ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มุมคิด "บรรยง" ดันเศรษฐกิจไทยโต ลดบทบาท "ขนาด-อำนาจรัฐ"

เศรษฐกิจ
15 ก.ค. 67
12:36
430
Logo Thai PBS
มุมคิด "บรรยง" ดันเศรษฐกิจไทยโต ลดบทบาท "ขนาด-อำนาจรัฐ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

กว่า 20 ปีที่ไทยต้องติด "กับดัก" ประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางระดับสูง รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของประชากรไทย เพิ่มขึ้น 78 เท่า ปัจจุบันคนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีประมาณ 234,000 บาท ทำอย่างไร คนไทยจึงจะก้าวพ้นภาวะดังกล่าว นับจากนี้อนาคตประเทศไทย "เศรษฐกิจ สังคม การเมือง" จะเป็นไปในทางทิศไหน ถือเป็นโจทย์ท้าทายของรัฐบาล ในการวางแผนระยะสั้น ระยะยาว เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง

"รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" พาไปพบกับ "นายบรรยง พงษ์พานิช" อดีตกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ผู้คร่ำหวอดในแวดวง วาณิชธนากร นักการเงิน ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ มองเศรษฐกิจไทยว่า เหตุใดยังย่ำอยู่ที่เดิม และเมื่อเกิดวิกฤตด้านต่าง ๆ จึงส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมา

เศรษฐกิจไทย อยู่ในภาวะที่เรียกว่า "ชะงักงัน" เนื่องด้วยอัตราเติบโต ถอยลงเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้ติดลบ ยกเว้น ปีที่เกิดวิกฤต แต่เติบโตในอัตราที่ต่ำที่สุดในประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ไม่ใช่เฉพาะในภูมิภาคเท่านั้น ต้องบอกว่า ทั่วโลก มีปัจจัยสะสมมายาวนานมาก ไม่ใช่เพิ่งเกิด

โครงสร้างรัฐไทย มีขนาด "อำนาจ-บทบาท" มากเกิน

นายบรรยง วิเคราะห์ว่า สภาพโครงสร้างรัฐไทยมีอำนาจ มีขนาด และมีบทบาทมากเกินไป ปัจจัยหลักที่ไม่สามารถหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ยาวนานกว่า 20 ปี ส่งผลการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจไม่เกิดประสิทธิภาพ การจัดสรรที่ไม่ดีพอ ทำให้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ ถดถอยลงเรื่อย ๆ เปรียบย้อนหลัง ในปี 2503 หรือ 60 ปีที่แล้ว ปีแรกที่ธนาคารโลกเก็บข้อมูล GDP ต่อหัวของประเทศต่าง ๆ ประเทศไทยในขณะนั้น มีรายได้เพียงแค่ 101 เหรียญต่อคน/ปี, เมียนมา 180 เหรียญ/ปี, เวียดนาม 220 เหรียญ/ปี, ฟิลิปปินส์ 240 เหรียญ/ปี, มาเลเซีย 300 เหรียญ/ปี, สิงคโปร์ 400 เหรียญ/ปี, สหรัฐอเมริกา 2,500 เหรียญ/ปี

แม้ปัจจุบัน ประเทศไทยจะมีรายได้เฉลี่ย 7,500 เหรียญ/คน/ปี แต่หลายประเทศในเอเชียรายได้ขึ้นไปเป็น 12,000 เหรีย/คน/ปี จะมีเพียง "เวียดนาม" ตอนนี้รายได้ต่อหัวเหลือ 4,800 เหรียญต่อปี สะท้อนความผิดพลาด เชิงสถาบันของเวียดนามที่เป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์กว่า 8 ปี ขณะที่ฟิลิปปินส์ รายได้ต่อหัวประมาณ 5,000 เหรียญ/ปี ต่ำกว่าไทยประมาณสองเท่าครึ่ง เพราะเผด็จการยาวนาน 21 ปี ทำให้เกิดความเจริญน้อยและกระจุกตัว

ที่น่าแปลกใจ "ประเทศไทย" เศรษฐกิจกลับเติบโตดีขึ้นปีละ 10% ในยุคเผด็จการของ "จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์" "จอมพล ถนอม กิตติขจร" และ "จอมพล ประภาส จารุเสถียร" หลังจากนั้นก็เกิดปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองเติบโตชะลอลง

มายุค 8 ปี "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" เติบโตขึ้น 10% "ทำให้คนบางกลุ่มเกิดภาพหลอนว่าระบบประชาธิปไตยไม่ดี หลายคนจึงถวิลหาเผด็จการครึ่งใบ ประชาธิปไตยค่อนเสี้ยว แต่ นายบรรยง ไม่เห็นด้วย เพราะคนละยุค คนละสมัย แต่หากดูในเงื่อนไขบริบทจะเห็นว่าการเติบโตของประเทศไทยในช่วงนั้นมาจากการเลือกใช้คน

หากมองประวัติศาสตร์ ต้องดูเงื่อนไขบริบทอื่นด้วยว่า จะเป็นไปในทิศทางไหน คือ ประเทศในช่วงที่พัฒนาจากประเทศที่ด้อยพัฒนาขึ้นมาเป็นประเทศกำลังพัฒนา ก็ต้องใช้รัฐนำ ใช้ภูมิความรู้ ซึ่งประเทศไทยโชคดี และเติบโตได้ดี ในยุคนั้น เหตุผู้นำสมัยเลือกใช้กลุ่มคนที่เรียกว่า "เทคโนแครต" เข้ามามีส่วนร่วม ในการวางแผนพัฒนาประเทศ เช่น ศ.ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์, อาจารย์ บุญมา วงศ์สวรรค์, สุนทร หงส์ลดารมภ์, และก็น่าแปลกใจว่า เหตุใด คนเหล่านี้ กลับทำงานได้ดีในยุคอำนาจเบ็ดเสร็จ

แต่เมื่อประเทศพัฒนามาถึงจุดหนึ่งแล้วก็เกิดคำถามว่า เราควรจะนำโดยรัฐต่อ หรือให้เอกชนนำ จากประวัติศาสตร์ประเทศที่พัฒนาแล้ว พอมาถึงระดับหนึ่ง ต้องใช้ตลาดนำ ไม่ใช่รัฐนำ

อย่างไรก็ตาม หากมองย้อน ยุครุ่งเรืองของ "พล.อ.เปรม" ปลายปี 2533 หลังจากไทยเปลี่ยนจากเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม อัตราเติบโตค่อนข้างดี ทำให้ "Productivity Improvement" กล่าวคือ บุคคล ทีม และองค์กร เกิดการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สูงขึ้นมาก แต่ก็มีความผิดพลาดด้านนโยบายการเงิน ด้วยการไม่เปิดอัตราเสรีแลกเปลี่ยนเงิน จนประสบปัญหาฟองสบู่สะสม ตั้งแต่ปี 2534–2540 เศรษฐกิจจากที่เติบโต 8-9% ติดลบไปประมาณ 12% ผ่านไป 3 ปี เศรษฐกิจก็กลับมาจุดเดิม แต่ก็เติบโตสูงสุดเพียงแค่ 5% เท่านั้น

กระทั่งเกิด "วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์" ในปี 2551 ติดลบไปอีก 1 ปี หลังจาก ฟื้นจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ลงไปเหลือ 3% จนถึงตอนนี้ก็ต่ำลงเรื่อย ๆ ยิ่งเจอวิกฤตโควิด สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยไม่มีคำว่า "Resilience" หรือ การปรับตัวและฟื้นตัวภายหลังที่พบกับเหตุการณ์วิกฤตไทยติดลบ 6% ครึ่ง ถือเป็นอัตราติดลบที่สูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เนื่องด้วยประเทศอื่นมีการฟื้นตัวได้เร็วภายใน 1 ปี สวนทางกับไทยใช้เวลา 3 ปีในการฟื้นตัว แต่ก็ฟื้นตัวในแบบที่ต่ำลง เหลือเพียง 1.9%

กลับไป "เผด็จการ" หรือ "ประชาธิปไตย"

…แล้วประเทศไทยควรจะไปทางไหน จะกลับไปสู่ยุคเผด็จการทหาร หรือเดินหน้าประชาชาธิไตย อย่างมีอริยะ… นายบรรยง ชี้ให้เห็นตัวชี้วัดระดับสากล (Index) 6 ข้อสำคัญ คือ รายได้ต่อคนต่อปี, การกระจาย การทั่วถึงของรายได้, ประชาธิปไตย, การเป็นตลาดเสรีที่สมบูรณ์ไม่ใช่ผูกขาด, ความโปร่งใส (คอร์รัปชัน), คุณภาพคน คุณภาพการศึกษา

เชื่อหรือไม่ 6 index ประเทศต้น ๆ ของโลก 20 ประเทศ ซ้ำกันหมดเลย หมายความว่า มีเงื่อนไขทางสถาบันที่จำเป็นต่อความสำเร็จ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ คือ ความเป็นประชาธิปไตย และตลาดเสรีที่สมบูรณ์ ไม่ใช่ทุนนิยมสามาน มีการแข่งขัน กฎกติกาที่ส่งเสริมการแข่งขัน และกลไกตรวจสอบความโปร่งใส ไม่ให้เกิดการคอร์รัปชันรั่ว และคุณภาพการศึกษา ทั้ง 4 อย่าง คือ เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ประเทศพัฒนา

หากดูตัวชี้วัดความมั่งคั่งของประเทศไทย อยู่อันดับที่ 80 จาก 177 ประเทศ, การกระจายทั่วถึงรายได้ ก็อยู่ในอันดับกลาง ๆ แต่เมื่อมาดูความเป็นประชาธิปไตย อยู่อันดับ 135 จาก 177 ประเทศ ถือว่าแย่มาก และไหลลงเรื่อย ๆ ขณะที่ตลาดเสรีที่สมบูรณ์ อยู่อันดับ 63 จาก 80 ประเทศ เท่ากับเกือบรั้งท้าย มาที่เรื่องความโปร่งใส ถอยลงเรื่อย ๆ ตอนนี้อยู่ที่ 112 จาก 177 ประเทศ เท่ากับว่ามีการคอร์รัปชันมากขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายคือเรื่องของการศึกษา อยู่อันดับที่ 63 จาก 80 ค่อนข้างจะท้าย ๆ

...ถามต่อว่า ช่วงหลังเศรษฐกิจของเวียดนาม อินโดนีเซีย พุ่งไปข้างหน้า เกี่ยวกับ index 4 ตัวนี้หรือไม่ 

นายบรรยง สะท้อนว่า เวียดนามแม้จะยังไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เรื่องคอร์รัปชัน และคุณภาพการศึกษา ดีกว่าไทย ย้อนไปในช่วงสมัยเวียดนามเป็นอาณานิคม รุ่งเรืองมากทำให้เป็นที่รู้จักในชื่อ "Paris Saigon OF Asia" หรือ "ปารีสไซง่อน OF เอเชีย" ขณะที่ไทยยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ถึง 18 ปี ตั้งแต่ปี 1975-1993 กลับถอยหลังลงคลอง จากร่ำรวยกว่าไทย เท่า

แม้ปัจจุบันเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตประมาณปีละ 7.58% ส่วนไทยเติบโตที่ 2% แต่ด้วยการปกครองในระบบคอมมิวนิสต์ก็เชื่อว่า จะแซงไทยยาก เห็นชัดว่า ถ้าระบบผิดพลาด มันจะทำร้ายไปจนชั่วอายุคน

ขณะที่ "อินโดนีเซีย" มีความน่าสนใจ แม้จะเคยเป็นเผด็จการทหาร ตอนหลังเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้น ดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติ ถามว่าเพราะอะไร ด้วยบริบทง่าย ๆ คือ ทุนไหลเข้าสู่ สิ่งที่เขาคิดว่า มีผลตอบแทนดีต่อการลงทุนเสมอ มีปัจจัยเกี่ยว ข้อง เช่น ตลาดดี คุณภาพสถาบันที่ดี กฎระเบียบที่ดี ไม่เป็นอุปสรรคมากเกินไป คอร์รัปชันต่ำ คุณภาพคน และคุณภาพทรัพยากร

…จากที่รัฐบาลระบุ จะเร่ง 2-3 โครงการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้นมาอยู่ที่ 3% นายบรรยง มองว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นเพียงการเพิ่มระยะสั้น ท่องเที่ยวก็ระยะสั้น แต่ถ้าต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในระยะยาวต้องมีโครงการลงทุน ที่ต้องคุ้มทุน ขณะนี้ที่เห็น คือ แลนด์บริดจ์ และเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งหลายภาคส่วนเห็นว่า ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เนื่องจากเงื่อนไขที่ออกมา ยังมีความน่าสงสัย และต้องใช้งบลงทุนหลายแสนล้านบาท

ดันเศรษฐกิจโต ต้องลด "บทบาท-อำนาจรัฐ"

...ถ้าให้มองศักยภาพของไทย นายบรรยง เห็นว่า ตอนนี้เรามีศักยภาพต่ำลงมาก หากจะดันเศรษฐกิจให้เติบโตถึง 5% ตามที่รัฐบาลหวังไว้ แต่การจะเพิ่มศักยภาพได้จะต้องลดขนาดบทบาทและอำนาจรัฐ

ผลวิจัยของทีดีอาร์ไอ และสถาบันอนาคตไทยศึกษา พบว่า รัฐไทยใหญ่มาก ย้อนไป 10 ปีที่ผ่านมา ระบบราชการขยายอย่างรวดเร็ว กว่า 50% เพิ่มขึ้นถึง 2,200,000 คน จาก 1,400,000 คน เงินเดือนข้าราชการ และสวัสดิการ ร้อยละเกือบ 8% ของจีดีพี สูงอันดับ 3 ในประเทศเอเชีย รองจาก การ์ตา กับ มัลดีฟส์

แต่หากเทียบกับสิงคโปร์ เงินเดือน และสวัสดิการข้าราชการ 3% ครึ่งของจีดีพี ทั้ง ๆ ที่ "ลี เซียนลุง" อดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เงินเดือนปีละ 70 ล้านบาท มีข้าราชการ 120,000 คน ขณะที่เงินเดือนนายกรัฐมนตรีไทยปีละประมาณ 2 ล้านกว่าบาท

รัฐไทยใหญ่หลายมิติ ใหญ่ผ่านรัฐวิสาหกิจก็สำคัญ ด้วยงบประมาณ ปีละ 3.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 22% ของรายได้ประชาชาติ ขณะที่ประเทศเจริญแล้ว อย่าง สวีเดน เดนมาร์ก ร้อยละ 80% ของงบประมาณ เป็นสวัสดิการ ขณะที่ของไทย ร้อยละ 80% เป็นงบดำเนินการ เพราะอำนาจรัฐเป็นอำนาจผูกขาด จึงไม่จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพ

ในฐานะที่เคยเป็นอดีตกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ถามว่า การรื้อระบบรัฐวิสาหกิจได้ผลหรือไม่ นายบรรยง ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ทำได้อยาก เพราะหวังไว้ 100 แต่ทำได้แค่ 5 เนื่องด้วยกฎหมายที่ยื่นเข้าไป ไม่ผ่าน สนช. "การปฏิรูปใด ๆ ก็ตาม จะมีผู้เสียประโยชน์เสมอ ซึ่งผู้เสียประโยชน์จะเห็นชัดว่า เขาเสียอะไร ขณะที่ผู้ได้ประโยชน์ คือ ประชาชน 70 ล้านคน เขาไม่ค่อยเห็น เขาก็ต้องแบ่งไง เขาได้คนละนิด คนละหน่อย"

นายบรรยง บอกด้วยว่า การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ พอทำงานรู้เลยว่า ใครไม่ชอบบ้าง ทั้ง นักการเมืองและข้าราชการประจำ ไม่ชอบ เพราะอำนาจหายไป ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ เพราะเขาต้องแข่งกับเอกชน ขณะที่ พนักงานรัฐวิสาหกิจ–สหภาพฯ จะถูกบังคับให้ทำงานมากขึ้น รวมทั้ง "คู่ค้ารัฐวิสาหกิจ"

แต่ที่น่าสนใจคือ NGO กลับไม่ชอบด้วย คือ สิ่งที่เกิดขึ้นและทำให้ฝ่ายอื่น ๆ ไปอ้าง โดยมีมายาคติว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การปรับปรุงรัฐวิสาหกิจ เป็นการขายชาติ

ช่วงเกิดรัฐประหารในประเทศไทย นายบรรยง ยอมรับว่า ต่อต้านสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่สามารถคานอำนาจได้ จึงพยายามทำ 3 เรื่องสำคัญ ในขณะที่เป็นซูเปอร์บอร์ด คนร. คือ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ, การต่อต้านคอร์รัปชัน, ปฏิรูปกฎหมาย ที่มีมากเกินไป ทำให้เป็นอุปสรรค และกลไกการค้าต่าง ๆ

กว่า 10 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาของสื่อในรูปแบบ เทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นเครื่องมือสำคัญในการให้ความรู้ประชาชน เพื่อที่จะได้ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ที่มีไม่เพียงพอ NGO ที่ยังขาดทรัพยากร ขาดความสามารถ เพื่อตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐผลักดันเศรษฐกิจของไทยไปข้างหน้า

พบกับ: รายการคุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง