"ทับลาน" มรดกโลก อุทยานแห่งชาติผืนป่าอีสานที่ใหญ่ที่สุด

สิ่งแวดล้อม
8 ก.ค. 67
19:06
15,834
Logo Thai PBS
"ทับลาน" มรดกโลก อุทยานแห่งชาติผืนป่าอีสานที่ใหญ่ที่สุด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"อุทยานแห่งชาติทับลาน" กินพื้นที่ 3 จังหวัด ตั้งแต่นครราชสีมา-ปราจีนบุรี-สระแก้ว ตามเขตทิวเขาพนมดงรัก ถือเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสานของไทย ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2524

"ทับลาน" ในอดีตก่อนที่จะถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ.2524 นั้น ในทางกฎหมายเป็น "ป่าไม้ถาวร" ตามมติ ครม.วันที่ 14 พ.ย.2504 แบ่งการจัดการเป็น 2 ประเภท คือ พื้นที่ป่าไม้ที่ให้คงไว้ตามธรรมชาติ และ พื้นที่ป่าที่จะเปิดจัดสรรเพื่อเกษตรกรรมหรือเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่น

ลักษณะทางภูมิประเทศของ "อุทยานแห่งชาติทับลาน" ประกอบด้วยเทือกเขาและป่าไม้ที่หลากหลาย มีอาณาเขตครอบคลุมทั่วทั้งภาคอีสานและภาคตะวันออกในเขตทิวเขาพนมดงรัก เอื้อต่อการเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญอย่าง แม่น้ำบางประกง

อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นป่าผลัดใบ มีลักษณะเด่น คือ ป่าโปร่งและเป็นบ่อเกิดที่หลากหลายของชนิดพันธุ์พืช มีป่าที่โดดเด่นอยู่ 4 ชนิด คือ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบชื้น มี "ต้นลาน" ที่มีลักษณะเฉพาะและหายากจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่ออุทยาน อีกทั้งยังมีคุณค่าความสำคัญในระดับโลกเพราะผืนป่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งได้ถูกยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติในปี พ.ศ.2548

พื้นที่บริเวณนี้มีสภาพเป็นเหมือนไข่แดง ท่ามกลางผืนป่าทั้ง 2 ฝั่ง คืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติตาพระยาและอุทยานแห่งชาติปางสีดา ซึ่งอุทยานแห่งชาติทับลานเป็นทางเชื่อม (Corridor) ทางธรรมชาติของสัตว์ป่า เปรียบเสมือนตัวเชื่อมระหว่าง 2 ผืนป่าของสัตว์ป่าในการเดินทางข้ามไปมาระหว่าง 2 พื้นที่นั่นเอง

ในมุมสถานที่ท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติทับลาน นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะสำหรับผู้ที่รักธรรมชาติและต้องการหลีกหนีความวุ่นวายในเมือง ให้มาสัมผัสความสงบสุขและความงดงามของธรรมชาติ ที่นี่ยังมีสัตว์ป่านานาชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์น้ำ ที่สร้างความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่นี้ เช่น ช้างป่า เสือโคร่ง กวางป่า และนกเหยี่ยวเขา มีน้ำตกเหวนรก น้ำตกเหวอีอ่ำ เขาใหญ่ และจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของป่าเขาได้อย่างงดงาม นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเดินป่าหลายเส้นทางที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาสัมผัสธรรมชาติและเรียนรู้เกี่ยวกับพืชและสัตว์ในพื้นที่นี้

นอกจากความสวยงามทางธรรมชาติแล้ว อุทยานแห่งชาติทับลานยังมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ที่หายาก รวมถึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญในภูมิภาคนี้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ นักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สามารถทำกิจกรรมหลายอย่างได้ อาทิเช่น การเดินป่าเส้นทางเดินป่าลานทับทิมและเส้นทางเดินป่าลานกะบก, การดูนก, ตั้งแคมป์, ชมวิวที่จุดชมวิวผาเก็บตะวัน และยังสามารถเที่ยวชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์ วัด-โบราณสถาน ใกล้เคียงได้ 

อุทยานแห่งชาติทับลาน Thap Lan National Park

อุทยานแห่งชาติทับลาน Thap Lan National Park

อุทยานแห่งชาติทับลาน Thap Lan National Park

ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ทับลานก็มีปัญหาภายในพื้นที่ ที่ส่วนมากเกี่ยวข้องกับการประกาศพื้นที่ซ้อนทับกับเขตบริหารเดิมที่มีเป้าประสงค์ในการใช้ที่ดินอีกแบบหนึ่ง อีกทั้งแต่ละหน่วนงานในพื้นที่ต่างก็ดำเนินกิจกรรมตามกฎหมายของตนเอง จึงเกิดปัญหาคาราคาซังระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน อาทิเช่น แนวเขตป่าไม้ของอุทยานซ้อนทับกับ ส.ป.ก. การเกิดโครงการที่มีพื้นที่เกี่ยวของกับเขตอุทยานอย่าง โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) หรือ โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง (พมพ.)

โดยส่วนสำคัญที่ทำให้ปัญหานี้ดำเนินมาถึงปัจจุบันคือการรับผิดชอบพื้นที่นอกเหนืออาณาเขตหน่วยงานอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ อีกทั้งยังมีการดำเนินคดีหลายครั้งกับผู้ถือครองที่ดินอย่างผิดกฎหมาย

อุทยานแห่งชาติทับลาน Thap Lan National Park

อุทยานแห่งชาติทับลาน Thap Lan National Park

อุทยานแห่งชาติทับลาน Thap Lan National Park

อ่านข่าว : จับตา! เฉือนป่าทับลาน 2.6 แสนไร่แก้ปัญหาที่ดินเพื่อใคร

ไม่ใช่แค่ "ต้นลาน" ที่หายไป

การประชุมของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2567 ที่ผ่านมา ในระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเพื่อทราบ 3.5 การปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งถือเป็นการข้ามขั้นตอนการให้ข้อเสนอแนะอย่างละเอียดรอบคอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ประเด็นการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าวได้มีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมาแล้ว 2 ครั้ง ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะให้มีการใช้แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562

ประชุมดังกล่าวเสนอข้อมูล มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 เห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เรื่องผลการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ และปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One map) ที่ให้ดำเนินการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ.2543 พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งจะเป็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานถึง 265,286.58 ไร่

จุดที่ต้องสังเกตคือ ปกติแล้วการประกาศพื้นที่ ส.ป.ก.ได้นั้น จะต้องมาจากกฤษฎีกา และต้องเป็นพื้นที่ที่มีสภาพเสื่อมโทรมชัดเจน แต่ในปัจจุบันยังไม่มีพื้นที่ ส.ป.ก.ส่วนไหนที่ส่งคืนให้กรมป่าไม้ในสภาพที่เป็นป่าเลยแม้แต่พื้นที่เดียว แต่กลับพบการออกที่ดินโดย ส.ป.ก.อย่างมิชอบ ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสถานะของพื้นที่ จากพื้นที่อุทยานให้กลายเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขัดต่อการดำเนินงานของคณะติดตามการแก้ปัญหาเรื่องของชุมชนในพื้นที่ป่า

อุทยานแห่งชาติทับลาน Thap Lan National Park

อุทยานแห่งชาติทับลาน Thap Lan National Park

อุทยานแห่งชาติทับลาน Thap Lan National Park

ในด้านของพลเรือนที่ได้รับผลกระทบเรื่องของที่ดินแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

  1. กลุ่มคนที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยาน ซึ่งพวกเขาควรมีสิทธิตามกระบวนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่
  2. กลุ่มคนที่ได้เอกสารสิทธิ์ที่ดินไปแล้ว อยู่ระหว่างการดำเนินการประกาศเขต โดยบางคนได้มีการขยายหรือจับจอง เปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินพื้นที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่มีการตกลงกันไว้
  3. กลุ่มคนที่เข้ามาครอบครองอย่างผิดกฎหมาย เช่น กลุ่มทุนที่เข้ามาพัฒนาที่ดินให้กลายเป็นธุรกิจก็ต้องถูกนำพาออกไปจากพื้นที่นั้น

หากเราไม่พิจารณาพื้นที่ให้ละเอียดถี่ถ้วนในการเพิกถอน ก็อาจจะเสียบรรทัดฐานในการแก้ไขปัญหาระดับประเทศในลักษณะที่จะเพิกถอนพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป อาจจะเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายย่อย

พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานถือเป็นสมบัติทางธรรมชาติที่ขาดไม่ได้ทั้งในประเทศไทยและในประชาคมโลก เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งในการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากเป็นองค์ประกอบหลักของป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ แหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่านานาชนิด รวมถึงสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

แต่ยังให้บริการระบบนิเวศที่สำคัญที่ค้ำจุน สิ่งแวดล้อมและชุมชนมนุษย์โดยรอบ 

อ่านข่าว : เปิดเบื้องหลังเฉือนป่าทับลาน 2.6 แสนไร่ ใครได้ประโยชน์

ทั้งนี้เฟซบุ๊กมูลนิธิสืบนาคะเสถียรระบุถึง 6 ผลกระทบ หากมีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานกว่า 265,286.58 ไร่

  1. หากใช้เส้นแนวเขตสำรวจอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543 ตามมติ ครม. เป็นแนวเขตทับลาน อุทยานแห่งชาติทับลาน จะเป็นการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติกว่า 164,960 ไร่ ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ
  2. กระทบต่อรูปคดีที่กล่าวโทษดำเนินคดีไว้แล้วตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 และอยู่ระหว่างดำเนินการ เป็นนายทุน-ผู้ครอบครองรายใหม่ 470 ราย และเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้ประโยชน์ 23 ราย เนื้อที่กว่า 11,083-3-20 ไร่
  3. เอื้อประโยชน์ต่อนายทุนให้มีการเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนมือเพื่อสร้างโรงแรม รีสอร์ต และบ้านพักตากอากาศเพิ่มมากขึ้น
  4. ลดคุณค่าความเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ 
  5. เปิดโอกาสให้การใช้ประโยชน์ที่ดิน ขุด ถม อัด ตัดไม้ ทำลายสภาพพืชพรรณบริเวณนั้น ผิวดินขาดสิ่งปกคลุมในการรักษาความชุ่มชื้น และช่วยดูดซึมน้ำ จนส่งผลต่อการระบายน้ำตามธรรมชาติและอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างฉับพลันในบริเวณพื้นที่ราบทางตอนล่างตอนช่วงฤดูฝน
  6. แหล่งที่อยู่อาศัย หากิน หรือเส้นทางอพยพเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่า เนื่องจากกิจกรรมมนุษย์เข้าไปรบกวนสัตว์ป่าตามแนวเขตเกินความสามารถในการควบคุม
อุทยานแห่งชาติทับลาน Thap Lan National Park

อุทยานแห่งชาติทับลาน Thap Lan National Park

อุทยานแห่งชาติทับลาน Thap Lan National Park

ทำไมต้องอนุรักษ์ "ต้นลาน"

ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติทับลาน - Thap Lan National Park "ลาน" มีชื่อภาษาอังกฤษ Fan Plam, Lonter plam, Talipot palm อยู่ในวงศ์ปาล์มเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาและในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ต้นลาน มักจะขึ้นในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นและมีฝนตกมาก มีความทนทานต่อภัยธรรมชาติได้ดี เป็นพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์ออกดอกที่ยอด เมื่อมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ก็จะออกดอกและ เมื่อไหร่ที่ออกดอก ต้นก็จะตาย

เมื่อต้นลานออกดอก การกระจายของลูกลานก็จะอยู่กันเป็นกระจุกใต้ต้นแม่ การขยายวงกว้างในเมล็ดลานโดยธรรมชาติไปสู่ผืนป่าจึงมีปริมาณน้อย ต้นลานจึงมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ รวมถึงปัจจัยทางด้านการขยายพื้นที่เพื่อทำการเกษตรจึงทำการขยายและการเจริญเติบโตของต้นลานจึงลดน้อยลงเป็นเหตุให้ต้นลานมีจำนวนลดลง

ต้นลานหรือป่าลาน นับว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการสร้างรายได้ของชุมชนในพื้นที่ ซึ่งประโยชน์ของต้นลาน ใบลาน ก้านลาน ในอดีตใบลานนำมาทำเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎก และปัจจุบันนำมาทำเป็นเครื่องจักสาน ได้แก่ หมวก กระเป๋า และเครื่องใช้อื่น ๆ อีกมากมาย อีกทั้งยังเป็นทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวและการขยายพันธุ์พืชชนิดอื่น ๆ ที่สำคัญเป็นพื้นที่สำหรับศึกษาระบบนิเวศวิทยาเป็นอย่างดี อย่าปล่อยให้ต้นลานหายไปจากประเทศไทย ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้เชยชม

อุทยานแห่งชาติทับลาน Thap Lan National Park

อุทยานแห่งชาติทับลาน Thap Lan National Park

อุทยานแห่งชาติทับลาน Thap Lan National Park

อ่านข่าว : รอสรุป 1 เดือน ส่งบอร์ดอุทยานฯ ชี้ขาดปมเพิกถอน "ป่าทับลาน" 2.6 แสนไร่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง