ไขคำตอบ กรมอุทยานฯ VS สส.ชาติพันธุ์ "ไร่หมุนเวียน" ควรอยู่ในกฎหมาย ?

Logo Thai PBS
ไขคำตอบ กรมอุทยานฯ VS สส.ชาติพันธุ์ "ไร่หมุนเวียน" ควรอยู่ในกฎหมาย ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

"เป้าหมายในการใช้กฎหมายของกรมอุทยานฯ เป็นไปเพื่อต้องการอนุรักษ์ป่า ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ยั่งยืน หรือแค่ต้องการเอาชนะข้อพิพาทกับกลุ่มชาติพันธุ์ในแง่ของการสร้างความรับรู้ในสังคมเท่านั้น" คำถามของ เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฏร

ประเด็นนี้เกิดขึ้นจากกรณีคณะกรรมาธิการที่ดินฯ รับเรื่องร้องเรียนจากชุมชนชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน คือ ชุมชนห้วยกระซู่, ชุมชนห้วยหินเพลิง และชุมชนสาริกา อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการเตรียมประกาศใช้กฎหมายใหม่ของกรมอุทยานฯ ที่เรียกว่า ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ... และร่างระเบียบที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติ

ในร่างพระราษกฤษฎีกา มีเนื้อหาว่าจะมอบ "สิทธิทำกินชั่วคราว" ในเขตอุทยานแห่งชาติ ให้กับชุม ชนผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ทำกิน เป็นเวลา 20 ปี ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องยอมรับว่าเป็นคนที่มาอยู่ในเขตอุทยานก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรืออยู่มาก่อนนโยบายทวงคืนผืนป่าตามคำสั่ง คสช.ปี 2557 และต้องทำกินในที่ดินแปลงเดิมต่อเนื่องไปตลอดทุกปี ...

ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ สามารถตีความได้ว่า เป็นการบังคับให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่ามานับร้อยปีและอยู่มาก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ต้องยอมรับว่าเพิ่งเข้ามาอยู่ก่อนปี 2541 หรือ 2557 เท่านั้น และยังบังคับให้ต้องทำกินในที่ดินแปลงเดิมต่อเนื่องทุกปี หรือพูดง่าย ๆ ว่า ต้องถางไร่แปลงเดิมให้เตียนโล่งเพื่อทำเกษตรใหม่ในทุก ๆ ปี ในรูปแบบเกษตรแปลงเดี่ยว ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีการทำเกษตรที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง นั่นคือ "ไร่หมุนเวียน" ซึ่งเป็นการทำเกษตรแบบแปลงรวมของชุมชน และต้องปล่อยพื้นที่ที่ทำกินไปแล้วให้ได้ฟื้นฟูไปตามธรรมชาติเป็นวงรอบทุกๆ 7 ปี

"เงื่อนไขในการให้สิทธิทำกิน ... ไปทำลายวิถีการทำไร่หมุนเวียน ... ทำให้ชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจานเป็นกังวล และเข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการที่ดินฯ ซึ่งๆได้เชิญกรมอุทยานฯชี้แจงแล้ว และมีข้อเสนอขอให้ทบทวนเนื้อหาบางส่วนในร่างกฎหมายฉบับนี้ เช่น ควรระบุให้มีคำว่า ไร่หมุนเวียน เป็นวิถีการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่ต้องได้รับการคุ้มครอง หรือต้องระบุให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมในการพิจารณาการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยการตั้งเป็นคณะกรรมการที่ชุมชนมีส่วนร่วม"

ส.ส.เลาฟั้ง อธิบายข้อกังวลที่เกิดขึ้นกับชุมชนชาวกะเหรี่ยงว่า หากร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ในเขตอุทยานแห่งชาติใด ก็จะไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิมได้อีกต่อไป ทั้งที่ชาวกะเหรี่ยงมีข้อพิสูจน์มากมายที่ยืนยันได้ ว่า ไร่หมุนเวียนที่สืบทอดตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นรูปแบบการทำเกษตรที่ยั่งยืน ช่วยดูแลรักษาป่าให้อุดมสมบูรณ์อย่างยาวนาน มีข้อดีมากกว่า การทำเกษตรด้วยการถางพื้นที่ให้เตียนโล่งติดต่อกันทุกปี ซึ่งเป็นเงื่อนไขให้การให้สิทธิทำกินของกรมอุทยานฯ

อ่าน : โพลงเช้อมา "ไร่หมุนเวียน" อยู่ในกฎหมาย เสียงจาก "แก่งกระจาน"

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีหนังสือลงวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ส่งถึง ชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมผืนป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อตอบข้อเรียกร้องของชาวกะเหรี่ยงเกี่ยวกับเนื้อหาในร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ โดยแยกคำตอบเป็น 4 ประเด็น ซึ่งตรงกับประเด็นที่ชุมชนชาวกะเหรี่ยงส่งหนังสือข้อเรียกร้องไป ... หลังจาก สส.เลาฟั้ง อ่านหนังสือชี้แจงฉบับดังกล่าวแล้ว จึงตอบกลับ ในแต่ละประเด็นเช่นกัน

ประเด็นที่ 1 ...ขอให้เพิ่มเติมนิยามของการจัดที่ดินแปลงรวมในร่างพระราชกฤษฎีกา โดยเฉพาะในส่วนของชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิม ให้ถือว่า "ไร่หมุนเวียน" เป็นการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ

กรมอุทยานฯ : แม้ในร่างพระราชกฤษฎีกาจะไม่ได้ระบุ คำว่า ไร่หมุนเวียน ให้ถือเป็นการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ แต่ดำเนินการที่เป็นวิถีปกติก็ไม่ได้ห้ามชาวบ้านทำไร่หมุนเวียนแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องสำรวจเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่จะดำเนินการใช้ชัดเจนและเข้าใจตรงกัน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็ได้ดำเนินการสำรวจร่วมกับชุมชน

สส.เลาฟั้ง : คำตอบของกรมอุทยานฯ มีความหมายชัดเจนว่า จะไม่ระบุคำว่า "ไร่หมุนเวียน" ให้เป็นการดำรงชีพที่เป็นปกติธุระของชุมชนไว้ในร่างพระราชกฤษฎีกา แม้ว่า กรมอุทยานฯจะพยายามอธิบายว่า ไม่ได้ห้ามทำไร่หมุนเวียน แต่การไม่ระบุให้ชัดเจนยังเปิดช่องให้หัวหน้าอุทยานแต่ละแห่งสามารถใช้ดุลพินิจตัดสินได้เองว่าแปลงไหนสามารถทำได้หรือไม่ได้ ... ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เกิดปัญหาจากการใช้ดุลพินิจมาตลอดในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่า หากเป็นแปลงที่ทำไร่หมุนเวียน เจ้าหน้าที่ก็จะไม่สำรวจรังวัดที่ดินให้ จะรังวัดเฉพาะในแปลงที่ทำไร่ถาวรในรูปแบบเกษตรเชิงเดี่ยวเท่านั้น

ประเด็นที่ 2 ... ขอให้บัญญัติรับรองการทำไร่หมุนเวียนในลักษณะแปลงรวมเป็นระบบการบริหารจัดการที่แน่นอน และมีกระบวนการหารือร่วมกันระหว่างกรมอุทยานฯกับชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมในแต่ ละพื้นที่ โดยให้กระบวนการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการละเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบของกรมอุทยานฯ

กรมอุทยานฯ : พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 กำหนดให้ต้องตราพระราชกฤษฎีกาซึ่งต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาและคุณสมบัติของบุคคลที่อยู่อาศัยหรือทำกินในชุมชนภายใต้โครงการที่จะดำเนินการ โดย "ไม่ได้ต้องการให้สาระสำคัญดังกล่าวถูกกำหนดโดยคณะกรรมการชุมชน" ... ประกอบกับมีร่างระเบียบตามพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ เกี่ยวกับการวางหลักเกณฑ์ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนอยู่แล้ว  

ความว่า หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ อาจจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างราชการส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หัวหน้าครอบครัว หัวหน้าครัวเรือน หรือผู้แทนภาคประชาชน เพื่อปรึกษาหารือกำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าว... ซึ่งที่ผ่านมา กรมอุทยานฯ ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม จึงมีมติจากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ให้ตั้งคณะกรรมการที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามีส่วนร่วมในรูปแบบของ คณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้แต่งตั้งครบทุกอุทยานแล้ว และหากมีความจำเป็นที่จะต้องให้ชุมชนหรือท้องถิ่นเข้ามาร่วมกำหนดกติกาชุมชนในการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตอุทยาน คณะกรรมการที่ปรึกษาของอุทยานฯนั้นๆ ก็สามารถตั้งเป็นคณะอนุกรรมการขึ้นมาได้

สส.เลาฟั้ง : เป้าหมายที่คณะกรรมาธิการที่ดินฯเสนอต่อกรมอุทยานให้ตั้งคณะกรรมการโดยชุมชนซึ่งอยู่อาศัยในเขตอุทยานมีส่วนร่วม เพราะต้องการให้ชุมชนสามารถออกแบบการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์พื้นที่ได้ด้วยตัวเอง สามารถใช้ภูมิปัญญาและวิถีดั้งเดิมในการทำเกษตรที่ช่วยอนุรักษ์ป่าไม้มากำหนดเป็นกติกาได้ แต่จากคำอธิบายของกรมอุทยานฯ ที่ระบุว่า มีกลไกที่หัวหน้าอุทยาน “อาจ” เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นได้ หรือหากมีความจำเป็นต้องให้ชุมชนร่วมกำหนดกติกาการใช้ประโยชน์พื้นที่ก็ให้คณะกรรมการที่ปรึกษาของอุทยานนั้นๆ ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาได้ สามารถตีความในอีกแง่หนึ่งได้ว่า ....ไม่ต้องมีเวทีรับฟังความเห็น ไม่ต้องมีอนุกรรมการ ไม่ต้องมีช่องทางให้ชุมชนมีส่วนร่วมก็ได้

ประเด็นที่ 3 ... มีปัญหาเร่งด่วนต้องขอให้กรมอุทยานฯ ออกระเบียบและมีหนังสือสั่งการให้อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พิจารณาคำขอที่จะทำเกษตรแปลงรวมของชุมชนในรูปแบบไร่หมุนเวียน โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่กำหนดขอบเขตพื้นที่จะทำไร่หมุนเวียน ป่าใช้สอย ป่าพิธีกรรม จากนั้นนำเสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติให้ความเห็นชอบโดยเร็ว

กรมอุทยาน : ตามนโยบายของกรมอุทยานฯ เห็นว่า การออกระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอยู่อาศัยหรือทำกินชั่วคราวในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ 2562 สมควรที่จะกำหนดให้เป็นระเบียบกลางซึ่งผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อที่จะให้ทุกภาคส่วนทุกภูมิภาคได้ใช้ระเบียบฉบับนี้ ... โดยในส่วนของการคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มีระเบียบว่าด้วยการอยู่อาศัยหรือทำกินตามโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานฯเพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุร

ข้อ 6 บัญญัติว่าการกระทำที่เป็นวิถีชีวิตที่เป็นปกติธุระให้ดำเนินการได้ ก็คือ การอยู่อาศัย การซ่อมแซม การเลี้ยงสัตว์ การเก็บหา หรือการตัดต้นไม้หรือการปลูกต้นไม้ต่าง ๆ ก็สามารถดำเนินการได้ จึงเห็นว่า ได้มีการแก้ไขให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนในชุมชนให้มากที่สุดแล้ว ... ส่วนไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวัฒนธรรม ต้องไม่ขัดต่อระเบียบ กฎหมาย จึงต้องดูบริบทของพื้นที่ด้วย เช่น การทำเกษตรแผนใหม่หากอยู่บนภูเขาสูง แหล่งต้นน้ำลำธาร จะมีวิธีการอย่างไรที่จะสามารถอยู่อาศัยและหากินได้ ... กรมอุทยานฯ จึงกำหนดไว้ในแผนบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติว่าประชาชนที่อยู่อาศัยแต่ละแห่งมีวัฒนธรรม ประเพณีอะไรบ้าง มีสุสานอยู่ที่ไหน เพื่อนำมากำหนดไว้ในแผน รวมทั้งยังมีระเบียบที่หัวหน้าอุทยาน "อาจจัดให้มีการประชุมร่วม" กับส่วนราชการ ท้องถิ่น ชุมชน และครอบครัว เพื่อหารือกำหนดแนวทางและหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการพื้นที่ด้วย

สส.เลาฟั้ง : คำตอบของกรมอุทยานฯ มีความหมายที่ตีความได้ว่า ไม่รับรองการทำไร่หมุนเวียน เพราะแม้จะไม่ได้ห้ามทำไร่หมุนเวียน แต่การใช้คำว่า "วัฒนธรรมต้องไม่ขัดต่อระเบียบ กฎหมาย" พร้อมไปกับการไปกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในในร่างพระราชกฤษฎีกา ตั้งแต่การกำหนดพื้นที่ ไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ มีเวลา 20 ปี ต้องปลูกป่าเลียนแบบธรรมชาติ และข้อที่สำคัญคือการกำหนดให้ชาวบ้านต้องทำกินต่อเนื่องในที่ดินแปลงเดิมทุกปี ก็ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถปล่อยที่ดินที่ทำไร่ไปแล้วให้ฟื้นตัวตามธรรมชาติซึ่งมีวงรอบ 7 ปี ตามภูมิปัญญาของการทำไร่หมุนเวียนได้อย่างแน่นอน 

"เมื่อเราดูหลักเกณฑ์ที่กรมอุทยานกำหนดไว้จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ทั้งที่กรมอุทยานฯ อ้างว่า ออกร่างพระราชกฤษฎีกาหรือระเบียบมาเพื่อการอนุรักษ์ป่า แต่กลับมีเงื่อนไขที่ระบุว่าต้องถางพื้นที่ทำเกษตรของตัวเองให้เตียนโล่งทุกปี นั่นหมายความว่า ชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่เข้าร่วมโครงการนี้จะไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนตามวิถีเดิมที่ช่วยรักษามานับร้อยปีได้ ... ในทางกลับกัน หากชาวกะเหรี่ยงไม่อยากมีปัญหาขัดแย้งกับอุทยาน เขาก็สามารถเปลี่ยนพื้นที่ไร่หมุนเวียนให้กลายไปเป็นแปลงการปลูกพืชเชิงเดียวอย่างไร่ข้าวโพดไปเลยก็ได้ ... จึงน่าสงสัยว่า หลักเกณฑ์ที่กรมอุทยานฯตั้งไว้ คือหลักเกณฑ์ที่ช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์จริงหรือ" สส.เลาฟั้ง ตั้งคำถาม

ประเด็นที่ 4 ... ขอให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุกแห่งในผืนป่าแก่งกระจาน สำรวจเก็บข้อมูลรวมจำนวนสมาชิกชุมชน พื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชุมชน ที่จะมีสิทธิอยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการได้ ภายใน 240 วัน ตามกฎหมาย รวมทั้งให้จัดการรังวัดสำรวจพื้นที่ที่ชุมชนประสงค์จะทำเป็นแปลงรวมไร่หมุนเวียนของชุมชน เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการสำรวจพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านเสียสิทธิในภายหลัง

กรมอุทยานฯ : การพิจารณาว่าบุคคลใดมีสิทธิอยู่อาศัยหรือทำกินในโครงการได้ ไม่ใช่การพิจารณาจากบัญชีรายชื่อที่ได้รับการสำรวจเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาว่าบุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนดไว้หรือไม่ ดังนั้น เมื่อพระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้ หากยังมีบุคคลที่ตกสำรวจแต่มีคุณสมบัติครบถ้วน ก็สามารถขึ้นบัญชีเข้าร่วมโครงการได้

สส.เลาฟั้ง : เป็นคำตอบที่เป็นประโยชน์กับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มากที่สุดใน 4 ข้อ เพราะมีเอกสารยืนยันจากกรมอุทยานฯแล้วว่า ชาวบ้านที่ยังตกสำรวจ โดยเฉพาะในพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนในป่าแก่งกระจาน จะยังคงสามารถขอดำเนินการเพื่อรักษาสิทธิให้เกิดการสำรวจรังวัดพื้นที่ไร่หมุนเวียนในภายหลังได้ แม้จะพ้นกรอบเวลา 240 วันตามที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ไปแล้ว

เลาฟั้ง ยืนยัน จะทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎร และในฐานะกรรมาธิการการที่ดินฯ โดยจะพยายามเชิญกรมอุทยานฯ มาหารือเพื่อปรับความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีการทำไร่หมุนเวียน ของชาวกะเหรี่ยงอีกครั้ง เพราะในกรมอุทยานมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากที่เข้าใจเรื่องนี้อยู่แล้ว และเห็นว่า ภูมิปัญญาการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม เป็นแนวทางการทำเกษตรที่จะช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าได้อย่างยั่งยืนที่สุด

สิ่งเดียวที่จะเกิดขึ้นจากการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ คือ กรมอุทยาน อาจจะเอาชนะชาวกะเหรี่ยงได้ในทางการสื่อสารให้สังคมเห็นว่า ได้จัดสรรที่ดินทำกินให้แล้ว แต่ชาวกะเหรี่ยงยังไม่พอใจเอง


แต่ในความเป็นจริงเห็นได้ว่า จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะการออกกฎหมายเช่นนี้ ไม่สามารถแก้ปัญหา 2 ข้อที่เป็นโจทย์ใหญ่ คือ ไม่ช่วยให้รัฐสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้จริง ด้วยการออกกฎหมายบังคับให้คนในป่าต้องทำเกษตรเชิงเดียวเท่านั้น และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกินระหว่างชาวบ้านกับอุทยานได้อีกเช่นกัน

ถ้ากรมอุทยานฯ มีเป้าหมายว่าอยากได้พื้นที่ป่าเพิ่ม ก็ควรเร่งสำรวจว่า มีพื้นที่ทำไร่หมุน เวียน โดยชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมอยู่ที่ไหนบ้าง ... และต้องรีบประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมที่ต้องใช้เพื่อทำไร่หมุนเวียนเท่านั้น เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้มีป่าอุดมสมบูรณ์จนถึงทุกวันนี้ ...แต่ถ้ายังสร้างเงื่อนไข เพื่อกดดันให้ชาวกะเหรี่ยงต้องเปลี่ยนไปทำเกษตรเชิงเดี่ยว ต้องถางไร่ให้เตียนทุกปี ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ... กรมอุทยานฯ ก็จะไม่ได้พื้นที่ป่าเพิ่มอย่างที่ต้องการ” สส.เลาฟั้ง ทิ้งท้าย

รายงานโดย : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง