วันนี้ (13 มิ.ย.2567) คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ของสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณากรณีการเผยแพร่โฆษณาที่ปรากฏสัญลักษณ์ของไทยพีบีเอส ซึ่งได้เชิญผู้บริหารไทยพีบีเอส นำโดยนายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวไทยพีบีเอส และคณะ รวมถึงตัวแทนบริษัทซีพีแรม จำกัด และตัวแทนบริษัทเจพีวัน เข้ามาชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ
นายก่อเขตชี้แจงในฐานะที่ไทยพีบีเอสได้รับความเสียหายเพราะถูกนำไปแอบอ้าง ว่า เหตุการณ์เกิดเมื่อ 3 มิ.ย.ปรากฏคลิปข่าวช่องทางสื่อออนไลน์ จึงได้ตรวจสอบ พบข้อเท็จจริงว่าไม่มีผู้สื่อข่าวไปทำข่าว และไม่มีสติงเกอร์ของไทยพีบีเอสไปทำข่าว ไม่พบการส่งภาพและเนื้อหาข่าวเข้าระบบ แสดงว่าไม่สามารถผลิตข่าวได้ โดยเฉพาะไม่พบข่าวออนแอร์และออนไลน์
จึงชี้ชัดได้ว่าสิ่งที่ปรากฏไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นการปลอมแปลงสร้างขึ้นมา เมื่อพิจารณาโลโก้ ฟร้อนท์ซีจี เวลาที่ออกอากาศตามคลิประบุ ซึ่งต่างจากข้อมูลของไทยพีบีเอสที่มีการออกอากาศ โดยย้ำคลิปข่าวนี้เป็นการสร้างและทำขึ้นมาใหม่มีความยาว 54 วินาที ไทยพีบีเอสจึงเตือนและออกแถลงการณ์ไปยังผู้เกี่ยวข้องให้หยุดการกระทำ และดำเนินการตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องพร้อมดำเนินการตามกฎหมาย
อ่านข่าว : CPRAM ขอโทษปมคลิปข่าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์มีโลโก้ "ไทยพีบีเอส"
ส่วน น.ส.ชัญญรัช พีราวัชร ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส ด้านกลยุทธ์และความยั่งยืน บ.ซีพีแรม จำกัด กล่าวขออภัย พร้อมชี้แจงไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามหาคนที่กระทำผิด เร่งดำเนินการกับบริษัทเจพีวันแล้ว ตามที่แถลงการณ์
นายภุริปพัฒน์ ภัทรติมานนท์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารภาพลักษณ์องค์กร บ.ซีพีแรม จก. ชี้แจงว่าได้ลบการเผยแพร่ออกทันทีเมื่อทราบและตรวจสอบกับเอเจนซี หลังจากทางไทยพีบีเอสแจ้งไปก็ออกแถลงการณ์ทันที
โดย น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ กรรมาธิการฯ สอบถามที่มาของการส่งคลิปซีพีแรม ซึ่ง น.ส.นันทพร บุญหลัง ตัวแทนบริษัทเจพีวัน ชี้แจงว่าได้แจ้งหมายข่าวไป จึงมั่นใจและเชื่อว่าคลิปออกอากาศจริง เพราะมีคนแอบอ้างเป็นสตริงเกอร์ไทยพีบีเอส จึงไม่ได้ตรวจสอบก่อน
น.ส.ภคมน พยายามสอบถามทางบริษัทซีพีแรม ที่นายภุริปพัฒน์ถึงกระบวนการเช็กข่าว คลิปข่าวประชาสัมพันธ์งานหรือการจัดงาน โดยไม่ทราบว่าไทยพีบีเอสนั้น ไม่สามารถนำเสนอข่าวเชิงโฆษณาได้ และเมื่อทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นคลิปไม่ใช่ของไทยพีบีเอสที่มีการออกอากาศจริง จึงได้ดำเนินการนำคลิป ภาพ ออกจากแพลตฟอร์มออนไลน์ของบริษัททันที พร้อมออกแถลงการณ์
นอกจากนี้ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ ย้ำถามถึงสิทธิ์การถือไมค์ โลโก้ไทยพีบีเอสว่าพิจารณาอย่างไร เพื่อป้องกันการแอบอ้างใช้ประโยชน์ โดยนายก่อเขตชี้แจงโลโก้ไม่ได้สลับซับซ้อนที่จะมีการทำปลอมแปลงขึ้นมาเพื่อประโยชน์อื่นใด แต่หากเป็นพนักงานของไทยพีบีเอสจะต้องมีบัตรพนักงาน ซึ่งจะเป็นการยืนยันตัวตนในการทำหน้าที่ ในนามไทยพีบีเอส
ส่วนการถือไมค์ในการปฏิบัติหน้าที่จริง อาจมีการฝากไมค์ให้ผู้ช่วยช่องอื่น เหตุเพราะการยืนใกล้-ไกล แหล่งข่าว เพื่อจะได้ไม่เบียดเสียดกันในช่วงการสัมภาษณ์
นายพริษฐ์สรุปทิ้งท้ายว่า 1.มองมาตรฐานวิชาชีพสื่อ คือการแจกแจงเนื้อหาการว่าจ้างและไม่ว่าจ้าง 2.การกำกับดูแลไม่ให้พนักงานไปรับค่าตอบแทนแหล่งข่าว และองค์กรสื่อต้องมีสวัสดิการที่ดีพอในดูแลพนักงาน ส่วนการตรวจสอบการแอบอ้างองค์กรสื่อมองว่าอาจมีเทคโนโลยีตรวจสอบได้ หลังจากนี้จะขยายประเด็นติดตามแก้ไขปัญหาและวางมาตรการดูและป้องกันในอนาคต
อ่านข่าว :