ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เดินหน้าเต็มสูบ! 11 อุตสาหกรรม ดัน Soft Power บุกเวทีโลก

สังคม
2 ก.ค. 67
11:54
818
Logo Thai PBS
เดินหน้าเต็มสูบ! 11 อุตสาหกรรม ดัน Soft Power บุกเวทีโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

จบลงอย่างยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จ สำหรับงาน THACCA SPLASH : Soft Power 2024 ครั้งแรกของประเทศไทย ที่จัดขึ้น เมื่อวันที่ 28-30 มิ.ย.2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เพื่อผลักดัน 11 อุตสาหกรรม Soft Power โดยรัฐบาลมุ่งปักหมุดใน 3 สร้าง คือ สร้างแรงบันดาลใจ ให้ทุกคนตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง สร้างเวทีแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม Soft Power ของไทยผ่านการเรียนรู้ case study ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ และสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางถึงพลัง Soft Powerไทย ให้สื่อสารทุกทิศทางอย่างทรงพลัง เปรียบเสมือนการสาด หรือ "SPLASH"

อ่านข่าว : นายกฯ โชว์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย สู่เวทีโลก พัฒนาต้นน้ำ-ปลายน้ำ

ทั้งนิทรรศการจาก 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่จะทำให้ทุกคนเห็นศักยภาพด้าน Soft Power ของประเทศไทย เวทีแสดงวิสัยทัศน์ โชว์ศักยภาพ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นิทรรศการจากนานาชาติที่จะนำเสนอโอกาสและความสำเร็จของนโยบายด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ รวมทั้งห้องเรียน การพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะสำหรับทุกๆ คนที่มองหาโอกาส
9 เดือน 17 วัน นับตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย.2566 จนถึง 30 มิ.ย.2567 ตั้งแต่วันที่การตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และเป็นวันประกาศขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นทางการ

งาน THACCA SPLASH : Soft Power 2024 เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า Soft Power เป็นกำลังสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศที่จะก้าวต่อไปอย่างยิ่งใหญ่

สำหรับเป้าหมายของ 11 อุตสาหกรรมในอนาคตต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ในช่วงท้ายก่อนปิดงาน ได้มีการเสวนาจากประธานอนุกรรมการแต่ละด้าน ถึงเป้าหมายในอนาคต

หนุนแปลงานเขียนไทยสู่ตลาดต่างประเทศ

นายจรัญ หอมเทียนทอง ประธานคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ กล่าวว่า ตั้งแต่จัดงานหนังสือมา 50 ปี ครั้งนี้เป็นงานหนังสือที่สวยที่สุดที่ทุกคนชม

การจัดนิทรรศการอุตสาหกรรมด้านหนังสือ คำว่า “ไทย” หนังสือที่นำมาแสดงเป็นหนังสือที่ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงภาษาต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมานักเขียนจะเป็นผู้จัดทำกันเอง แต่จากนี้ไปเมื่อได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยที่มีโครงการแปลหนังสือไทยไปต่างประเทศ ซึ่งจะให้งบประมาณปี 2568 จากนี้ไปวรรณกรรมไทยจะไปต่างประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะสร้างนักแปล สร้างนักวาดภาพประกอบ

นอกจากนี้ โครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อย่างเช่น โครงการอบรมนักเขียนที่ จ.บุรีรัมย์

ซึ่งรัฐบาลต้องการให้คนไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง เช่นเดียวกันถ้าโครงการนี้สำเร็จ การอ่านหนังสือของคนไทย จะหลุดจากกับดักประเทศที่มีคนอ่านหนังสือน้อย ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีคนอ่านหนังสือมากขึ้น หลุดจากคำว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคนอ่านหนังสือน้อยที่สุดในอาเซียน

อ่านข่าว : ความหวัง "สถาบันหนังสือ" ซอฟต์พาวเวอร์ นับ 1 กับงบ 69 ล้าน

"หนังไทย" โกอินเตอร์

ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดีและแอนิเมชัน ระบุว่าต้องมีการใช้งบประมาณตั้งแต่การผลิตบทซีรีย์ ไปจนถึงการโปรโมทประชาสัมพันธ์ จนถึงการเผยแพร่ ในทุกๆ กระบวนการและขั้นตอน ต้องมีงบประมาณสนับสนุน อย่างน้อย 10-20% ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ สารคดี แอนิเมชัน และ 5-10% ของซีรีย์

ปัจจุบันภาพยนตร์ไทยผลิตประมาณ 60 เรื่องต่อปี ซีรีย์กว่า 200 เรื่อง ดังนั้น ต้องมีงบประมาณที่สนับสนุนในสัดส่วนที่จะผลักดันผลงานที่ดีออกมาได้

สำหรับงานเทศกาลภาพยนตร์นิวยอร์ก ประจำปี 2024 ที่จะจัดขึ้นช่วงเดือน ก.ค.นี้ จะมีภาพยนตร์ไทยไปร่วมฉาย 6 เรื่อง ประกอบด้วย เรื่อง แดนสาป The Cursed Land , เรื่องสมมติ (Supposed) , เรื่อง ปิดเมืองล่า ( Pattaya Heat) , ช.พ.๑ สมรภูมิคืนชีพ (Operation Undead) , เรื่อง หลานม่า (How to Make Millions Before Grandma Dies) และ เพื่อน (ไม่) สนิท (Not Friends)

และอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งผลักดันให้เป็นรูปธรรมคือการทำ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ เป็นสิ่งที่ต้องการสำหรับคนทำภาพยนตร์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการใกล้เข้าสู่กระบวนการการยื่นเข้าสู่รัฐสภา ซึ่งต้องมีสภาภาพยนตร์

นอกจากนี้ยังมีโครงการ OFOS Training 10 หลักสูตร ทั้งผู้ประกอบการ นักเขียนบท production House ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ เป็นต้น

หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย - ดันสมุนไพรพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร

โครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย เพื่อ Soft Power อาหารไทยอย่างยั่งยืน อีกหนึ่งโครงการที่คณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหารผลักดันเพื่อให้มีการสร้างคน สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจ

ชุมพล ประธานคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร เปิดเผยว่าในปีนี้จะพัฒนาคนในอุตสาหกรรมอาหาร 6,500 คน และในปีหน้าเพิ่มเป็น 15000 คน ทั้งนี้ 3 วัน ของการจัดงานมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว 2,000-3,000 คน

สำหรับโครงการนี้พร้อมที่จะเริ่มปฏิบัติการ โดยเริ่มจากนำคุณครู อาจารย์จาก อาชีวศึกษา จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ปลายเดือน ก.ค. และจะเทรนพร้อมกันกับสถาบันศึกษาทั้ง 130 สถาบันทั่วประเทศ

ส่วนหลักสูตรออนไลน์สามารถเริ่มเรียนได้ 1 ส.ค.และจะมีการเรียนรู้อีกหลาย 10 หลักสูตรที่จะตามเข้ามา

ทั้งนี้เชฟชุมชน การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์อาหารเกี่ยวข้องกับทุกๆ ชุมชน ทุกๆหมู่บ้าน ทางคณะอนุกรรมการฯ จะเข้าไปช่วยพัฒนาต้นน้ำให้เป็นสินค้า โดยเฉพาะภาคเกษตร ซึ่งคนไทยทำอาหารเก่งแต่ยังขาดการโฆษณาประชาสัมพันธ์
นอกจากนี้เน้น “Functional Foods และ Medical Food เน้นให้ปลูกสมุนไพร การพัฒนาอาหารไทยต้องวางเป้าหมาย นอกจากจะเป็นร้านอาหารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต การพัฒนาอาหารที่ขายออก ส่งออก ยังต้องดำเนินการต่อไป

เร่งผลักดัน “นักออกแบบไทย” สู่สากล

ภายในงาน THACCA SPLASH : Soft Power 2024 ได้เปิดตัว FRONT 100 ที่รวมผลงานของนักออกแบบหลากหลายแขนงจากผลงานนักออกแบบไทย 100 คน เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นและให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล

นายดวงฤทธิ์ บุนนาค ประธานคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการออกแบบ กล่าวว่า ซึ่งภายใน 3-4 เดือน จะจัดทำเป็นนิตยสารเผยแพร่ผลงานนักออกแบบไทย 100 คน และต้นปี 2568 จะเปิดตัวหนังสือ ออกไปยังเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นลอนดอน ปารีส นิวยอร์ก โตเกียว และจะมีการจัดงานเปิดตัวหนังสือ และจะมีการจัดงานเปิดตัวหนังสือ จะนำนักออกแบบไทยไปพบชุมชนนักออกแบบของแต่ละเมืองด้วยแลกเปลี่ยนกระบวนการสร้างสรรค์ของนักออกแบบกับต่างชาติ และจะต่อเนื่องไปทุกๆ ปี เพื่อคัดเลือกนักออกแบบไทย

ภายใน 6 เดือน จะมีโครงการ font เพื่อเปิดโอกาสให้นักออกแบบ พัฒนาทักษะเพื่อการออกแบบตัวหนังสือที่เป็นอัตลักษณ์ความเป็นไทย ในการต่อยอดสร้างมูลค่า

อีกหนึ่งนโยบายที่สำคัญคือการเปลี่ยนนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาให้กลายเป็นสินทรัพย์ ซึ่งการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหัวใจของการออกแบบ จะทำได้โดยง่ายและลดขั้นตอน ให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ พร้อมผลักดัน desing tax เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เจ้าของโครงการจัดจ้างนักออกแบบภายในประเทศเพื่อขยายโอกาสด้านการแข่งขัน

การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เป้าหมายไทยเป็น Tourism Hub

พาวิลเลียนนี้อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว นำเสนอท่องเที่ยวในมิติใหม่ๆ เป็นจอ 360 องศา ซึ่งไม่ได้นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวที่งดงาม หรือวัดวาอารามที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว แต่เป็นนิทรรศการที่พูดถึงท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เช่น ท่องเที่ยวเชิงอาหาร เรื่องของชุมชน ชุมชนสร้างสรรค์ หัตถกรรมสร้างสรรค์

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว ระบุว่าโจทย์ใหญ่ของอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว คือทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวมาช่วยบูรณาการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวแหล่งวัฒนธรรมและกระจายรายได้สู่จังหวัดที่น่าเที่ยวอื่นๆ เนื่องจากที่ผ่านมาคือนักท่องเที่ยว 80% กระจุกตัวอยู่ใน 8 จังหวัดเท่านั้น
และเรื่องที่สำคัญคือ แหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ต้องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ยั่งยืน โดยต้องใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน และทุกคน ในแต่ละจังหวัด

เพื่อเป้าหมายประเทศไทยต้องเป็น Tourism Hub และเป็น Destination ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรท่องเที่ยวเพื่อให้ทุกคนเป็นประกอบการ ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้ โดยมีการสอน การสร้างองค์ความรู้การเป็นเจ้าบ้านที่ดี การบริหารจัดการภายในธุรกิจ

คัดเพชร "ลิซ่า" แบบไทย - สนับสนุนดนตรีพื้นถิ่นสู่เวทีโลก

นายวิเชียร ฤกษ์ไพศาล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี กล่าวว่าอุตสาหกรรมเพลงค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่ที่ผ่านมาไม่ได้คุยกัน

ซึ่งในกระบวนการที่จะทำต่อจากนี้ จะต้องมีการคัดเพชรอย่าง "ลิซ่า" แบบไทยมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว และพัฒนาต่อยอด ออกไปสร้างโอกาสใหม่ๆ กลับเข้ามาให้กับวงการดนตรีของประเทศไทย ซึ่งให้โอกาสเด็กไทยได้เรียนรู้ พร้อมๆ กับบุคคลที่ประสบความสำเร็จ สนับสนุนศิลปินไทย เพลงไทย รวมถึงดนตรีที่มีรากฐานพื้นถิ่น ต่อยอดสำหรับให้พร้อมสู่เวทีโลก สร้างกลไกเพื่อให้คนไทยเข้าถึงและสนับสนุนเพลงไทย และส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา

ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงสร้างศิลปินแต่รวมถึงการสร้างทีมที่มีคุณภาพในการผลิตเพลง ตั้งแต่นักเขียนเพลง นักดนตรี โปรดิวเซอร์

อุตสาหกรรมเกมในไทยโต 4 หมื่นล้าน/ปี

นายสิทธิชัย เทพไพฑูรย์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเกม เปิดเผยว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมเกมในประเทศไทย 4 หมื่นล้านต่อปี แต่เป็นของคนไทย 2 % และมีมหาวิทยาลัยที่สอนด้านเกม 8 มหาวิทยาลัย 22 หลักสูตร

โดยเด็กไทยสามารถไปคว้าเหรียญทองจากภาคอีสปอร์ต 1เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าศักยภาพของเกมมันซ่อนอยู่ ในประเทศไทย มีบุคลากรที่พร้อม ที่พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมเกมและพัฒนาเกม เพียงขาดการสนับสนุน

การเปลี่ยนคนเล่นเกมให้เป็นรายได้ ซึ่งจะจัดการแข่งขันเกมระดับท้องถิ่นเพื่อสร้างนักกีฬาต่อเนื่องในประเทศไทย และเพื่อให้เกิดการสนับสนุนเช่นเดียวกันกีฬาอื่นๆ ผลักดันให้มีเกมมากขึ้น เพิ่มสัดส่วนมูลค่าของเกมในประเทศไทย และจัดงานอีสปอร์ตให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของเซาท์อีสเอเชียให้สำเร็จ รวมถึงการร่วมมือกับสาขาอื่น สามารถนำเกมไปใช้ได้กับสาขาอื่นๆ ได้

ตั้งเป้าไทยจะติด 1 ในประเทศสุดยอดเฟสติวัลโลก

FESTIVAL PAVILION พร้อมไฮไลท์แสดงประติมากรรม เทียนพรรษาจากเทศกาลแห่เทียนพรรษา จ.อุบลราชธานี สะท้อนเฟสติวัลไทยอันเป็นเอกลักษณ์

ชฏาทิพย์ จูตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเฟสติวัล ระบุว่า อุตสาหกรรมด้านเฟสติวัลมุ่งเน้นทำอย่างไรให้งานเทศกาล ประเพณีเพิ่มมูลค่า การแปลงคุณค่าของประเพณีไปเป็นมูลค่า เพื่อให้คนทั้งโลกมาเยี่ยมเยือนประเทศไทย และเป็นการต่อยอดมูลค่าของท้องถิ่น

จากนี้ไป ทุกๆ เทศกาลต้องมีเรื่องราวที่ไปสู่คนทั้งโลกและมีเรื่องราวที่ดึงคนทั่วโลกมาเที่ยวประเทศไทย เข้าใจในความเป็นไทย เป็นการดึงงานเทศกาลของแต่ละจังหวัดออกมาและต่อยอด รวบรวมเทศกาล ประเพณีของแต่ละจังหวัดและทำการสื่อสารบนแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้

งานที่เกิดขึ้นทั่วประเทศพร้อมๆ กัน สงกรานต์ ลอยกระทง งานเคานต์ดาวน์ ปีใหม่ การคัดเลือกงานจาก 4 ภาค มาเป็นเอกลักษณ์ไทยแลนด์ เป็นงานใหญ่ที่คนทั่วโลกรู้จักและอยากมาชม การจัดเฟสติวัลซิตีซึ่งจะคัดเลือกให้ จ.เชียงใหม่ เป็นเมืองแรกที่จะเป็นเฟสติวัลซิตี ทั้งนี้คัดเลือกเฟสติวัลซิตีในจังหวัดนั้น ในช่วงระยะเวลานั้น ต้องอัดแน่นไปด้วยกิจกรรม และจะได้รับการสื่อสารไปทั่วโลกให้เข้าใจว่าเดือนไหนควรท่องเที่ยวจังหวัดอะไร แต่ละจังหวัดต้องมีรายได้ ไม่ใช่เฉพาะช่วงที่มีเทศกาล แต่ควรมีรายได้ทั้ง 365 วัน

ในการของการสร้างองค์ความรู้เรื่องเฟสติวัลได้มีการรวบรวมประเพณีทั้งหลายเพื่อให้คนทั่วโลกได้รู้จักได้เข้าใจถึงที่มาของงานแต่ละประเพณี เพื่อสื่อสารเรื่องวัฒนธรรมประเพณีว่าเป็นเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่สื่อสารไปทั่วโลก

ในขณะเดียวกันได้จัดให้มี เฟสติวัล อะคาเดมี โดยการจัดหลักสูตรสอนให้คนเป็นออแกไนเซอร์ที่ดี จัดหลักสูตรให้มีการต่อยอด มีการอบรมให้มีคนที่เป็น KOL (Key Opinion Leader) ที่สามารถเล่าเรื่องราวทั้งหลายจากงานประเพณีเพื่อบอกกล่าวไปทั่วโลก

ทั้งนี้การจัดองค์ความรู้ จะทำให้คนทั้ง 77 จังหวัด มีความเข้าใจและมีศักยภาพในการจัดงานประเพณีท้องถิ่นของตัวเอง เพื่อให้เกิดความสำเร็จ และมีรายได้สู่ท้องถิ่นตัวเอง พร้อมตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะติด 1 ในประเทศสุดยอดเฟสติวัลโลก และหวังปีหน้าเป็น Festival Year มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวไทย 40 ล้านคน

Soft Power ศิลปะ ผลักดันหอศิลป์-สภาศิลปะ

นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านศิลปะ กล่าวว่า งานศิลปะของไทย เป็นหนึ่งในรากฐานของอารยธรรมที่ยาวนาน ซึ่งไปปรากฏเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว วัฒนธรรมประเพณี และการดำรงคุณค่า อัตลักษณ์ความเป็นไทย

โครงการ Thailand Art Move เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นพื้นที่รวบรวมศูนย์ข้อมูลวงการศิลปะของไทยทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเป็นหน้าต่างบานใหญ่ให้คนไทยและชาวต่างประเทศที่สนใจศิลปะไทย สามารถค้นหาศิลปิน แกลอรี ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวจะแล้วเสร็จไม่เกินเดือน ก.พ.2568

พาวิลเลียนนี้แสดงผลงานศิลปะจำนวน 12 ชิ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในจำนวนกว่า 1,000 ชิ้น ในหอศิลป์แห่งใหม่ ที่รัชดาภิเษก ซึ่งจะเปิดเฟซที่ 1 ได้ในเดือน ม.ค.2568 และเฟสต่อไป เดือน ธ.ค.ในพื้นที่ 15,000 ตารางเมตร คาดว่ามูลค่ารวมของงานศิลปะที่จะไปจัดแสดงในหอศิลป์แห่งใหม่ประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งงานศิลปะได้รับการสนับสนุนจากนักสะสม นักครอบครองงานศิลปะ

การพัฒนาคน ฝึกอบรมพัฒนาคน การพัฒนาวงการศิลปะ เป็นการปูรากฐาน หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาครูศิลปะทั่วประเทศ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการสอนในชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษา

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้ง สภาศิลปะ เพื่อเป็นศูนย์กลางของงานศิลปะของประเทศไทย เป็นองค์กรอิสระที่ได้เงินสนับสนุนจากรัฐเพื่อส่งเสริมให้เกิดความงอกงามในงานศิลปะ

มุ่งสู่ THAILAND ONLY แฟชั่นไทย เป็นหนึ่งในใจตลาดโลก

อัจฉรา อัมพุช ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ระบุว่า อุตสาหกรรมด้านแฟชั่น มุ่งผลักดันให้วงการแฟชั่นไทยก้าวสู่ระดับโลกด้วยต้นทุนทาง ภูมิปัญญาไทย ผนวกกับความสร้างสรรค์ โดยมุ่งเป้า 4 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ เครื่องแต่งกาย จิวเวลรี่ บิวตี้ งานคราฟต์

เครื่องแต่งกายเน้นการพัฒนา และเสริมทักษะเพื่อให้การผลิตมีคุณภาพที่ดีขึ้น ยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้เติบโตในอนาคตอย่างยั่นยืน พร้อมเน้นผู้ประกอบการสร้างแบรนด์

ด้านบิวตี้ ส่งเสริมการผลิตโปรดักซ์ให้มีเอกลักษณ์แบบไทย ที่มีส่วนผสมของสมุนไพร ให้เป็นเอกลักษณ์ที่ดี ล้ำเลิศ มีคุณภาพที่ดี ด้าน จิวเวลรี เน้นการสร้างแบรนด์ ต้องทำร่วมกันกับผู้ประกอบการ

งานคราฟต์ ที่มองเห็นวัฒนธรรม รากเหง้า ศิลปะ ต้องสานต่องานคราฟต์ของคนไทย พร้อมฝึกเสริมทักษะ เชิดชูช่างฝีมือ เพื่อให้มีความภูมิใจ มีเกียรติที่จะผลิตสินค้า ซึ่งหัตถกรรมของไทยต้องเป็นในทิศทาง New Luxury

ควบคู่กับกระบวนการการสร้างคน เสริมหลักสูตร ตั้งแต่โรงเรียน มหาวิทยาลัย ให้ตรงเป้าหมาย และให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนได้ รวมถึงการโปรโมทและการทำงานร่วมกันกับอุตสาหกรรมสาขาอื่นๆ

"มวยไทย" โด่งดังทั่วโลก

SPORT PAVILION ได้หยิบยกมวยไทย มาชูโรง ซึ่งทำไมต้องเป็นมวยไทยนั้น นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา อธิบายว่ามวยไทย เป็นวัฒนธรรม เป็นมรดก และมีชื่อคำว่า "ไทย" อยู่ในชื่อกีฬา ซึ่งเป็นกีฬาประเภทเดียวที่มี "ไทย" อยู่ในชื่อ

ปัจจุบันทั่วโลกมีการขึ้นทะเบียนค่ายมวยกับสมาพันธ์กีฬามวยไทยโลกกว่า 100,000 แสนค่าย ซึ่งเฉพาะในประเทศอังกฤษ มีค่ายมวยไทยมากถึง 4,000 -5,000 ค่าย ซึ่งชี้วัดได้ว่าเป็นความโด่งดังของมวยไทย

อนุกรรมการฯ จะเข้าไปต่อยอด ด้วยการสร้างบุคลากรทางมวย ทั้งมวย ครูมวย โปรโมเตอร์ ผู้ตัดสินมวย มีผู้ผลิตสินค้ามวยทั้งขายในประเทศและส่งออก ผลักดันให้คนเข้าถึงกีฬามวยไทย รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวกับมวยไทย มีโรงเรียนมวยไทยทั่วประเทศเตรียม เปิดสวิตช์ รับสมัครผู้ที่สนใจจะเรียนให้มีโอกาสได้เข้าไปเรียนฟรี รวมถึงการผลักดันกีฬามวยไทยให้สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนไทย ช่วยผู้ส่งออกสินค้ามวย

อ่านข่าว :

"พิมล" ถกคณะอนุกรรมการฯ ร่วมคาดการณ์มูลค่าศก. "มวยไทยซอฟต์พาวเวอร์"

ชูซอฟต์พาวเวอร์! ต่างชาติแฮปปี้แห่ฝึก "มวยไทย" กับ 3 นักชกดัง

"มวยไทย" ซอฟต์พาวเวอร์ ปัง! ต่างชาติแห่เรียน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง