ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถอย 2 เสียงไม่ร่วมรัฐบาล "ดำรงค์" ค้านเอื้อโฉนดทองคำทับลาน

สิ่งแวดล้อม
11 ก.ค. 67
09:10
1,970
Logo Thai PBS
ถอย 2 เสียงไม่ร่วมรัฐบาล "ดำรงค์" ค้านเอื้อโฉนดทองคำทับลาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เปิดใจ "ดำรงค์ พิเดช" อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ เคยไล่รื้อรีสอร์ตรุกป่าทับลาน400 คดียันค้านเปลี่ยนที่ดินป่าให้เป็น "โฉนดทองคำ" จี้ยกเลิกมติ ครม.14 มี.ค.2566 ยุบกรรมการที่ดินสคทช.เลิกใช้ One Map

หากยกที่ดินให้ ส.ป.ก.ไปใช้ประโยชน์และออกเป็นโฉนดทองคำ อาจเกิดการเปลี่ยนมือไปยังกลุ่มนายทุน นักการเมือง และผู้มีอิทธิพล

ดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และหัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย บอกถึงเหตุผลที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับนโยบายเฉือนป่าป่าทับลาน อุทยานแห่งชาติทับลาน 265,266 ไร่ 

ภาพจำของ "ดำรงค์" ในช่วงปี 2554-2555 ถือเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลัง "ยุทธการทวงคืนผืนป่า" ด้วยการนำรถแบคโฮไล่ทุบรื้อถอนรีสอร์ตในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่คดีสิ้นสุดลงมากกว่า 20 แห่งในเขตวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา

ด้วยเหตุผลที่ว่ารีสอร์ตเหล่านี้สิ้นสุดคดีในชั้นศาลฎีกาแล้ว ถือเป็นความชอบธรรมในฐานะผู้บุกรุกป่าอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน หนึ่งในป่าที่ถูกผนวกเป็นมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่

อดีตอธิบดีกรมอุทยาน บอกว่า หลังจากเห็นกระแสคัดค้านเฉือนป่าทับลาน ทำให้ย้อนนึกถึงเหตุการณ์เมื่อกว่า 10 ปีก่อนที่มีความพยายามแก้ปัญหาการบุกรุกป่าทับลานจากกลุ่มทุนและนอมินี

หลังจากความพยายามในการแก้ปัญหาทำตามคำสั่งศาลให้รื้อถอน จึงต้องระดมกำลังจากทั่วประเทศ 123 ชุด ๆ ละ 6 คนๆ ละ 2 พื้นที่ กางแปลงตรวจสอบผู้บุกรุกทั้งหมด และตอนนี้คดีอยู่ในชั้นศาลบางส่วนก็ยังคัดค้านเรื่อยมา

ยกเว้นรีสอร์ตการ์มองเต้ ทางเจ้าหน้าที่ส.ป.ก.มาให้การว่าที่ดินแปลงนี้อยู่ในเขตส.ป.ก.ทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง ทั้งที่บริเวณนี้ไม่มีการปฏิรุปที่ดินและตอนนี้กรมอุทยานฯ ประท้วงถึงชั้นอัยการ

"รัฐบาลลุงตู่" ทิ้งทวนมติ ครม.เฉือนป่าทับลาน

ดำรงค์ บอกว่า จนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ยึดคืนที่ดินป่า และพลิกการแก้ปัญหาด้วยการให้คนอยู่ในป่า จัดที่ดินทำกินแก้ให้ในป่า จึงนำมาสู่การแก้พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติปี 2562 โดยใช้มาตรา 64 และมาตรา 121 ของพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ให้ชาวบ้านในป่าก่อนประกาศเขตอุทยาน ป่าอนุรักษ์ ทำกินชั่วลูกชั่วหลานผ่อนผัน

กระทั่งมาถึงจุดพลิกอีกครั้ง ในช่วงการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในปี 2566 นัก การเมืองจาก 2 พรรคใหญ่แย่งชิงคะแนนเสียงด้วยการสัญญาว่าที่ดินทำกินแปลงทับลาน จนนำมาสู่ด้วยการออกมติคณะรัฐมตรี (ครม.) 14 มี.ค.2566

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทิ้งทวนก่อนการยุบสภา ไม่กี่วันทั้งที่มีวาระกว่า 80 ฉบับเข้า ครม.แต่กลับอนุมัติให้ใช้แผนที่ One Map ปรับ ปรุงการสำรวจแนวเขตปี 2543 อุทยานทับลาน โดยต้องเพิกถอนที่ดินป่าทับลาน 265,266 ไร่

ดำรงค์ บอกอีกว่า นอกจากนี้ มีกลุ่มทุนบางกลุ่มที่เคลื่อนไหวผ่านทางผู้ตรวจการแผ่นดิน พยายามชงเสนอให้นำที่ดินป่าทับลานที่มีปัญหาโอนให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) โดยชูเรื่องโฉนดทองคำ

2 เสียงต่อต้านในสภาที่ยอมถอยตัวเองจากพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีผลมาก เพราะจะนำไปทำโฉนดทองคำ  

อ่านข่าว เปิดเบื้องหลังเฉือนป่าทับลาน 2.6 แสนไร่ ใครได้ประโยชน์

จี้ยกเลิกมติครม.14 มี.ค.66-ยุบบอร์ดที่ดิน

อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ บอกว่า ในฐานะที่ติดตาม และเคยปกป้องเรื่องนี้มา จึงเสนอให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยกเลิกมติครม.วันที่ 14 มี.ค.2566 เกี่ยวกับการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานจากการสำรวจแนวเขตเมื่อปี 2543

หากยกที่ดินให้ ส.ป.ก.ไปใช้ประโยชน์ และออกเป็นโฉนดทองคำ อาจเกิดการเปลี่ยนมือไปยังกลุ่มนายทุน นักการเมือง และผู้มีอิทธิพล

ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลและพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะทุกพรรคการเมืองมักออกนโยบาย ที่เอาใจชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ เพราะการออกโฉนด ส.ป.ก.เป็นการคุ้มครองกลุ่มนายทุนไม่ใช่การปกป้องประชาชนที่อาศัยอยู่เดิมในเขตป่า ด้วยการกันพื้นที่ดังกล่าวออกจากป่าอนุรักษ์มาอยู่ในเขต ส.ป.ก. แทน

ดำรงค์ ทิ้งท้ายว่า หากยังไม่มีมีการยกเลิกมติ ครม.เตรียมจะยื่นฎีกาคัดค้านโดยจะนำประชาชนที่ไม่เห็นด้วย และกลุ่มนักอนุรักษ์เข้ามาร่วมดำเนินการครั้งนี้ เพราะมองว่าการเฉือนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานครั้งนี้ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ชาวบ้านทำกินในเขตป่า แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนอมินี นายทุนที่ครอบครองพื้นที่มากกว่า 150,000 ไร่ในเขตวังน้ำเขียว

นายกรัฐมนตรี ต้องยกเลิก มติครม.14 มี.ค.2566 อัปยศ ทำได้ทันที 

อ่านข่าว รอสรุป 1 เดือน ส่งบอร์ดอุทยานฯ ชี้ขาดปมเพิกถอน "ป่าทับลาน" 2.6 แสนไร่

แนะออก อช.4-01 แต่ห้ามเปลี่ยนมือ

สำหรับแผนที่ One Map มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่พบมีข้อเสียมากกว่า จึงขอเสนอให้ยุบคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เพราะเลือกจัดการที่ดินแต่บริเวณพื้นที่มีราคาสูง

ควรเลิกการใช้ One Map ที่อ้างว่าจะมาจัดการปัญหาที่ดินทับซ้อนโดยใช้แผน ที่มาตราส่วน 1:4,000 ไม่ใช่ของวิเศษอะไร และจะลามยังป่าอื่น ๆ ที่มีราคาสูงทั้งเกาะเสม็ด เกาะช้าง และแปลงอื่น ๆ อยากย้อนถามว่าทำไมเลือกแก้ปัญหาที่ดินทำกินในทับลาน เพราะตอนนี้กรมอุทยานฯ คุ้มครองให้ประชาชนทำกิน จึงไม่เห็นด้วยที่เฉือนป่าไปออกโฉนดคุ้มครองนายทุน เพราะมีกฎหมาย ม.64 แล้ว

แต่หากประชาชนไม่อุ่นใจ ก็เสนอให้ออกแนวทาง อช.4-01 หนังสือรับรองทำกินคนที่ทำกินถูกต้อง แต่นำไปขายเปลี่ยนมือไม่ได้

สำหรับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ขอให้กำลังใจทำงานอย่างเต็มที่ไม่ต้องกลัวการถูกฟ้องร้องจากนายทุน เพราะถือว่าได้ว่าปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โดยเฉพาะคดีรีสอร์ตที่บุกรุกป่าตามคำสั่งศาลเมื่อสิ้นสุดคดี 

อ่านข่าว

เปิดเบื้องลึก "ปัญหาทับลาน" อุทยานฯ เสียป่า หรือใครได้เป็นเจ้าของที่ดิน? 

เปิดเหตุผล "หนึ่งในบอร์ดอุทยานฯ" สงวนสิทธิไม่เห็นด้วยเพิกถอน "ทับลาน"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง