ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดเสรีการเงิน นับถอยหลัง แบงก์คงต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันทั้งทางตรง-ทางอ้อม

เศรษฐกิจ
17 ก.ย. 54
06:15
24
Logo Thai PBS
เปิดเสรีการเงิน นับถอยหลัง แบงก์คงต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันทั้งทางตรง-ทางอ้อม

ท่ามกลางกระแสการเปิดเสรีการค้าและบริการ โดยเฉพาะภายใต้เส้นทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นั้น สาขาบริการด้านการเงินก็เป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่หลีกหนีทิศทางดังกล่าวไปไม่พ้น

 ถึงแม้ว่าความคืบหน้าของการเจรจากรอบการเปิดเสรีสำหรับสาขาบริการด้านการเงินดังกล่าว จะยังไม่ชัดเจนและก้าวหน้าเท่ากับมิติของสินค้าที่ได้เข้าสู่จังหวะของการลดภาษีเป็นส่วนใหญ่แล้วตั้งแต่ปี 2553 ก็ตาม   

โดยจากการเจรจารวม 5 รอบตั้งแต่ปี  2539-2554   ภาคส่วนที่มีความคืบหน้ามากที่สุด คือ สาขาหลักทรัพย์ที่อนุญาตให้ต่างชาติสามารถถือหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์ได้ถึง 100% ในบางธุรกิจ ในกิจการที่มีอยู่แล้ว ขณะที่ อีกสองสาขาหลักที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์และประกันภัย ยังไม่ได้มีข้อผูกพันด้านการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติเกินกว่า 49% ที่ชัดเจน
 
            
กระนั้นก็ดี ด้วยเล็งเห็นถึงทิศทางของการเปิดเสรีภาคบริการในสาขาหลักๆ ดังกล่าวล่วงหน้า ทางการไทยได้วางแนวทางไปสู่การเพิ่มบทบาทของผู้เล่นรายใหม่และสถาบันการเงินต่างชาติมากขึ้น ด้วยเงื่อนเวลาที่งวดเข้ามามากกว่ากรอบการเปิดเสรีในเวทีภูมิภาค อาทิ การพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ใหม่ตั้งแต่ปี 2555 และใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2557 ขณะที่ รัฐบาลปัจจุบันแสดงเจตนารมณ์ที่ต้องการเร่งการเปิดเสรีดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนของธนาคารพาณิชย์ ให้เร็วขึ้นอีก   
 

แม้ว่าการพิจารณาในมิติของข้อมูลทางการเงิน รวมถึงจำนวนช่องทางการขายและให้บริการของธนาคารพาณิชย์ไทย จะชี้ถึงความพร้อมในการรับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้นกว่าอดีต    แต่คงต้องยอมรับว่า ความพร้อมดังกล่าว ยังมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันสำหรับตลาดลูกค้าภายในประเทศมากกว่านอกประเทศ

 ทั้งนี้ เนื่องจากคู่แข่งที่เป็นสถาบันการเงินชั้นนำระดับภูมิภาค ยังมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่เหนือกว่ามาก ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินระดับภูมิภาคดังกล่าว ก็ยังแสดงความสนใจที่จะเพิ่มบทบาทในระบบสถาบันการเงินไทย ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและเพิ่มความเข้มข้นในการแข่งขันให้กับธนาคารพาณิชย์ไทยอย่างยากจะหลีกเลี่ยง  

นอกเหนือไปจากผลกระทบทางอ้อมจากการเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ในปี 2555 ผ่านบริษัทในเครือทั้งบริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม 

ขณะที่ เป็นที่ชัดเจนว่า แนวนโยบายเปิดเสรีฯ ดังกล่าว น่าจะช่วยให้ผู้บริโภคและธุรกิจไทยได้รับประโยชน์ในระยะปานกลางถึงยาวจากทั้งความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ คุณภาพการบริการ และเงื่อนไขด้านราคาที่ดีขึ้น หรือต้นทุนที่ต่ำลงกว่าเดิม  ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว คงสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคไทยให้ได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุนในอาเซียนได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง