ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ข้าวเก่า 10 ปี " ภูมิธรรม VS วรงค์ " ต่างมุมมอง หลังวีเอทฯ คว้าชัย

การเมือง
18 มิ.ย. 67
17:31
2,020
Logo Thai PBS
ข้าวเก่า 10 ปี " ภูมิธรรม VS วรงค์ " ต่างมุมมอง หลังวีเอทฯ คว้าชัย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ไม่ง่าย พลันที่ "บริษัทวีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จังหวัดกำแพงเพชร" คว้าชัยในการประมูลข้าว 10 ปี โดยเสนอราคาสูงสุด ในโครงการการจำหน่ายข้าวสาร ในสต๊อกของรัฐบาลเป็นการทั่วไปครั้งที่ 1/ 2567 จากโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ปริมาณ 15,000 ตัน จำนวน 2 คลัง ก็มีคำถามถึงที่มา-ที่ไปของบริษัทดังกล่าวว่าเป็น "ม้ามืด" มาจากไหน

ข้อมูลจากรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2563 มีรายชื่อคณะกรรมการ 3 คน คือ น.ส.ทานตะวัน นาสมใจ ถือหุ้นบริษัท 40% มูลค่าหุ้น 464,980 บาท, นายศิวะ มาประเสริฐ ถือหุ้นบริษัท 35% มูลค่าหุ้น 406,857 บาท และ น.ส วรรณิสา ทองจิตติ ถือหุ้นบริษัท 25% มูลค่าหุ้น 290,612 บาท แจ้งดำเนินธุรกิจจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท มีผลประกอบการย้อนหลัง คือ

ปี 2564 รายได้ 0 บาท ขาดทุน 159,741 บาท

ปี 2565 รายได้ 7,923,530 บาท กำไร 76,011 บาท

ปี 2566 รายได้ 2,293,623 บาท กำไร 246,180 บาท

ปี 2566 สินทรัพย์รวม 1,174,870 บาท หนี้สินรวม 12,420 บาท

ผลประกอบการที่ผ่านมา ไม่ได้มีกำไรมากมาย แต่กลับเป็น 1 ใน 7 บริษัทที่ชนะการประมูลของ อคส. โดยประมูลคลังกิตติชัย หลัง 2 (ข้าวหอมมะลิ 100%) 11,656 ตัน หรือ 112,711 กระสอบ คลังบจก.พูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 (ข้าวหอมมะลิ 100%) 3,356 ตัน หรือ 32,879 กระสอบ รวมประมาณ 1.5 หมื่นตัน โดยเสนอราคาสูงสุด คือ กก. ละ 19.07 ในวงเงิน 286 ล้านบาท

แม้ "นายภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่า บริษัทบริษัทวีเอท ฯมีคุณสมบัติในการเข้าประมูล และสามารถชนะการประมูลได้ และประเด็นที่มีข้อกังวล เนื่องจากบริษัทนี้มีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท และมีงบดุลในการใช้จ่ายประจำปี 1-2 ล้านบาท ก็ได้สั่งให้มีการตั้งกรมพัฒนาธุรกิจเข้าไปตรวจสอบแล้วก็ตาม แต่บริษัทวีเอทฯได้เข้าประมูลตามสิทธิ์ และเสนอราคาได้อันดับหนึ่ง เราก็พิจารณาเขา แต่เรามีสิทธิ์พิจารณาว่าบริษัทดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการหรือไม่

"...อาจจะมีฮั้วก็ได้ ผมไม่แน่ใจ และถ้าตรวจสอบว่ามีการฮั้วประมูลก็ต้องผิดกันทั้งหมด ทั้งผู้ฮั้วและถูกฮั้ว ซึ่งผมจะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แต่เวลานี้สิ่งที่ต้องการอย่างเดียวคือต้องการให้ข้าวได้ระบาย และให้เห็นว่าข้าวดีจริงอย่างที่เราไปพิสูจน์ เพราะฉะนั้นถ้ามีกระบวนการอะไรที่ทำให้ข้าวมีปัญหา หรือคิดว่าไม่ดี ก็ต้องตรวจสอบอย่างเต็มที่" รมว.พาณิชย์ กล่าว

สำหรับข้อกังวลของสังคมในประเด็น อาจจะมีการนำข้าวเก่า 10 ปี มาผสมขายกับข้าวปัจจุบัน นายภูมิธรรม ระบุว่า หากดูตามกระบวนการต้องยอมรับว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเอกชนได้พิสูจน์แล้ว การที่มีผู้มาประมูล และเมื่อประมูลแล้ว ผู้ประมูลยังต้องเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงคุณภาพข้าว ซึ่งต้องมีองค์การอาหารและยา (อย.) และอีกหลายหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบ และหากการส่งออกหรือนำออกมาขายก็ต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบ

"อย่ากังวลเรื่องนี้เลย ซึ่งความกังวลนี้เป็นส่วนหนึ่งที่มีความพยายามที่จะด้อยค่าราคาข้าว และทำให้การกระจายข้าวในครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดี" รมว.พาณิชย์ กล่าว

ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ซึ่งเคยเป็นหัวหอกในการตรวจสอบคดีทุจริตจำนำข้าว มองต่างมุมว่า บริษัทวีเอทฯที่ชนะการประมูลข่าว จัดตั้งขึ้นมาเพียง 3 ปี มีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท พฤติกรรมในลักษณะนี้ ทำให้มีข้อที่น่าสงสัยว่า เป็นบริษัทนอมินีหรือไม่ หรือมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรือไม่

และสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นของข้าวไทย และของประชาชน ซึ่งต้องจับตามองว่า บริษัทนี้จะทำข้าวถุงหรือไม่ และหากทำข้าวถุง ยี่ห้ออะไร

หากมีการทำตรงไป ตรงมาจะไม่มีปัญหาเลย โดยเฉพาะราคาการประมูลข้าวในราคากิโลกรัมละ 19 บาท ถือว่าค่อนข้างสูงผิดปกติ แม้จะบอกว่าเป็นไปตามราคากลาง แต่สำหรับข้าวเก่าเก็บ 10 ปี ผมมองว่ามีราคาสูงมาก ...ข้าวเก่า 10 ปี มีสารอะฟลาท็อกซิน ที่ทำให้ก่อมะเร็งหรือไม่ ยังไม่มีคำตอบ

แม้รัฐจะอ้างว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบแล้วก็ตาม อย่าลืมว่า เขาไม่ได้รับประกัน บอกเพียงว่า เป็นตัวอย่างข้าวที่ส่งมาให้ตรวจ เป็นข้าวขาว ไม่ได้ระบุว่าเป็นข้าวหอมมะลิ ซึ่งข้าวจากคลัง อคส. ส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิใช่หรือไม่

ประธานพรรคไทยภักดี กล่าวอีกว่า จากข้อมูลพบว่า บริษัทวีเอทฯ มีโรงสีข้าว ซึ่งตามปกติโรงสีสามารถนำข้าวไปสี และเข้าสู่กระขั้นตอนขัดฟอกสีเพื่อนำมาผสมกับข้าวใหม่เพื่อจำหน่าย ประเด็นนี้ คือสิ่งที่น่ากังวลใจ เนื่องจากทีโออาร์ อคส. คือ การเปิดประมูลข้าวหอมมะลิในสต๊อกแบบทั่วไป ซึ่งสามารถนำไปทำข้าวถุงเพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยผสมขายข้าวถุงและผสมขายในต่างประเทศก็ได้ ซึ่งหากมอง ในระยะยาวไม่เป็นผลดีต่อข้าวไทย ทั้งยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นมันต่อตลาดข้าวไทยด้วย

ส่วนการประมูลเพื่อส่งไปขายยังตลาดแอฟริกา หรือต้องการปั้นตัวเลขให้สวย ต้องไม่ลืมข้อกังขา คือ ข้าวล็อตดังกล่าว เป็นข้าวที่บริษัทชนะการประมูลไม่มารับ หรือรับไปแล้วเพียงบางส่วน ตรงนี้รัฐบาลไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริง

"เราไม่มีช่องทางที่จะทำอะไรได้ เพราะกระบวนการมาถึงนี้แล้ว ถือเป็นเรื่องของเอกชนแล้ว ดังนั้นสิ่งที่จะต้องจับตา คือ เขาจะนำไปทำข้าวถุงหรือไม่ และขายที่ไหน นี่เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องช่วยกันตรวจสอบ เพราะพอนำไปผสมกับข้าวใหม่แล้ว ซึ่งผู้บริโภคก็ไม่สามารถจะรู้ได้เลย" นพ.วรงค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ เคยชี้แจงถึงมาตรฐานคุณภาพข้าวส่งออกว่า ในกรณีที่จะนำข้าว 10ปี ส่งออกจำหน่ายไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย มีการกำกับดูแลและควบคุมคุณภาพ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ.2503 ซึ่งกำหนดมาตรฐานและขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพไว้ชัดเจน ดังนั้น ข้าวหอมมะลิที่จะนำไปส่งออก จะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานก่อน หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ก็จะไม่มีการออกใบรับรอง และไม่สามารถส่งออกได้

โดยผู้ประสงค์ส่งออกข้าวหอมมะลิไทย จะต้องยื่นคำร้องต่อกรมการค้าต่างประเทศ ขอให้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย และต้องแจ้งให้บริษัทผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (บริษัทเซอร์เวย์) ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้า จะมีมีพนักงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้าไปสุ่มกำกับการทำงานของผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (เซอร์เวย์เยอร์) และเมื่อผลการตรวจสอบเป็นไปตามมาตรฐาน ก็จะออกใบรับรองให้ผู้ส่งออกไปประกอบพิธีการศุลกากร เพื่อส่งออกข้าวหอมมะลิไทยได้

สำหรับการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยเพื่อการส่งออกจะมี 2 รอบ คือ รอบแรก จะมีการสุ่มตัวอย่าง ณ สถานที่ส่งออก กรณีสินค้าบรรจุกระสอบ จะสุ่มชักตัวอย่างทุกกระสอบ
ตรวจทางกายภาพ (ข้าวปลอมปน, ขนาดความยาวของเมล็ด, สี, สิ่งเจือปน, ความชื้น)

ส่วนรอบสอง ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์มาตรวจเพิ่มในบางรายการ เช่น การตรวจความนุ่มโดยการหาค่าอมิโลส การตรวจความบริสุทธิ์โดยการสลายเมล็ดข้าวในด่าง และการตรวจสารตกค้าง ตามความต้องการของผู้ซื้อ

แต่หากผู้ซื้อจะนำข้าวไปขายในประเทศ กรมการค้าภายในก็ได้มีการกำหนดมาตรฐานข้าวหอมมะลิบรรจุถุงจำหน่ายในประเทศไว้ชัดเจนเช่นเดียวกัน หากไม่ผ่านมาตรฐานก็จะไม่อนุญาตให้ใช้ตรารับรอง หรือหากสุ่มตรวจแล้ว พบว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ก็จะตักเตือน พักใช้ หรือเพิกถอนการใช้ตรารับรองก็ได้

จึงน่าสนใจว่า หลังจากนี้บริษัทวีเอทฯจะเดินหน้าอย่างไรกับข้าว 2 ล็อตที่ชนะการประมูลไปได้ จะส่งออกไปขายในต่างประเทศ หรือขัดสีใหม่เพื่อบรรจุถุงขายให้ผู้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะตรวจสอบได้

อ่านข่าว : มติเอกฉันท์ ศาล รธน.ชี้กฎหมายฟ้องชู้ขัดรัฐธรรมนูญ

ข่าวดี! ครม.เพิ่มค่าครองชีพขรก.-ลูกจ้าง-ทหารมีผลย้อนหลัง

ไขปริศนา 5 วัน สอบข้อเท็จจริง "สินบน" ถุงขนมฮ่องกง 2,000 ล้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง