คนจนไม่มีอะไรจะสู้ ถ้าเอากฎหมายมาฆ่าก็ตาย
ทองตู่ พรอันแสง 1 ใน 23 ชาวบ้านที่โดนคดีบุกรุกป่าทับลานเมื่อปี 2554 พร้อม "บังอร" ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก บอกว่า โดนคดีรุกป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน ตั้งแต่ปี 2554 ตอนนี้อยู่ในชั้นฎีกา ครอบครัวได้ใช้พื้นที่ 10 ไร่ ปลูกพืชผสมผสาน ผักสวนครัว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และทำโฮมสเตย์หลังเล็ก ๆ
นายทองตู่ 1 ใน 23 ชาวบ้านคดีรุกป่าทับลาน ปี 2554 และ ภารรยา นางบังอร
อ่านข่าว : "ทับลาน" มรดกโลก อุทยานแห่งชาติผืนป่าอีสานที่ใหญ่ที่สุด
ทองตู่ ในวัย 61 ปี ยอมรับน้อยใจว่าชาวบ้านดูแลพื้นที่ตรงนี้ ช่วยกันปลูกป่า ดับไฟป่า แต่สุดท้ายถูกจับกุมบุกรุก จึงอยากให้ไปใช้แนวเขตปี 2543 เพราะอยู่ที่นี่มาตั้งแต่อายุ 13 ปี และไม่เคยบุกรุกหรือตัดต้นไม้ในป่าสักต้น
ชาวบ้านช่วยกันทำแนวกันไฟ และดับไฟป่า ปลูกป่า บวชป่า ไม่มีเงินก็ใช้เงินออมชุมชนออกกันเอง ยืนยันว่าไม่ได้บุกรุก มีแต่ช่วยกันดูแล
นายทองตู่ 1 ใน 23 ชาวบ้านคดีรุกป่าทับลาน ปี 2554
ขณะที่ บังอร เล่าย้อนเรื่องเล่าแทนสามีที่พูดไม่ค่อยเก่งนัก ได้แต่นั่งให้กำลังใจข้าง ๆ กันว่า เมื่อปี 2517 นายหนู พ่อของนายทองตู่ ได้พาครอบครัวมาอยู่ที่นี่
เมื่อก่อนมีแต่ทางเกวียน ไม่มีทางรถยนต์ ต่อมาปี 2547 มีเจ้าหน้าที่มาแนะนำว่าชุมชนต้องการร่วมเป็นกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำหรือไม่ ซึ่งเครือข่ายใน ต.ไทยสามัคคี ได้ร่วมกันทำกิจกรรมปลูกป่า บวชป่า เพื่อให้ลูกหลานร่วมดูแลรักษาผืน เพราะทำมาหากินบริเวณนี้
นางบังอร
ดูแลป่าทับลานกลายเป็นผู้ถูกคดีบุกรุกป่า
กระทั่งปี 2549 มีคนเข้าบอกว่าชุมชนมีการรวมกลุ่มออมทรัพย์กันอยู่แล้ว อยากทำโฮมสเตย์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้จักคำนี้ แต่อยากลองทำเพื่อหารายได้เสริม และให้ชุมชนเปิดรับคนภายนอกที่เข้ามาท่องเที่ยว โดยมีสมาชิก 20 หลังคาเรือนร่วมทำ แต่สุดท้ายสามีถูกดำเนินคดี เนื่องจากเป็นเจ้าของที่ดิน โดยยืนยันว่ามีหลักฐานใบ ภ.บ.ท.6
ตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็ได้หยุดทำโฮมสเตย์ ซึ่งก่อนหน้านั้นรายได้ส่วนนี้ก็ไม่ได้มากนัก แต่นักท่องเที่ยวเข้ามาพักเดือนละ 1-2 ครั้ง
นายทองตู่ และนางบังอร
บังอร ตั้งคำถามว่า ผ่านมาช่วยดูแลผืนป่ามาตลอด เหตุใดหน่วยงานรัฐไม่เก็บคนไทยด้วยกันไว้ใช้งาน ให้เป็นประโยชน์กับทรัพยากรธรรมชาติ เพราะชาวบ้านช่วยกันได้มาก ไม่เคยได้รับเงินเดือน มีแต่ออกเงินกันเอง เพื่อไม่ให้เกิดไฟป่า หรือเขาหัวโล้น กลัวน้ำจะหลากมาท่วมชุมชนชาวบ้าน
ครอบครัวของนายทองตู่ สร้างครอบครัวที่นี่ มีลูกชาย 1 คน ขณะนี้อายุ 40 กว่าปี และหลานอีก 2 คน จึงรู้สึกกังวลเรื่องคดีบุกรุก
บังอร กล่าวด้วยน้ำตา ว่า เป็นห่วงสามีที่อายุ 60 กว่าปีที่ถูกดำเนินคดี และความหวังสุดท้าย อยากได้แนวเขตปี 43 และกันพื้นที่ออกมา และยกฟ้องชาวบ้าน
ชาวบ้านเข้าใจว่าด้วยแนวเขตปี 2543 จะได้อยู่ในเขตอุทยานทับลาน แต่ตอนนี้ไม่ใช่เพราะเราเป็นจำเลยของสังคมว่าเป็นคนรุกป่า
อ่านข่าว : เปิดเหตุผล "หนึ่งในบอร์ดอุทยานฯ" สงวนสิทธิไม่เห็นด้วยเพิกถอน "ทับลาน"
ใบ ภ.บ.ท.6 เบิกทางอาศัยมา 3 รุ่น
ใบ ภ.บ.ท.6 ของปู่ ชื่อนายเหมี่ยง ธรรมา คือหนึ่งในหลักฐานที่ น.ส.เกตุมณี ธรรมา ทายาทรุ่นที่ 3 และผู้ใหญ่บ้านบุไผ่ นำมาโชว์ให้สื่อมวลชนดู เพื่อบอกว่าบ้านของเธออาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานพื้นที่ 2 ไร่ 3 งานมาตั้งแต่ปี 2522 ก่อนประกาศอุทยานแห่งชาติทับลาน
เกตุมณี ธรรมา ผู้ใหญ่บ้านบุไผ่ แสดงใบ ภ.บ.ท.6
เกตุมณี บอกว่าปู่และครอบครัว "ธรรมา" มาตั้งรกรากทำมาหากินในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2480 โดยมีใบ ภ.บ.ท.6 ของปู่ ซึ่งเดิมหมู่บ้านแห่งนี้ขึ้นกับ ต.วังน้ำเขียว แต่ภายหลังแยกเป็น ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
ส่วนทะเบียนบ้านถูกจดแจ้งเมื่อปี 2522 เช่นเดียวกับใบเกิดพี่สาวที่ถูกแจ้งเกิดเมื่อเดือน พ.ค.2519 ส่วนตัวเกิดปี 2526 ขณะที่ป่าทับลานที่ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี 2524
งัดหลักฐานราชการ อยู่ก่อนประกาศทับลาน
เรามาอยู่ที่นี่เป็นรุ่นที่ 3 ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย มีหลักฐานที่บอกชัดเจนว่าชาวบ้านอยู่ก่อนประกาศเขตอุทยานทับลานแน่นอน เราไม่ใช่คนเถื่อนที่อยู่โดยไม่มีการรองรับ
น.ส.เกตุมณี ธรรมา โชว์ใบ ภ.บ.ท.6
เกตุมณี บอกว่า นับจากปี 2543 ชาวบ้านเข้าใจตรงกันว่าพื้นที่ 11 หมู่บ้านใน อ.วังน้ำเขียว ถูกกันพื้นที่แนวเขตจากป่าทับลาน มีชาวบ้านร่วมไปเดินแนวเขต ยอมรับว่าเข้าใจมาตลอดว่า เราอยู่นอกเขตอุทยานจึงไม่คิดว่าอยู่แบบผิดกฎหมาย แม้ก่อนหน้านี้ไม่มีเอกสารก็ไม่คิดว่าจะเกิดปัญหา
อย่าให้คนทั้งประเทศมาพิพากษา
กังวลมากกับอนาคตของชาวบ้านใน อ.วังน้ำเขียว ที่กลายเป็นผู้บุกรุกทับลาน และถูกกล่าวหาเอื้อทุนสีเทา ยืนยันที่หมู่บ้านนี้ไม่มีทุนสีเทามาซื้อที่ดินแน่นอน การเปิดให้คนทั้งประเทศมาตัดสินเรื่องเฉือนป่าทับลานไม่ถูกต้อง
ข้อเสนอของ เกตุมณี คืออยากให้รัฐจัดการที่ดิน 58,000 ไร่ ให้ชัดเจนในกลุ่มที่อยู่มาก่อนจะต้องได้รับสิทธิ ส่วนชาวบ้านที่ไม่อยู่ในพื้นที่แปลงนี้จะได้รับสิทธิช่วยเหลืออย่างไร รวมทั้งขอให้คนที่โดนคดีต้องได้รับการพิสูจน์หากมาอยู่หลังก็ต้องออกจากพื้นที่
น.ส.เกตุมณี ธรรมา
อ่านข่าว : เปิดเบื้องหลังเฉือนป่าทับลาน 2.6 แสนไร่ ใครได้ประโยชน์
อย่าให้คนทั้งประเทศมาพิพากษาเฉือนป่าทับลาน
เช่นเดียวกับ นายธนสาร เล็งไทยสง ที่เขาตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะเอาชาวบ้านทับลานไปแขวน จากคำว่าเฉือนป่า ถ้าคนทั้งประเทศฟังแล้วคงคิดชาวบ้านเอาพื้นที่ป่าไปทำประโยชน์อย่างอื่น แต่ความจริงคือจุดนี้ห่างป่าทับลานแค่ 12 กม. มีน้ำ ไฟฟ้า ประปา และความเจริญมีทะเบียนบ้านที่ราชการออกให้ ชาวบ้านประกอบอาชีพมาพออยู่พอกินไม่ได้ขายที่เปลี่ยนมือให้ใคร
ไม่อยากให้ตีความว่าชาวบ้านต้องยากจนบรรพบุรุษพาสร้างงาน ชาวบ้านอยู่ในที่ดินแค่อยู่อาศัย แต่กลับถูกมองเป็นผู้บุกรุกป่าทั้งที่เราถูกพาไปปลูกป่าตั้งแต่จำความได้ รักป่าเรายิ่งรักป่าเพราะคือบ้านเกิด
เขาบอกว่า สุดท้ายขอให้ใช้แนวเขต 2543 มาใช้และตัดพื้นที่นี้ออกจากป่าทับลาน เพราะชาวบ้าน ไม่อยากอยากอยู่ในเขตอุทยานทับลาน เพราะกังวลเรื่องเงื่อนไขตามมาตรา 64 โดยวันพรุ่งนี้ (13 ก.ค.) จะชวนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนมาร่วมแสดงความเห็นกันเพื่อยื่นข้อเสนอไปยังกรมอุทยานฯ
อ่านข่าว : ถอย 2 เสียงไม่ร่วมรัฐบาล "ดำรงค์" ค้านเอื้อโฉนดทองคำทับลาน
นายกฯ ชี้ปมพื้นที่ป่าทับลานเป็นมติรัฐบาลที่แล้ว ย้ำยึดกฎหมาย
รอสรุป 1 เดือน ส่งบอร์ดอุทยานฯ ชี้ขาดปมเพิกถอน "ป่าทับลาน" 2.6 แสนไร่
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- เพิกถอนป่าทับลาน
- อุทยานแห่งชาติทับลาน
- เฉือนป่าทับลาน 2.6 แสนไร่
- สคทช.
- มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
- คทช.
- รีสอร์ต
- คดีทับลาน
- ป่าทับลาน
- saveอุทยานแห่งชาติทับลาน
- รัฐจัดการที่ดิน
- คดีรุกป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน
- ชาวบ้านทับลาน
- โฮมสเตย์
- โฮมสเตย์ทับลาน
- ใบ ภ.บ.ท.6
- วังน้ำเขียว
- เฉือนป่าทับลาน
- SAVEทับลาน
- ทับลานล่าสุด
- ข่าววันนี้
- ข่าวล่าสุด
- ข่าววันนี้ล่าสุด