21 มิ.ย.67 "วันครีษมายัน" กลางวันยาวนานสุดในรอบปี

สังคม
21 มิ.ย. 67
07:10
1,505
Logo Thai PBS
21 มิ.ย.67 "วันครีษมายัน" กลางวันยาวนานสุดในรอบปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
12 ชั่วโมง 56 นาที คือ ระยะเวลาที่ดวงอาทิตย์จะปรากฏบนท้องฟ้าในวันนี้ ทำให้วันนี้จะเป็นวันที่มีกลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี หรือที่เรียกว่า วันครีษมายัน

วันนี้ (21 มิ.ย.2567) "วันครีษมายัน" (อ่านว่า วัน-ครีด-สะ-มา-ยัน) เป็นชื่อเรียกของวันที่ดวงอาทิตย์โคจรไปถึงจุดหยุด หรือ จุดสุดทางเหนือ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ของทุกปี โดยในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา เริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นมา

ดวงอาทิตย์ได้เคลื่อนที่ไปทางเหนือเรื่อย ๆ และจะหยุดที่จุดเหนือสุดในวันนี้ ส่งผลให้ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกโดยเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก โดยเฉียงไปทางเหนือมากที่สุดเช่นกัน จึงมีเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี หรือ เป็นวันที่มืดช้าที่สุดนั่นเอง

นอกจากนี้ ยังนับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูร้อน และประเทศทางซีกโลกใต้ เข้าสู่ฤดูหนาว สำหรับประเทศไทย วันนี้ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 05.51 น.และจะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.47 น. รวมเวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าประมาณ 12 ชั่วโมง 56 นาที 

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) อธิบายว่า สำหรับ "ฤดูกาล" นั้น เกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย

เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ในฤดูร้อนเวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน โดยดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า แตกต่างกับฤดูหนาวที่เวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน เพราะดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว

4 ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้น-ตกในรอบ 1 ปี 

  1. วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ- วัด) (Vernal Equinox)
    • ในปี 2567 ตรงกับวันที่ 20 มี.ค.
    • ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ช่วงเวลากลางวันจึงเท่ากับกลางคืนพอดี
    • ซีกโลกเหนือเหนือเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

  2. วันครีษมายัน (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice)
    • ในปี 2567 ตรงกับวันที่ 21 มิ.ย.
    • ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด จึงทำให้กลางวันยาวที่สุดในรอบปี
    • ซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูหนาว
  3. วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox)
    • ในปี 2567 ตรงกับวันที่ 22 ก.ย.
    • ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี
    • ซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

  4. วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice)
    • ในปี 2567 ตรงกับวันที่ 21 ธ.ค.
    • ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด จึงทำให้กลางคืนยาวที่สุดในรอบปี
    • คนไทยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ตะวันอ้อมข้าว" เพราะเป็นช่วงที่ข้าวในนากำลังสุกพอดี ตามตำนานเล่าว่าเมื่อพระเเม่โพสพกำลังตั้งท้อง คือ "ข้าวตั้งท้อง" พระอาทิตย์แสดงความเคารพ โดยไม่เดินข้ามศีรษะของพระเเม่โพสพ
    • ซีกโลกเหนือเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูร้อน

อ่านข่าวอื่น :

สุดเลอค่า "มงกุฎ Miss Universe Thailand 2024" แรงบันดาลใจจากดาวเหนือ

สภาพอากาศวันนี้ พกร่ม! อีสาน-ใต้-กทม. รับมือฝนตกหนัก 70% พื้นที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง