ไขคำตอบ! ซาก "งูกัดตัวเอง" ไม่ใช่ฆ่าตัวตาย

สังคม
12 มิ.ย. 67
13:17
29,222
Logo Thai PBS
ไขคำตอบ! ซาก "งูกัดตัวเอง" ไม่ใช่ฆ่าตัวตาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สัตวแพทย์ เผยซาก "งูกัดตัวเอง" ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย แต่ดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของชีวิตท่ามกลางเปลวเพลิงในเหตุไฟไหม้ตลาดสัตว์เลี้ยงจตุจักร

จากกรณีโซเชียลแชร์ภาพซากงู สายพันธุ์เม็กซิกัน แบล็คคิงสเนค ตายในสภาพกัดตัวเอง เป็นหนึ่งในสัตว์นับพันตัวที่ตายในเปลวเพลิง เหตุไฟไหม้ตลาดสัตว์เลี้ยง สวนจตุจักร เมื่อช่วงเช้ามืดวานนี้ (11 มิ.ย.) กลายเป็นข้อสงสัยถึงความทุกข์ทรมานของสัตว์ชนิดนี้ จนต้องกัดตัวเองตายหรือไม่

งูกัดตัวเองเกิดจากสาเหตุใด ?

วันนี้ (12 มิ.ย.2567) นสพ.เพิ่มศิลป์ บุญน้อม นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ เปิดเผยกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า "งูกัดตัวเอง" เป็นพฤติกรรมก่อนตาย ที่งูพยายามจะดิ้นรนเอาตัวรอดจากกล่องและกรงท่ามกลางความร้อนจากเปลวเพลิง ประกอบกับผลกระทบต่อระบบประสาท กลายเป็นเฮือกสุดท้ายและอาจบังเอิญไปกัดตัวเอง

ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย แต่เป็นเฮือกสุดท้ายที่เขาทุรนทุราย ไม่ได้ตั้งใจกัดตัวเอง

นสพ.เพิ่มศิลป์ เปิดเผยว่า สภาพซากส่วนใหญ่งูจะนอนขดตัว บางตัวดูภายนอกปกติ บางตัวถูกไฟคลอก เกล็ดไหม้เกรียม ซึ่งตัวที่อยู่ห่างจากจุดเพลิงไหม้จะตายจากความร้อนอุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียสขึ้นไป ทำให้อวัยวะภายในเสียหายจนเกิดภาวะช็อกหรือสุก แต่ภายนอกยังดูปกติ อาจต้องนำซากงูไปตรวจพิสูจน์ เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจน

นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ ยังอัปเดตอาการไก่ 1 ตัว และกิ้งก่า 5 ตัว ที่ส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า รพ.สัตว์แจ้งว่าทุกตัวมีปัญหาปอดเสียหายจากการสำลักควัน โดยเฉพาะไก่มีความเสี่ยงสูง

กรมปศุสัตว์จะตรวจติดตามสัตว์ที่รอดชีวิต เช่น กระต่าย นก สัตว์เลื้อยคลานบางชนิด ในระยะ 7-10 วัน ว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เพราะบางตัวอาจสำลักควัน

ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก Nick Wildlife ที่มีความเชี่ยวชาญด้านงู เคยให้ข้อมูลว่า พฤติกรรมการกัดตัวเองของงู มีหลากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด หรืออาการทางระบบประสาท และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หรืออาจมีอาการบาดเจ็บ

งูจะมีความทนทาน และใช้เวลานานกว่าจะตาย เนื่องจากเป็นสัตว์เลือดเย็น สมองต้องการออกซิเจนเข้ามาเลี้ยงน้อยกว่าสัตว์เลือดอุ่น ก่อนจะตายในบางครั้งจะมีอาการทุรนทุราย ดิ้นหมุนไปหมุนมา และเริ่มอ้าปากเมื่ออะไรก็ตามที่ผ่านปาก จึงอาจกัดได้ในทันที

อีกทั้งโครงสร้างฟันของงู จะมีลักษณะปลายแหลมงุ้มเข้าไปในช่องปาก เมื่อจับเหยื่อและเขี้ยวเกี่ยวแล้วก็จะทำให้เหยื่อดิ้นหลุดได้ยาก เช่นเดียวกับอาการทุรนทุรายจนกัดตัวเอง อาจจะดึงปากออกได้ยากเช่นกัน กลายเป็นภาพซากงูกัดตัวเอง

อ่านข่าว

มูลนิธิสัตว์ ตั้งคำถามสวัสดิภาพ "สัตว์ในกรง" ไฟไหม้ตลาดจตุจักร 

ไฟไหม้ "ตลาดนัดจตุจักร"เผาวอด 118 ล็อก - สัตว์ตายจำนวนมาก 

ยื้อสุดชีวิต ภารกิจช่วย "สัตว์แปลก" ไฟไหม้จตุจักร 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง