วันนี้ (16 ก.ค.2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแม้โครงการ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" จะผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แต่ยังไม่สามารถเริ่มได้ตามกำหนดการในวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ขณะนี้ยังพบปัญหาในการดำเนินโครงการฯ จึงต้องใช้เวลาทำความเข้าใจให้ตรงกัน เพราะหลายฝ่ายยังเข้าใจคลาดเคลื่อนและนำโครงการเยียวยาไร่ละ 1,000 บาทมารวมกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง โดยได้หมอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เรียกประชุมเร่งด่วนว่าจะดำเนินการต่อหรือไม่
รมว.เกษตรฯ ยอมรับว่า ปัญหาทางการเมืองเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้โครงการปุ๋ยคนละครึ่งต้องหยุดชะงัก เพราะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเสียประโยชน์ แต่อยากให้คำนึงถึงประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก
ขณะที่การประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ระดับประเทศ ครั้งที่ 2/2567 ที่มีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเพื่อสรุปความพร้อมโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง หลังจากไม่สามารถเริ่มได้ในวันที่ 15 ก.ค. ซึ่งการประชุมใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง บรรยากาศเคร่งเครียด ขณะที่ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ไม่ให้ข้อมูลใดๆ ระบุเพียงว่าต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง
ก่อนเข้าประชุม นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า โครงการปุ๋ยคนละครึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะต้องเลื่อนโครงการออกไปก่อน อาจเป็นฤดูกาลหน้า เนื่องจากขณะนี้ยังมีความเห็นต่างของเกษตรกร รวมทั้งเกษตรกรบางส่วนไม่มีเงินสมทบซื้อปุ๋ยคนละครึ่ง และเกษตรกรบางส่วนเริ่มการเพาะปลูกไปแล้ว ขณะเดียวกันสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการฯ ยังมีน้อยรายหรือเพียง 500 แห่งจากสหกรณ์ทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง
ชาวนาบางส่วนมองโครงการ "ปุ๋ยคนละครึ่ง" ไม่ตอบโจทย์
ขณะที่ชาวนาใน ต.คลองจิก อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา มองว่าโครงการปุ๋ยคนละครึ่งไม่ตอบโจทย์ เพราะต้องใช้เงินสดไปซื้อปุ๋ย ทั้งที่เกษตรกรแบกรับหนี้สินมากอยู่แล้ว ส่วนชาวนาใน อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร ยื่นรายชื่อผู้คัดค้านโครงการปุ๋ยคนละครึ่งกว่า 1,000 คน ให้กับนายวินัย ภัทรประสิทธิ์ สส.พรรคภูมิใจไทย โดยต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนเป็นเงินค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาทมากกว่า
เช่นเดียวกับชาวนาใน จ.กำแพงเพชร และ จ.นครสวรรค์ บางคนเห็นว่าโครงการปุ๋ยคนละครึ่งไม่ตรงความต้องการของชาวนาเพราะต้องเติมเงินเข้าระบบ แต่ชาวนาไม่มีเงิน จึงต้องกู้ยืมเงิน และขณะนี้ข้าวกำลังออกรวงไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย ซึ่งชาวนากลุ่มนี้ยืนยันว่าหากไม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบจะไม่เข้าร่วมโครงการฯ
ทั้งนี้ มีข้อกังวลคือการที่เกษตรกรเติมเงินในแอปพลิเคชันของ ธ.ก.ส.ครึ่งหนึ่ง และให้ธนาคารเติมเงินแทนรัฐครึ่งหนึ่ง เพื่อนำไปซื้อปุ๋ยกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ แต่ในทางปฏิบัติอาจมีชาวนาบางส่วนไม่รับปุ๋ยจากร้าน โดยรับเป็นเงินสดแทนในสัดส่วนที่ตกลงกัน ซึ่งจะทำให้โครงการฯ ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์
อ่านข่าว
แห่จับปลาหมอคางดำ บึงมักกะสันตลอดคืน - เปิดประตูระบายน้ำแล้ว
น้อยใจปู่ ป.5 จบชีวิตตัวเอง นักจิตวิทยาชี้ "วัยรุ่น" ความคิดซับซ้อน