ผ่านไป 12 ปีแล้ว ปัจจุบันอยู่ในชั้นสืบพยานของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 แต่ยังไม่มีคำตัดสิน จึงเกิดคำถามว่า เมื่อกกต.รับรองผลเลือกตั้งนายก อบจ.แล้ว นายชาญต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และหากต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว ใครต้องเป็นคนสั่ง
หลังจากนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาฯกฤษฎีกา พูดชัดเจนว่า จุดประสงค์ของคำวินิจฉัยกฤษฎีกาได้ให้เหตุผลว่า หากถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จาก ป.ป.ช.มีคำสั่งชี้มูล แม้จะกลับมารับตำแหน่งใหม่ ก็ต้องหยุด เพื่อป้องกันไปยุ่งเหยิงกับคดีเก่าและป้องกันความเสียหาย
ขณะที่ความเห็นของแกนนำพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ บอกว่า เป็นการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. สมัยที่นายชาญเป็นนายก อบจ.ปี 2555 ถูกศาลประทับรับฟ้อง และนายชาญได้หยุดปฏิบัติหน้าที่แล้ว จึงถือว่าจบไป
ส่วนจะหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ต้องเป็นคำสั่งศาล ไม่ได้เป็นไปตามอัตโนมัติ นายชาญยังมีสิทธิเป็นนายกฯ เพราะขณะสมัครไม่ได้ขาดคุณสมบัติ ต้องปล่อยไปตามข้อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพราะศาลยังไม่ได้พิพากษาว่ามีความผิด และไม่มีกฎหมายใดห้ามไว้
ต่างจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย พรรคภูมิใจไทย ที่เห็นว่า ต้องทำตามข้อเสนอแนะของเลขาธิการฯ กฤษฎีกา และคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบเบื้องต้นคือ ผู้ว่าฯ ปทุมธานี ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาของ อบจ. ซึ่งมีแนวทางและขั้นตอนอยู่แล้ว
ถือว่าเอาหลังพิงไว้กับกฎหมาย ไม่ต้องรีบรับเผือกร้อน ไม่ต่างจากนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ชิ่งหนีปมร้อนว่า ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว โยนเป็นหน้าที่ของพรรคเพื่อไทย ที่สนับสนุนนายชาญอย่างชัดเจน
ในเชิงทางการเมืองต้องเกิดประเด็นความไม่สง่างาม เมื่อเอาคนที่ถูกชี้มูลบไปเป็นผู้สมัครของพรรค โดยมีระดับ “นายใหญ่” และทายาทลงพื้นที่ไปช่วยหาเสียงกลายๆ ให้
ความจริงการจะให้หยุดทำหน้าที่หรือไม่ ถือเป็นเรื่องของมหาดไทยโดยตรง จะโยนให้ไปถามกฤษฎีกาหรือศาลไม่ได้ ดังที่นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดมหาดไทย ที่ย้ำว่าเรื่องจะสั่งให้หยุดหรือไม่หยุดทำหน้าที่ เป็นอำนาจของผู้ว่าฯ ปทุมธานี
เป็นการโยนกลองกลับไปที่ผู้ว่าฯ ซึ่งจะมีขั้นตอนดำเนินการอีกยืดยาว เมื่อผู้ว่าฯ มีข้อสั่งการออกมา หากใจถึงให้หยุดทำหน้าที่ แต่ผู้บริหาร อบจ.ไม่ปฏิบัติตาม ผู้ว่าฯ จะตั้งกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง เพื่อสอบสวนกระทั่วได้ข้อสรุป จะเสนอรัฐมนตรีมหาดไทยให้มีคำสั่งต่อไป
ยืดเยื้อชวนปวดหัว ต่างจากชาวบ้านทั่วไป เมื่อศาลตัดสินความผิด จะต้องรับโทษทัณฑ์ทันที ไม่สามารถอืดออดหรือยื้อเวลาได้
การโยนเรื่องกลับไปที่ผู้ว่าฯ ทำให้ต้องย้อนไปถึงกรณีของนายสุนทร วิลาวัลย์ อดีต รมช.สาธารณสุข สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ ปัจจุบันเป็นนายก อบจ.ปราจีนบุรี เคยถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเช่นกัน คดีบุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเขาใหญ่ จ.ปราจีนบุรี และสนับสนุนเจ้าหน้าที่ออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ ตั้งแต่ปี 2545 จน 1 ใน 2 คดีขาดอายุความ
มหาดไทยใช้วิธีเดียวกัน คือ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ให้ผู้ว่าฯ ปราจันบุรี เป็นผู้ดำเนินการ และเมื่อตั้งรองผู้ว่าฯ เป็นประธานสอบ ว่ากันว่า ได้ผลสรุปคือไร้อำนาจ ไม่มีข้อกฎหมายใดให้อำนาจสั่งพักงาน และไม่มีประมวลจริยธรรมเหมือนกับ สส.และนักการเมือง จึงไม่มีคำสั่งพักการทำหน้าที่
ก่อนในเวลาต่อมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 จ.ระยอง มีคำพิพากษายกฟ้องนายสุนทร และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ พร้อมพวกรวม 10 คน คดีรุกป่าเขาใหญ่ เมื่อเดือน ก.ย.2566
กรณีของนายชาญ ต้องรอลุ้นว่า หลังการ “โยนกลอง” ไปหลายรอบแล้ว สุดท้ายจะได้ข้อสรุปอย่างไร
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา บรรณาธิการอาวุโส