ผู้ป่วยจิตเวชพุ่งสูง! จิตแพทย์ไม่พอเฉลี่ย 1.25 คนต่อแสนคน

สังคม
2 ก.ค. 67
16:49
201
Logo Thai PBS
ผู้ป่วยจิตเวชพุ่งสูง! จิตแพทย์ไม่พอเฉลี่ย 1.25 คนต่อแสนคน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมสุขภาพจิตร่วมภาคีแก้ปัญหาระหว่างรอการผลิตจิตแพทย์เพิ่มใน 5 ปี 400 คน อาศัยการอบรมวิชาชีพใกล้เคียง เน้นส่งเสริมป้องกัน คัดกรอง ก่อนส่งต่อจิตแพทย์ ตั้งเป้าเพิ่มอัตราส่วนให้ถึง 1.7 คนต่อแสนประชากร

เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2567 ที่อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดการฝึกอบรมหลักสูตรการปฏิบัติงานด้านจิตวิทยาคลินิก มีการเปิดเผยข้อมูล เรื่องภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2567 พบปัญหาสุขภาพจิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสังคมไทย ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 ช่วงก่อนโควิด เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 หลังโควิด

ป่วยจิตเวช 7 ล้านคน เข้าไม่ถึงการรักษา

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน จากข้อมูลความชุกของประชาชนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตสูงถึง 10 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้เข้ารับรักษาเกือบ 7,000,000 คน อุปสรรคอยู่ที่ช่องว่างการเข้าถึงการรักษายังขาดอยู่ ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2566 –22 เม.ย.2567 พบผู้มีความเครียดสูงถึงร้อยละ 15.48, เสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 17.20 และ เสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 10.63 มากกว่าปีที่ผ่านมา

ผู้ป่วยจิตเวชพุ่ง บุคลากร-จิตแพทย์ไม่พอ

นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า เมื่อเทียบอัตรากำลังของบุคลากรด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดของประเทศ ยังถือว่าขาดแคลน ปัจจุบันมีจิตแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และ กรุงเทพมหานคร เพียง 822 คน จำแนกเป็นจิตแพทย์ทั่วไปจำนวน 632 คนคิดเป็นร้อยละ 76.9 และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจำนวน 190 คนคิดเป็นร้อยละ 23.1

คิดเป็นอัตราเฉลี่ยจิตแพทย์ = 1.25 คนต่อ 100,000 ประชากร

การแก้ไขประเด็นดังกล่าวกรมสุขภาพจิตได้ประสานความร่วมมือกับราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย หารือแนวทางเพิ่มการผลิตจิตแพทย์สุขภาพจิตและยาเสพติดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตตั้งเป้าหมายการเพิ่มอัตราเฉลี่ยจิตแพทย์ เป็น 1.7 คนต่อแสนประชากร โดยร่วมผลักดันผลิตจิตแพทย์ให้ได้ 400 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี พร้อมกระจายบริการในทุกเขตสุขภาพ 

ตั้งเป้า AI แก้ปัญหาขาดแคลนจิตแพทย์เบื้องต้น

ระหว่างรอการผลิตบุคลากร 5 ปี อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า จะใช้ระบบเทคโนโลยี AI และแอปฯ DMIND ช่วยบริการผู้ป่วย สิ่งสำคัญแม้จะมี AI เข้ามาช่วย แต่บุคลากรยังสำคัญในการให้ข้อมูล ระหว่างรอการผลิตจิตแพทย์เพิ่มเติม ก็มีการจัดอบรมพัฒนาทักษะให้กับบุคลากร อย่างการฝึกอบรมหลักสูตร "การปฏิบัติงานด้านจิตวิทยาคลินิก" โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ด้าน นพ.จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามเป้าหมายการเพิ่มจิตแพทย์ให้ได้ภายใน 5 ปีจำนวน 400 คน ตั้งใจให้สัดส่วนผลิตจิตแพทย์สำหรับผู้ใหญ่มากกว่าจิตแพทย์เด็ก เนื่องจากสถาบันฝึกอบรมจิตแพทย์เด็กยังน้อย และยังติดเกณฑ์ของทางราชวิทยาลัยฯ และแพทยสภา เนื่องจากต้องมีจำนวนอาจารย์ฝึกตามเกณฑ์ ซึ่งขณะนี้ได้มีการหารือเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาอยู่

อ่านข่าวอื่น :

เจ็บหลายสิบ! "แอร์ยูโรปา" ตกหลุมอากาศลงจอดฉุกเฉิน "บราซิล"

แกะกล่องความลับ! เบื้องหลัง "ลิซ่า" ถ่ายทำ "ROCKSTAR"

แม่ร้องหมอ รพ.ย่านคลองหนึ่ง ทำคลอดจนลูกแขนขวาผิดปกติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง