ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ขยายแผลช้ำ "ลุงชาญ" ศาลฯ รับฟ้องคดีทุจริต ติดกับดักตัวเอง

การเมือง
2 ก.ค. 67
19:00
2,552
Logo Thai PBS
ขยายแผลช้ำ "ลุงชาญ" ศาลฯ รับฟ้องคดีทุจริต ติดกับดักตัวเอง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ยังกลืนไม่เข้า คายไม่ออก แม้ "ลุงชาญ" ชาญ พวงเพ็ชร์ จะลอยลำเป็นว่าที่ นายก อบจ.ปทุมธานี เป็นสมัยที่ 4 แล้ว แต่แผลในอดีต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายก อบจ.ปทุมธานี และพวกถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อถุงยังชีพเมื่อปี 2555 แม้เวลาจะผ่านไป 12 ปีแล้ว แต่คดียังเดินหน้าต่อเนื่อง หลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาฯ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ม.ค.2567 นายชาญและพวกได้เดินทางไปรายงานตัว เพื่อส่งฟ้องคดีดังกล่าว โดยยื่นโฉนดที่ดินเป็นหลักทรัพย์ประกันตัว ก่อนที่ศาลอาญาฯ จะนัดไต่สวนสืบคดีช่วงกลางเดือน ก.ค.นี้

นอกจากนี้ ยังพบว่า "ลุงชาญ" ชาญ พวงเพ็ชร์ มีชื่อเป็น 1 ใน 5 ผู้บริหารระดับของ อบจ. ที่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 35/2560 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 9 ซึ่งเป็นเหตุทำให้ต้องถูกระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่เป็นการชั่วคราว เพื่อเข้าสู่กระบวนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนจากหน่วยงานต้นสังกัดเป็นทางการ โดยถูกระบุ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ในช่วงปี 2555-2556 หลายสัญญา

ต่อมาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า มีการตั้งราคาจัดซื้อสูงเกินกว่าความเป็นจริงถึงกว่า 40 ล้านบาท และได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับไปดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่ามีการผลการไต่สวนหรือชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐรายใด

พลันที่คดีเก่าของ "ลุงชาญ" ถูกขุดคุ้ย "บิ๊กแจ๊ส" พล.ต.อ.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตนายก อบจ.ปทุมธานี คู่แข่งที่เพิ่งประกาศรับความปราชัย ระบุในช่วงหนึ่งของรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ในวันนี้ (2 ก.ค.) ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ได้แพ้นายชาญ เพราะเป็นคนมีคดีติดตัว ยังข้องใจทำไมพรรคเพื่อไทยเลือกคนมีคดีมาลงสมัครเป็นตัวแทนพรรค พรรคเพื่อไทยโดนบ้านใหญ่ร่วมกันหลอกหรือเปล่า

ไม่มีใครทราบข้อเท็จจริงว่า พรรคเพื่อไทยถูกหลอกหรือเป็นเพราะไม่ทราบว่า "ลุงชาญ" เมื่อครั้งยังเป็นเพียงผู้สมัคร ติดล็อกด้วยคดีค้างเก่าและมีปมข้อกฎหมายที่จะต้องตีความหรือไม่ แต่แน่ ๆ คือ ทางฝั่งพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็น นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ต่างออกมาปกป้อง โดยระบุว่านายชาญจะหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม ต้องศาลสั่งเท่านั้น เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่และสถานการณ์ใหม่

ดังนั้น นายชาญ ก็ยังมีสิทธิเพราะตอนสมัครยังไม่ขาดคุณสมบัติ ตอนนี้ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และต้องปล่อยให้เป็นไปตามข้อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ปัจจุบันยังไม่มีข้อกฎหมายใดบังคับ ห้าม และยังไม่มีการสั่งจากศาล

ไม่ต่างจาก นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เห็นว่า กรณีของนายชาญ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น เป็นกรณีทั่วไป คดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจศาล ควรให้ศาลเป็นผู้สั่ง หากกระทรวงมหาดไทยสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งผู้ถูกคำสั่งสามารถฟ้องร้องไปยังศาลปกครองได้

"ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว เห็นว่า ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้อง ในขณะที่ศาลประทับรับฟ้อง นายชาญ ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ จึงไม่มีกรณีที่ต้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาล ถ้าจะต้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ป.ป.ช.ที่เป็นโจทก์ต้องยื่นคำร้องต่อศาล ... การให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ไม่มีบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาของศาลอาญาทุจริต เพียงแต่เขียนไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. และเป็นดุลพินิจของศาล ว่าต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ไม่ใช่เป็นการให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยอัตโนมัติ ... และท้ายที่สุด กกต.ได้รับรองนายชาญให้เป็นนายก อบจ.ปทุมธานีแล้ว"

อย่างไรก็ตาม แม้ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้อธิบายในเรื่องการหยุดปฎิบัติหน้าที่ ของนายชาญว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น หากเข้ารับตำแหน่ง นายก อบจ.ปทุมธานี จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที

โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้เหตุผลทุกกรณีไว้ว่า หากถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดย ป.ป.ช.ชี้มูล และระหว่างนั้นได้พ้นตำแหน่งแล้ว และกลับเข้ามาทำหน้าที่ใหม่ โดยตรรกะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะไม่ต้องการให้ยุ่งเหยิงกับคดีที่ผ่านมา และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นหลักกฎหมายปกติ

แต่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะกำกับดูแล กรมส่งเสริมการปกครอง ส่วนท้องถิ่น (สถ.) บอก ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงมหาดไทยที่จะไปสั่งให้ใครหยุดหรือไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ขึ้นอยู่กับกฎหมาย และการตีความ ตรงนี้เป็นเรื่องของท้องถิ่น และเป็นการเลือกตั้งโดยประชาชน ส่วนจะหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะด้านกฎหมาย กระทรวงมหาดไทยไม่เกี่ยว

"...คงต้องรอถามเลขากฤษฎีกา สถ.คงไม่ได้สั่งอะไร และคงต้องฟังกฤษฎีกา ซึ่งเรื่องพวกนี้ ต้องเป็นคำสั่งของศาลอาญาฯ เพราะหากมีความเห็นแย้งอะไรก็ต้องให้ศาลอาญาฯ สั่ง และเป็นไปตามนั้น ... ดีแล้วอย่าให้เกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทยเลย แค่นี้ก็ปวดหัวปวดหัวตายอยู่แล้ว" นายอนุทิน ระบุ

ขณะที่สำนักข่าวอิศรา (2 ก.ค.) ตรวจสอบเอกสารพบว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2567 กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ได้ทำหนังสือแจ้งเวียนผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น หรือ สมาชิกสภาท้องถิ่น แล้วส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญา หากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้มีคำสั่งประทับรับฟ้อง หรือได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาตามมติชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว แต่คดียังไม่ถึงที่สุดเป็นทางการไปแล้ว

โดยระบุ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแลตามกฎหมาย พิจารณากำชับให้บุคคลดังกล่าวหยุดปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด บุคคลใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหรือจงใจปกปิดข้อเท็จจริงไม่รายงานการถูกฟ้องคดีอาญา หรือไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ อาจเข้าข่ายเป็นการประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งนายอำเภอหรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน แล้วรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาสั่งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งได้

ในหนังสือ สถ. ระบุว่า ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงว่า กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารท้องถิ่นรองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น แล้วส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญากับบุคคลดังกล่าว และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว บุคคลดังกล่าวไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 81 ประกอบมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

อีกทั้งมีการปกปิดข้อเท็จจริงไม่รายงานผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแลตามกฎหมายทราบ ประกอบกับคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นตามเรื่องเสร็จที่ 1486/2565 กรณีผู้ถูกกล่าวหาซึ่งถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้ประทับฟ้องในคดีอาญาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดโดยที่ผู้ถูกกล่าวหาได้พ้นจากต่ำแหน่งเดิมไปแล้วและอยู่ระหว่างการดำรงตำแหน่งเดิมในวาะระใหม่ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยผลของมาตรา 93 ประกอบมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขอเรียนว่า เพื่อให้การหยุดปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารท้องถิ่นรองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายประกอบความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 1486/2565 ข้างต้น จึงแจ้งแนวทางปฏิบัติ กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น แล้วส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญา หากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้มีคำสั่งประทับรับฟ้อง หรือได้มีคำพิพากษาในคดีอาญาตามมติชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วแต่คดียังไม่ถึงที่สุด ให้ดำเนินการ ดังนี้

1. ให้บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแลตามกฎหมายทราบโดยด่วน ตามนัยหนังสือกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ น.826/2582 ลงวันที่ 2 พ.ค.2482

2. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแลตามกฎหมาย พิจารณากำชับให้บุคคลดังกล่าวหยุดปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด

3. บุคคลใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหรือจงใจปกปิดข้อเท็จจริงไม่รายงานการถูกฟ้องคดีอาญาตามข้อ 1 หรือไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 2 อาจเข้าข่ายเป็นการประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยซึ่งนายอำเภอหรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน แล้วรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาสั่งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งได้ ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 77 และมาตรา 79 พระราชบัญญัติทศบาล พ.ศ.2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 73 และมาตรา 73/1 และพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 90/1 และมาตรา 92

ต้องจับตาขั้นตอนหลังจากนี้ว่า ทางออกของปัญหาการดำรงตำแหน่ง นายก อบจ.ปทุมธานี จะมีปลายทางอย่างไร ได้ไปต่อ หรือ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ... หรืออาจต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่วัดพลังกันอีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูล : สำนักข่าวอิศรา

อ่านข่าว : ทุกขลาภ ติดล็อก "ลุงชาญ " เส้นทางว่าที่นายก อบจ.ปทุมธานี

"อนุทิน" ยินดี "ชาญ" คว้านายก อบจ.ปทุมธานี ย้ำ ภท.ไม่เกี่ยว สว.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง