ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จักรวาล "มาสคอต" เครื่องมือสื่อสารคุณค่าแบรนด์สินค้า-องค์กร

ไลฟ์สไตล์
12 ก.ค. 67
20:02
876
Logo Thai PBS
จักรวาล "มาสคอต" เครื่องมือสื่อสารคุณค่าแบรนด์สินค้า-องค์กร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"มาสคอต" เครื่องมือทรงพลังสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค ช่วยเพิ่มการจดจำและความโดดเด่น โลกมีมาสคอตชื่อดังมากมาย แต่ที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ "คุมะมง" หมีดำแก้มแดงแห่งคุมะโมโตะ และล่าสุด "น้องเนย" หมีแบรนด์ไทยขวัญใจมัมหมีไทย-เทศ

มาสคอต คืออะไร ?

มาสคอต (Mascot) คือ ตัวละครหรือสัญลักษณ์ที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนขององค์กร สถานที่ กิจกรรม หรือแบรนด์สินค้าต่าง ๆ มักจะใช้ตัวละครที่ดูเป็นมิตรเพื่อดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย มาสคอตอาจปรากฏในรูปของสัตว์ บุคคล หรือตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นโดยเฉพาะ และมักจะมีลักษณะเฉพาะที่ทำให้จดจำได้ง่าย

มาสคอตถูกใช้เป็นตัวแทนสื่อสารข้อความหรือคุณค่าแบรนด์ สร้างการจดจำและความผูกพันระหว่างผู้บริโภค ทำให้เชื่อมโยงกับแบรนด์หรือองค์กรได้ง่ายขึ้น ยังใช้สร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์หรือองค์กร สร้างความโดดเด่นในตลาด แยกตัวออกจากคู่แข่งได้ รวมถึงสร้างความสนุกสนานและสีสัน ทำให้กิจกรรมหรือแคมเปญทางการตลาดน่าสนใจและน่าจดจำมากขึ้น มาสคอตเป็นสัญลักษณ์ที่ได้รับความนิยมในระดับสากล มีมาสคอตชื่อดังในโลกมีหลายตัวที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย 

มาสคอตแบรนด์องค์กร

  • มิกกี้ เมาส์ (Mickey Mouse) สร้างขึ้นโดย วอลต์ ดิสนีย์ และ อับ ไอเวิร์กส ในปี 1928 มิกกี้ เมาส์ เป็นตัวละครที่เป็นสัญลักษณ์ของดิสนีย์และเป็นหนึ่งในตัวละครที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก
  • โคคา-โคลา แบร์ (Coca-Cola Polar Bear) เจ้าหมีสีขาวเริ่มปรากฏตัวในโฆษณาช่วงฤดูหนาวและคริสต์มาส ตั้งแต่ปี 1993 เป็นที่รู้จักด้วยภาพลักษณ์ของหมีขั้วโลกที่ดื่มโคคา-โคลา
  • โรนัลด์ แมคโดนัลด์ (Ronald McDonald) ตัวละครที่เป็นตัวตลก สัญลักษณ์ของแมคโดนัลด์ มีบทบาทสำคัญในการโฆษณาและกิจกรรมการกุศลต่าง ๆ ของบริษัท
  • โทนี่ เดอะ ไทเกอร์ (Tony the Tiger) มาสคอตของซีเรียล ฟรอสต์ เฟลกส์ (Frosted Flakes) ของบริษัทเคลล็อกส์ (Kellogg's) เป็นเสือที่มีวลีติดปากว่า "They're Gr-r-reat!" ซึ่งสร้างการจดจำและเป็นที่นิยมในหมู่เด็ก ๆ และผู้ใหญ่

มาสคอตกีฬา

  • เวนิซัส (Vinicius) มาสคอตโอลิมปิกเกม ริโอ 2016 ตัวละครสีเหลืองที่เป็นการรวมกันของสัตว์หลายชนิดในบราซิล สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางธรรมชาติของประเทศ
  • Miraitowa (มิไรโทวะ) มาสคอตโอลิมปิกเกม โตเกียว 2020 มาสคอตที่เกิดจากพลังความตื่นเต้นของเด็ก ๆ อาศัยอยู่ในโลกดิจิทัล สามารถเดินทางไป-มาระหว่างโลกมนุษย์และโลกดิจิทัลได้อย่างอิสระ
  • ไฟรจิส (Phryges) มาสคอตโอลิมปิกเกม ปารีส 2024 ได้รับแรงบันดาลใจจากหมวก Phrygian ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์อิสรภาพในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ถูกสวมใส่โดยทาสในสมัยนั้น มาสคอตสีแดงสด ดวงตาโตสีฟ้า ขนตาเป็นรูปธงชาติฝรั่งเศส มีความหมายสื่อถึง การส่งเสริมด้านกีฬาและครอบคลุมจริยธรรม ในการแข่งขันโอลิมปิก ไฟรเจสจะใส่ถุงเท้ายาวสีน้ำเงินทั้ง 2 ข้าง แต่ในกีฬาพาราลิมปิก ไฟรเจสจะใส่ขาเทียม

มาสคอตจากวัฒนธรรมและการ์ตูน

  • โดราเอมอน (Doraemon) มาสคอตจากการ์ตูนและอนิเมะ หุ่นยนต์แมวจากอนาคตที่เป็นที่รักของเด็ก ๆ และผู้ใหญ่ทั่วโลก
  • เฮลโลคิตตี้ (Hello Kitty) มาสคอตของบริษัทซานริโอ (Sanrio) แมวสีขาวไม่มีปาก เป็นที่นิยมในวงการแฟชั่นและสินค้าหลากหลายประเภท

ทำไม "มนุษย์" ชอบ "มาสคอต" ?

เพราะ "มาสคอต" มีความสามารถในการสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์และความรู้สึกกับผู้คน ทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและเป็นที่รักของคนในหลายกลุ่มวัย และนี่คือหลากหลายเหตุผลที่คนชอบมาสคอต

  • ความน่ารัก มาสคอตมักถูกออกแบบให้มีลักษณะน่ารัก ทำให้คนรู้สึกผ่อนคลาย มีความสุข ช่วยกระตุ้นความรู้สึกเชิงบวก รู้สึกอยากมีส่วนร่วมด้วย
  • ความเป็นมิตร มาสคอตมักมีลักษณะท่าทางที่เป็นมิตรเข้าถึงง่าย สามารถสื่อสารข้อความหรือข้อมูลที่ซับซ้อนในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและไม่เป็นทางการ ทำให้ผู้คนรู้สึกสบายใจในการรับข้อมูล
  • การสร้างความทรงจำที่ดีและยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นจากกิจกรรมทางการตลาด การท่องเที่ยว หรือกิจกรรมทางวัฒนธรรม ทำให้คนรู้สึกเชื่อมโยงกับวัยเด็ก ทำให้คนรำลึกถึงความทรงจำ
  • การตลาดและการสื่อสาร มาสคอตช่วยสร้างการจดจำและความผูกพันกับแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้บริโภครู้สึกมีความเชื่อมั่นและความภักดีกับแบรนด์นั้น ๆ
  • การปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมต่าง ๆ ช่วยเชื่อมโยงกับผู้คนในหลายประเทศและหลายวัฒนธรรมได้

"ญี่ปุ่น" ประเทศแห่งมาสคอต

การใช้มาสคอตในญี่ปุ่น ถือเป็นกลยุทธ์ที่ผสมผสานวัฒนธรรมและการตลาดเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ทำให้มาสคอตกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและเป็นที่รักของคนญี่ปุ่นทุกกลุ่ม ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีมาสคอตจำนวนมาก สาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น อิทธิพลของการ์ตูนและอนิเมะในฐานะศูนย์กลางของวงการอนิเมะที่มีความน่ารักและมีเอกลักษณ์ และยังมีวัฒนธรรมความน่ารัก (Kawaii Culture) ที่เป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมญี่ปุ่นอีกด้วย นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังใช้มาสคอตเป็นตัวแทนในระบบการศึกษา ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การป้องกันภัยพิบัติ และการส่งเสริมสุขภาพ ทำให้ประชาชนข้อมูลเข้าถึงง่ายขึ้น

"คุมะมง" ตัวแทนจังหวัดในเวทีโลก 

หมีดำเพศผู้ แก้มสีแดง นิสัยร่าเริง เป็นมิตร เข้าถึงง่าย เป็นกันเอง ที่ชื่อ คุมะมง "Kumamon หรือ くまモン" เป็นมาสคอตที่มีชื่อเสียงของ จ.คุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น ถูกสร้างขึ้นมาในปี 2010 โดยรัฐบาลท้องถิ่นคุมาโมโตะ ที่ตกลงกันเลือก "หมี" เป็นตัวแทนจังหวัดเนื่องจากคำว่าหมีพ้องเสียงกับชื่อจังหวัด เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการรับรู้เกี่ยวกับพื้นที่ (くま - Kuma แปลว่าหมี) 

ที่มา : Kumamon.guide

ที่มา : Kumamon.guide

ที่มา : Kumamon.guide

คุมะมงกลายเป็นมาสคอตที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงสากล ถูกใช้ในการโปรโมตสินค้า แหล่งท่องเที่ยว และวัฒนธรรมของ จ.คุมาโมโตะ ความสำเร็จของคุมะมงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในด้านการท่องเที่ยวและการตลาด แต่ยังมีบทบาทสำคัญสร้างกำลังใจให้กับประชาชนใน จ.คุมาโมโตะ ช่วงเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ที่คุมาโมโตะในปี 2016 อีกด้วย คุมะมงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการช่วยเหลือและฟื้นฟูพื้นที่ ผ่านการระดมทุนและกิจกรรมการกุศลต่าง ๆ

"น้องเนย" หมี 3 ขวบขวัญใจมัมหมีไทย-เทศ

"หมีเนย หรือ น้องเนย" มาสคอตหมีสีน้ำตาลตาโตของร้านขนมแห่งหนึ่ง กำลังเป็นที่โด่งดังทั้งในโลกออนไลน์-ออฟไลน์ เพราะความเป็นมิตร น่ารัก และยังสร้างภาพจำด้วยการเป็นหมีนักเต้น บวกกับการสร้างสตอรี่เรื่องราว เป็นหมีเด็กวัย 3 ขวบ เรียนหนังสือห้องทานตะวัน ทำให้ผู้คนที่เห็นนั้นชื่นชอบและรู้สึกมีส่วนร่วมกับ "น้องเนย" โดยปราศจากความรู้สึกว่า นี่คือตุ๊กตาหมีที่มีคนอยู่ข้างใน

เรียกได้ว่า "น้องเนย" คือมาสคอตที่สร้างความสำเร็จให้กับแบรนด์ ตามสูตรจักรวาลมาสคอตทุกอย่าง 

ล่าสุด นายกรัฐมนตรี "เศรษฐา ทวีสิน" ถึงกับโพสต์เฟซบุ๊กระบุ ภูมิใจที่น้องเนยได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ จนถึงขั้นเปรียบเทียบว่าน้องเนยคือ มาสคอตที่ส่งต่อ "วัฒนธรรมไทย" ให้เป็นที่รู้จักในเวทีนานาชาติ เช่นเดียวกับ Miffy จากเนเธอร์แลนด์ หรือ Labubu จากฮ่องกง ล่าสุดน้องเนยรับจ๊อบเพิ่มถูกการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ดึงตัวช่วยโปรโมตการท่องเที่ยว

น้องเป็นหมีนะ ไม่ได้มีคนอยู่ในนั้นนะ

งานนี้ "ด้อมมัมหมี" คนรักน้องเนยคงต้องจัดตารางเวลาของตัวเองมากขึ้น เพราะน้องอาจไม่ได้ปรากฏตัวแค่ห้างสรรพสินค้าที่เดิม แหล่งข่าวด้อมน้องเนยบางคนบอกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ ระบุกังวลนิดหน่อย กลัวน้องถูกใช้งานหนัก ขอหน่วยงานรัฐช่วยดูแลหมีเด็กวัย 3 ขวบด้วย รวมถึงตั้งคำถามว่า แล้วประเทศไทยมีมาสคอตของประเทศเองจริง ๆ หรือไม่ ? 

ที่มา : Facebook Butterbear.Th

ที่มา : Facebook Butterbear.Th

ที่มา : Facebook Butterbear.Th

อ่านข่าวอื่น :

สำรวจ "หัวใจป่าทับลาน" หลังทวงคืนที่ดิน 400 ไร่

"จักรพงษ์" แจงหั่นงบกลาง 43,000 ล้าน ใช้ดิจิทัลวอลเล็ต 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง