รู้ว่ามีการกระทำผิด ถือว่าคดีขาดอายุความ

อ่านข่าวอื่น :

"หลวงปู่ภา" เจ้าอาวาสวัดตาขัน ระยอง มรณภาพ สิริอายุ 93 ปี

ไขปมเขื่อนริมตลิ่งทรุด 2 จุด "ชัยนาท-นนทบุรี" เจ้าพระยาน้ำลดฮวบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง