ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สำรวจกองกำลังชาติพันธุ์ในเมียนมา ตอนที่ 1

ภูมิภาค
15 มิ.ย. 67
11:42
2,584
Logo Thai PBS
สำรวจกองกำลังชาติพันธุ์ในเมียนมา ตอนที่ 1
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“เมียนมา” ถือว่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ อันดับต้นๆ ของโลก โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 135 กลุ่ม ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกองกำลังติดอาวุธองตนเอง 25 กลุ่ม ซึ่งถือว่ากลุ่มนี้เป็นคู่ขัดแย้งสำคัญภายในประเทศ

ThaiPBS North จะพามาทำความรู้จักกองกำลังติดอาวุธหลักๆที่เคลื่อนไหวและเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลเมียนมา หรือกองกำลังชาติพันธุ์ด้วยกันเอง ไม่นับรวมกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) โดยเริ่มจาก รัฐคะฉิ่น รัฐยะไข่ รัฐฉาน และรัฐชิน

รัฐคะฉิ่น

กองทัพเอกราชคะฉิ่น KIA เคลื่อนไหวในรัฐคะฉิ่น

กองทัพเอกราชคะฉิ่น หรือ กะชีน /KIA จัดว่าเป็นหนึ่งในกองกำลังชาติพันธ์ติดอาวุธที่เข้มแข็งกลุ่มหนึ่งในเมียนมา โดย KIA เป็นหน่วยงานด้านการทหาร ขององค์การเอกราชคะฉิ่น KIO ซึ่งเป็นกลุ่มทางการเมืองของชาติพันธุ์คะฉิ่นในเมียนมาตอนเหนือ มีนายพลเอ็น บัน ละ เป็นผู้นำและเป็นประธานองค์กรเอกราชคะฉิ่น

ทั้งนี้กองทัพเอกราชคะฉิ่น ได้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2504 วัตถุประสงค์เพื่อเป็นตอบโต้ต่อกองทัพเมียนมา หลังนายพลเนวิน ก่อรัฐประหาร เป้าประสงค์ของ KIA/KIO คือต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราช และสิทธิในการปกครองตนเอง

กองทัพชนชาติไตแดง SNA เคลื่อนไหวในรัฐคะฉิ่น

ก่อตั้งเพิ่งตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2559 ไม่นามมานี้เอง ในช่วงที่ชาติพันธุ์ในเมียนมาตื่นตัวขอมีพื้นที่ปกครองตนเอง วัตถุประสงค์เพื่อดูแลและป้องกันผลประโยชน์ของชาติพันธ์ไตแดง ประมาณ 300,000 คนในภาคสะกายและรัฐคะฉิ่น ทั้งนี้ SNA เป็นกองกำลังอิสระที่ยังไม่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลเมียนมา และไม่ได้เข้าไปร่วมในกลุ่ม FPNCC ที่มีกองทัพสหรัฐว้า UWSA เป็นแกนนำ

รัฐยะไข่

กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน ARSA

เป็นกองกำลังติดอาวุธของชาวมุสลิมโรฮิงญา ที่เริ่มรวมตัวกันหลังเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชาวโรฮิงญากับประชากรส่วนใหญ่ในรัฐยะไข่ เมื่อ พ.ศ 2555 ต่อมา และเปลี่ยนมาใช้ชื่อ ARSA ในเดือนตุลาคม 2559

ARSA ปฏิบัติการทางทหาราในเขตอำเภอบูตีด่อง จังหวัดหม่องดอ ,อำเภอระเตด่อง จังหวัดซิตต่วย และตามพื้นที่ชายแดนประเทศเมียนมา-บังกลาเทศ จนถึง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนาฟ เขตประเทศบังกลาเทศ

กองทัพปลดปล่อยอาระกัน ALA (เคลื่อนไหวในพื้นที่บางส่วน)

กองทัพ ALA ก่อตั้งมายาวนาน 50 ปี และเป็น 1 ใน 8 กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลเมียนมาเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2558

กองทัพอาระกัน AA

เป้าหมายหลักของกองทัพอาระกันคล้ายกับของกองกำลังชาติพันธุ์อื่น นั่นคือ เรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง และกันกองทัพเมียนมาออกไปจากพื้นที่ของตน

กองทัพอาระกันก่อตั้ง ประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดการที่ดีทำให้กองทัพเข้มแข็ง ผู้นำของกองทัพอาระกัน คือนาย Twan Myat Naing นอกจากรัฐยะไข่ AA ยังมีพื้นที่ปฏิบัติการในรัฐกะฉิ่น รัฐฉาน รัฐชิน รวมทั้งในเขตชายแดนเมียนมา-บังกลาเทศด้วย

รัฐฉาน

กองทัพสหรัฐว้า UWSA

กองทัพสหรัฐว้า United Wa State Army มีพื้นที่ของตนเองที่ทำขอตกลงกับรัฐบาลเมียนมาคือ เขตปกครองพิเศษที่ 2 หรือเป็นที่รู้จักว่า เขตปกครองตนเองว้า นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อิทธิพลในเขตภาคเหนือติดชายแดนจีน และทางภาคใต้-ตะวันออกของรัฐฉาน ติดกับประเทศไทย โดยกองทัพสหรัฐว้า แยกตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่าเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2532

กองทัพสหรัฐว้า เป็นกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ใหญ่และแข็งแกร่งอันดับต้นๆที่ในเมียนมา อาวุธส่วนใหญ่จัดซื้อจากประเทศจีน ขณะเดียวกันกองทัพว้า ยังเป็นแกนนำกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 7 กลุ่มในภาคเหนือของรัฐฉาน ที่ไม่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศกับรัฐบาลเมียนมาในสมัยประธานาธิบดี “อูเต็งเส่ง” ในนาม กลุ่ม“FPNCC” (Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee )

กองทัพปลดปล่อยชาติตะอาง TNLA

กองทัพตะอาง TNLA เป็นหน่วยงานทางทหารของกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง PSLF เดิมกองทัพตะอางใช้ชื่อว่า กองทัพปลดปล่อยรัฐปะหล่อง (Palaung State Liberation Organization/Army หรือ PSLO/A) หลังทำข้อตกลสงบศึกกับรัฐบาลในปี พศ. 2005 และสลายตัวในปี พศ. 2548

แต่หลังจากนั้นกลุ่มผู้สนับสนุน และผู้บริหารกองทัพปลดปล่อยรัฐปะหล่องเดิมบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางสงบศึก ได้ก่อตั้งกองทัพตะอาง และ แนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง ขึ้นมาใหม่เพื่อต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชของชาวตะอาง อีกครั้ง

กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา หรือ กองทัพโกก้าง/โกกั้ง MNDAA

โกก้าง เดิมเคลื่อนไหวในพื้นที่เขตปกครองพิเศษโกกั้ง ทางตอนเหนือของรัฐฉานติดกับชายแดนจีน แต่ถูกในกลุ่มยึดอำนาจจนต้องหนีไปเคลื่อนไหวในแนวชายแดนประเทศจีน แต่เป็นที่รู้จักกันอีกครั้งจากปฏิบัติการ 1027 บุกยึดเขตปกครองพิเศษโกกั้ง และเมืองเล้ากาย์จากกองทัพเมียนมา

กองทัพโกก้าง หรือ กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา MNDAA (Myanmar National Democratic Alliance Army) ปัจจุบันมี เผิง เต๋อเหริ่น ลูกชาย เผิง จายเซิน ผู้นำที่ถูกยึดอำนาจเป็นผู้นำ ทั้งนี้ประชากร และประชากรส่วนใหญ่ในเขตปกครองพิเศษโกก้าง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์โกก้าง หรือชาวจีนฮั่นที่

องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ PNLO

องค์การปลดปล่อยชาติปะโอ/กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ PNLO มีผู้นำคือ พ.อ.ขุนตู่เหร่ง ประธานกลุ่ม ซึ่งมีกองบัญชาการที่มั่นที่บ้านหมาก ตำบลกั่นตูโหลง เมืองหมอกไหม่ จังหวัดลางเคอ รัฐฉานตอนใต้

กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ PNLA

เป็นกองกำลังที่แยกตัวออกจากองค์กรแห่งชาติปะโอ นำโดย ขุนอ่องคำถี่ เป้าหมายต้องการพื้นที่ปกครองของชาติพันธ์ปะโอ

กองทัพรัฐฉานเหนือ SSA/SSPP

กองทัพรัฐฉาน SSA (Shan State Army) เป็นกองทัพที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 1964 เพื่อต่อต้านกองทัพเมียนมาในรัฐฉาน ต่อมาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 1971 ภายใต้องค์กรทางการเมือง พรรคก้าวหน้า นำโดย พลเอกป่างฟ้า ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพสหรัฐว้า UWSA ที่ตั้งกองบัญชาการใหญ่ อยู่ที่บ้านไฮ รัฐฉาน

กองทัพรัฐฉานใต้ SSA/RCSS

เป็นกองกำลังติดอาวุธอีกกลุ่มของชาติพันธุ์ไทใหญ่ ที่ถือว่าเข้มแข็งอันดับต้นๆในบรรดากองกำลังชาติพันธ์ กองทัพรัฐฉานใต้ SSA เป็นกองกำลังภายใต้องค์กรทางการเมือง คือสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน RCSS ผู้นำคือ พลเอกยอดศึก

กองทัพรัฐฉานใต้ มีฐานที่มั่นตรงข้ามประเทศไทย 5 ฐานสกองบัญชาการสูงสุดดอยไตแลง ตรงข้ามอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน , ฐานที่มั่นดอยมู่งเมือง ตรงข้ามอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน , ฐานที่มั่นดอยดำ ตรงข้ามอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ , ฐานกองบัญชาการกองพลน้อย 727 ดอยสามสิบ อยู่ตรงข้ามอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ,ฐานที่มั่นกองบัญชาการควบคุมพื้นที่ 1 ดอยก่อวัน ตรงข้ามอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยพื้นที่มั้นทั้ง 5 แห่ง มีโรงเรียน วัด โรงพยาบาล สถานีวิทยุ และหมู่บ้านของชาวบ้านที่อพยพมาจากพื้นที่ในรัฐฉาน

สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ LDU

เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคลื่อนไหวเพื่อให้มีพื้นที่ปกครองเป็นของตนเอง และได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศกับรัฐบาลเมียนมา NCA เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2018

กองทัพอาระกัน AA เคลื่อนไหวทางทหารในบางพื้นที่ตอนบนรัฐฉาน

รัฐชิน

แนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF)

ประมาณ พ.ศ. 2532 กลุ่มชาติพันธุ์ชิน ได้ก่อตั้งองค์กรแนวร่วมแห่งชาติชินดำเนินการปฏิวัติ เพื่อเป็นศูนย์กลางของ กองกำลังติดอาวุธที่มีหลายกลุ่มคือ กองกำลังป้องกันดินแดนชิน (Chinland Defence Force-CDF) และกองกำลังชนกลุ่มน้อย Chin National Army (CNA) ซึ่งเป็นกองกำลังเครือข่ายของกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชนชาติชิน (CNF)

กองทัพอาระกัน (AA)

กองทัพอาระกันมีอายุประมาณ 10 กว่าปี เป้าหลายหลักคือ เรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง และให้กองทัพเมียนมาออกไปจากพื้นที่ของตน มีพื้นที่ทางทหารในรัฐกะฉิ่น รัฐยะไข่ รัฐฉาน รัฐชิน รวมทั้งในเขตชายแดนเมียนมา-บังกลาเทศด้วย

เขตสะกาย

กองทัพชนชาติไตแดง (SNA)

ตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม พศ. 2559 ในยุคชาติพันธุ์ตื่นตัวเรียกร้องมีพื้นที่ของตนเอง และคุ้มครองชาวไตแดงในภาคสะกายและรัฐคะฉิ่น ที่มีกว่า 300,000 คน เป็นกองกำลังไม่ได้เซ็นสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ NCA และไม่ได้เข้าไปร่วมในกลุ่ม FPNCC

วันพรุ่งนี้ Thai PBS North จะรวบรวม กองกำลังชาติพันธ์ุที่แหลือ รวมทั้งการวางกำลัง ของกองทัพเมียนมา และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน PDF มาให้รับทราบเพื่อเป็นฐานข้อมูลต่อไป

รายงาน:ทีมศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง