"ทองคำ" ผันผวน ตลาดจับตาประชุมเฟด แนะตัดขาย 40,000 บาท

เศรษฐกิจ
11 มิ.ย. 67
12:52
1,100
Logo Thai PBS
"ทองคำ" ผันผวน ตลาดจับตาประชุมเฟด แนะตัดขาย 40,000 บาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ราคาทองคำผวนผวน ตลาดจับตาผลประชุมเฟด 11-12 มิ.ย.นี้ "ฮั่วเซ่งเฮง" ชี้ แนวโน้มราคาทองคำแท่ง ยังคงมีโอกาสปรับตัวลง แนะตัดขายหากหลุด 40,000 บาท

วันนี้ (11 มิ.ย.2567) เว็บไซต์ "ฮั่วเซ่งเฮง" รายงานสถานการณ์ราคาทองคำ ภาพรวมความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาราคาทองคำเริ่มฟื้นตัว หลังจากปรับตัวลงแรงเมื่อวันศุกร์ ซึ่งมีแรงซื้อทองคำเข้ามา ถึงแม้ว่าเงินดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนรอติดตามข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ และการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้ รวมถึงเฟดจะเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจ และการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ของเจ้าหน้าที่เฟด ส่วนกองทุน SPDR ถือครองทองคำเท่าเดิม

ขณะที่นักลงทุนรอติดตามประกาศตัวเลขเงินเฟ้อในคืนวันพรุ่งนี้ คาดลดลงเล็กน้อย แนะนำใช้กลยุทธเชิงรับรอ Long สัญญา GF10M24 ที่ 40,250 บาท โดยมีเป้าหมายทำกำไรที่ 40,800 บาท และตัดขาดทุนหากหลุดแนวรับสำคัญที่ 40,000 บาท

ทั้งนี้ ฮั่วเซ่งเฮง วิเคราะห์ราคาทองว่า แม้ว่าราคาทองคำจะฟื้นตัวขึ้น แต่ยังไม่ถึงครึ่งของแท่งเทียนก่อนหน้า ทั้งนี้หากราคาทองคำฟื้นตัวขึ้นแต่ยังเคลื่อนไหวต่ำกว่า 2,325-2,330 ดอลลาร์ อาจมีแรงเทขายบริเวณดังกล่าว โดยราคาทองคำมีแนวต้าน 2,325-2,330 ดอลลาร์

สำหรับราคาทองตลาดโลกแนวรับ : 2,300 และ 2,285 ดอลลาร์ แนวต้าน : 2,325 และ 2,330 ดอลลาร์หากราคาทองคำยังเคลื่อนไหวต่ำกว่า 2,325-2,330 ดอลลาร์ แนะนำเปิดสถานะขาย บริเวณราคา 2,325-2,330 ดอลลาร์ โดยมีจุดตัดขาดทุนที่ 2,335 ดอลลาร์ ส่วนการเข้าซื้อทองคำให้ Wait & See ไปก่อน

ส่วนราคาทองคำแท่ง 96.5% แนวรับ : 40,100 และ 39,950 บาท แนวต้าน : 40,350 และ 40,400 บาท โดยราคาทองคำโลกฟื้นตัว และเงินบาทอ่อนค่าหนุนราคาทองคำแท่งปรับตัวขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มราคาทองคำแท่งยังคงมีโอกาสปรับตัวลงได้ต่อ และมีโอกาสที่ราคาทองคำแท่งจะปรับตัวลงหลุด 40,000 บาท หากเข้าซื้อทองคำแท่งให้ Wait & See ไปก่อน

สำหรับราคาทองวันนี้บวก 50 บาท ก่อนปรับตัวลง 50 บาท(ครั้งที่ 2 ) ส่งผลให้ราคาทองคำแท่งขายออกบาทละ 40,100 บาท และราคาทองคำแท่งรับซื้อบาทละ 40,000 บาท ราคาทองรูปพรรณขายออกบาทละ 40,600 บาท และราคาทองรูปพรรณรับซื้อบาทละ 39,279.56 บาท ราคาทองคำตลาดโลก (Gold Spot) อยู่ที่ 2,302 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ณ อัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 36077 บาทต่อดอลลาร์

โดยราคาทองรูปพรรณรวมค่ากำเหน็จ 500 บาท มีราคาดังนี้ ทองครึ่งสลึง ราคาขาย 5,513 บาท ทอง 1 สลึง ราคาขาย 10,525 บาท ทอง 2 สลึง/50 สตางค์ ราคาขาย 20,550 บาท และทอง 1 บาท ราคาขาย 40,600 บาท โดยเดือนมิ.ย.ภาพรวมราคาทองติดลบ 700 บาท

ด้าน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประเมินเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.50-37.20 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 36.51 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 36.32-36.70 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเงินเยนและฟรังก์สวิสในสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยในช่วงแรกอัตราผลตอบแทนพันธบัตร(บอนด์ยิลด์)สหรัฐฯลดลงตามข้อมูลที่สร้างความหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจลดความร้อนแรง ทางด้านธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 5 ปี จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.00% สู่ 3.75%

แม้อีซีบียอมรับว่าแรงกดดันด้านราคาอาจจะสูงเกินเป้าหมายไปอีกหนึ่งปี และผู้กำหนดนโยบายไม่ส่งสัญญาณใดๆเกี่ยวกับการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 18 ก.ค. อีซีบีมองว่ามีโอกาสน้อยสำหรับการลดดอกเบี้ยลงอีกในเดือนหน้า หลังข้อมูลค่าจ้างและเงินเฟ้อในภาคบริการออกมาแข็งแกร่งกว่าคาด

โดยจุดสนใจของตลาดอยู่ที่การประชุมอีซีบีเดือนก.ย. ทั้งนี้บอนด์ยิลด์สหรัฐฯลดช่วงลบท้ายสัปดาห์ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานออกมาสดใสเกินคาด หนุนค่าเงินดอลลาร์ขึ้นอีกครั้ง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย 6,045 ล้านบาท แต่มียอดซื้อพันธบัตรสุทธิ 2,415 ล้านบาท

จุดสนใจหลักของนักลงทุนจะอยู่ที่ข้อมูลเงินเฟ้อเดือนพ.ค.ของสหรัฐฯ รวมถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)วันที่ 11-12 มิ.ย. ซึ่งคาดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% และประมาณการดอกเบี้ย (Dot Plot) ชุดใหม่

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่เฟดมีแนวโน้มส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยเพียง 1-2 ครั้งในปีนี้ท่ามกลางตลาดแรงงานที่ยังร้อนแรง นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0-0.1% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. และอาจสื่อสารเกี่ยวกับการชะลอความเร็วในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างยืดหยุ่นและค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับปัจจัยในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ในการประชุมวันที่ 12 มิ.ย. ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังสอดคล้องกับที่กนง.ได้เคยประเมินไว้ ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)เดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 1.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยถือเป็นการกลับเข้ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน จากราคาพลังงาน ผักสดและไข่ไก่ที่ปรับตัวสูงขึ้น

อ่านข่าว:

ครม.เห็นชอบเงินรางวัล "สลาก 3 หลัก" งวดไหนไม่มีผู้ถูกสมทบงวดถัดไป

หอการค้าชี้"บอลยูโร" ทำเงินสะพัด 8 หมื่นล้าน เศรษฐกิจขยาย 5%

วิกฤติโคเนื้อราคาตกต่ำ ความสิ้นหวังของเกษตรกร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง