ความไม่สงบในเมียนมา ส่งผลกระทบอะไรกับประเทศไทยบ้าง ตอนที่ 1

ภูมิภาค
22 มิ.ย. 67
17:38
513
Logo Thai PBS
ความไม่สงบในเมียนมา ส่งผลกระทบอะไรกับประเทศไทยบ้าง ตอนที่ 1
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การสู้รบภายในเมียนมาจะยังคงยืดเยื้อ เเละเป็นสูญญากาศ แต่ละฝ่ายยังคงฉกฉวยโอกาสและแย่งชิงผลประโยชน์ พยายามครองพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณชายเเดนเพื่อบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ แน่นอนว่าประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมได้รับผลกระทบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

วันเสาร์-อาทิตย์ ในช่วง 3 สัปดาห์ ที่ผ่านมา “ศูนย์ข่าวภาคเหนือ ไทยพีบีเอส” ได้นำเกริ่นสาเหตุความขัดแย้ง และคู่ขัดแย้งของสงครามกลางเมืองประเทศเมียนมา ที่เกิดขึ้นมายาวนานและสงครามมีแนวโน้มยืดเยื้อ สัปดาห์นี้จะขอเริ่มที่สงครามในยุคปัจจุบันที่คู่ขัดแย้งหันมาใช้ทรัพยากรและอาวุธทุกอย่าง เพื่อให้ได้มาเพื่อชัยชนะต่อคู่ขัดแย้ง

ล่าสุดกองทัพเมียนมา เริ่มนำอากาศยานโดรน มาใช้ในทิ้งระเบิดจากอากาศสู่พื้นดิน เพื่อโจมตีกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์คู่ขัดแย้ง จากเดิมฝ่ายต่อต้านจะใช้อากาศยานโดรนในสงครามกลางเมือง และกองทัพเมียนมาจะใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด ซึ่งสาเหตุที่กองทัพเมียนมาหันมาใช้อากาศยานโดรนเสริมการโจมตีทางอากาศสู่พื้นดิน เนื่องจากแต่ละเที่ยวบินมีค่าใช้จ่ายสูง และอีกสาเหตุ คือ การคล่องตัวในการรบ

ทั้งนี้อากาศยานโดรนที่ใช้ในกองทัพเมียนมาส่วนใหญ่ผลิตในประเทศรัสเซีย และที่ผ่านมาก็ปรากฏข่าวสารว่า มีเจ้าหน้าที่ของกองทัพรัสเซียเดินทางมาเมียนมา เพื่อฝึกอบรมการใช้อากาศยานโดรนให้กับเจ้าหน้าที่กองทัพเมียนมา

ล่าสุดวันที่ 19 มิถุนายน 2567 กองทัพเมียนมา ใช้อากาศยานโดรนปฏิบัติการทางทหาร ทิ้งระเบิดฐานกองกำลังติดอาวุธชาติพันธ์ุตะอั้ง TNLA ในพื้นที่เมืองหนองเขียว รัฐฉานตอนเหนือ ส่งผลให้ทหารตะอั้ง TNLA บาทเจ็บ 3 นาย และสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ได้เคยใช้อากาศยานโดรนทิ้งระเบิดหลายจุดในพื้นที่กองกำลังติดอาวุธชาติพันธ์ุตะอั้ง TNLA ทำให้ TNLA ต้องออกมากล่าวหาว่าเมียนมาละเมิดข้อตกลงหยุดยิงเมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ทำในประเทศจีน

สงครามภายในเมียนมาจะยังคงยืดเยื้อ เเละเป็นสูญญากาศเช่นนี้อีกนาน เพราะแต่ละฝ่ายยังคงฉกฉวยโอกาสและแย่งชิงผลประโยชน์ในบางช่วง หรือรักษาสภาพคงเดิมต่อไป ในส่วนกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์เอง ยังคงพยายามครองพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณชายเเดนเพื่อบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่

แน่นอนว่าประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน มีอาณาเขตติดประเทศเมียนมา ย่อมได้รับผลกระทบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ “ศูนย์ข่าวภาคเหนือ ไทยพีบีเอส” ประเมินผลกระทบที่ไทยจะได้รับ ดังนี้

1. ยาเสพติดทะลักไทย

จากสถิติของหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคเหนือ หรือ นบ.ยส.35 ระบุว่า ยังพบมีการนำเข้ายาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มรุนแรง เนื่องจากสถานการณ์การสู้รบในประเทศเมียนมา ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธบางกลุ่ม ต้องเร่งผลิตยาเสพติด เพื่อนำเงินมาสะสมอาวุธ เเละฟื้นฟูกองกำลังติดอาวุธหลังการปะทะอย่างหนักหน่วงในช่วงที่ผ่านมา และกลุ่มผู้ผลิตค่อนข้างมีเสรีในการผลิตโดยเฉพาะเขตรัฐฉานเหนือ ที่ติดกับประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ สืบเนื่องจากกำลังภาครัฐส่วนใหญ่ ยังอยู่ในภาระกิจสู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ

ขณะเดียวกันการผลิตยาในปัจจุบันนิยมใช้สารสังเคราะห์ทำให้สามารถผลิตได้ง่ายกว่าในอดีต ทำให้ไม่ต้องมีการขนส่งสารตั้งต้นจากต่างประเทศ ดังนั้นการลักลอบขนยาเข้าพื้นที่ตอนในของไทยจึงมีปริมาณค่อนข้างมาก เห็นได้จากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ในแต่ละครั้ง ล่าสุดพบว่ามียาบ้ารอการนำเข้าทางชายแดนทางภาคเหนือกว่า 90 ล้านเม็ด, ไอซ์ 2 ตัน

2. แรงงานข้ามชาติ

หลังกองทัพเมียนมาต้องการชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์คืนจากฝ่ายต่อต้าน จึงมีเป้าหมายการเสริมทัพกำลังพล 50,000 นาย -100,000 นาย ทำให้ประชากรในประเทศทุกชาติพันธ์ุตื่นตระหนก หวาดกลัวว่าจะถูกบังคับเกณฑ์ทหาร ซึ่งกองทัพเมียนมาทราบดีว่าประชาชนจะตื่นตระหนกในเรื่องนี้ ทำให้มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลจำกัดเพดานโควต้าที่ออกนอกประเทศ รวมทั้งทำให้การขอเอกสารออกนอกประเทศลดน้อยที่สุด ผ่านการประสานไปยังสถานฑูตต่าง ๆ

ขณะเดียวกันพบว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่งหนีการบังคับเกณฑ์ทหารหลบหนีผ่านทางช่องทางธรรมชาติมายังประเทศ เพื่อมาเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยอย่างผิดกฏหมาย

3.ระบบสาธารณสุข

สงครามภายในเมียนมา ส่งผลให้มีการทะลักเข้ามาของผู้ลี้ภัยจากความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

3.1. กรณีผู้ลี้ภัยชั่วคราวส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งการลี้ภัยมายังประเทศไทย ส่งผลให้ประชาชนชาวเมียนมากลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้อย่างเต็มที่และด้วยจำนวนผู้ลี้ภัยที่มีจำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดในบริเวณศูนย์ฯที่ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งประเทศไทยต้องมีการจัดระเบียบระบบสาธารณสุขในค่ายมนุษยธรรมอย่างมีระบบ เพื่อไม่ให้ระบาดภายในประเทศ

3.2. กรณีลี้ภัยมาเป็นแรงงานข้ามชาติแบบผิดกฏหมาย กรณีนี้เสี่ยงต่อการระบาดในประเทศ เพราะไม่ได้มีการควบคุมหรือตรวจสอบสุขภาพแรงงานกลุ่มนี้ตั้งแต่ต้น

4.ด้านความมั่นคง

 

เนื่องจากหลายพื้นที่ของเขตอิทธิพลกองกำลังติดอาวุธชาติพันธ์ุตรงข้ามประเทศไทย มักจะเป็นที่ตั้งของบ่อนคาสิโน, สถานบันเทิงครบวงจร และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อผู้เสียหายและภาพรวมของประเทศ

5.เศรษกิจ

 

ในช่วงการสู้รบของฝ่ายต่อต้าน และ ทหารเมียนมา ในพื้นที่จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามจังหวัดตาก ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ระบุว่า มูลค่าการค้าของไทย ลดลงกว่าร้อยละสี่สิบ และจากการตรวจสอบหลังการสู้รบยุติ ของ“ ศูนย์ข่าวภาคเหนือ ไทยพีบีเอส” พบว่า การขนส่งสินค้าจากไทยเข้าสู่พื้นที่ชั้นใน ยังมีข้อจำกัด และ มีต้นทุนที่สูงขึ้น 2-3 เท่า

“ศูนย์ข่าวภาคเหนือ ไทยพีบีเอส” จะเจาะลึก 5 ผลกระทบที่ประเทศไทย ได้รับจากสงครามภายในประเทศเพื่อนบ้านอย่างละเอียด มานำเสนอทุกวันเสาร์-วันอาทิตย์ ต่อไป


รายงาน : ทีมศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง