ดร.นิเวศน์ เปิดพอร์ตวิเคราะห์ ตลาดหุ้นไทยนิ่งยาว ลงทุนไม่ได้กำไร

เศรษฐกิจ
17 ก.ค. 67
14:07
1,144
Logo Thai PBS
ดร.นิเวศน์ เปิดพอร์ตวิเคราะห์ ตลาดหุ้นไทยนิ่งยาว ลงทุนไม่ได้กำไร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หุ้นไทยแดงทั้งกระดาน ร่วงหนัก อย่างต่อเนื่อง เข้าสู่ภาวะวิกฤต ยากเยียวยา ไม่ใช่เฉพาะปีนี้ แต่มีการส่งสัญญาณล่วงหน้ามาก่อน ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยถดถอย จากระดับ 1,600 จุด แม้จะเคยขยับขึ้นไปสูงสุดที่ 1,700 จุด ปัจจุบันลดระดับแตะ 1,300 จุด หรือ ลงไปอยู่ระดับเดียวกับช่วงเกิดวิกฤตโควิด -19

สงครามทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก อาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทุกภูมิภาค แต่สำหรับตลาดหุ้นไทย นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว ยังมีสาเหตุอื่น หรือไม่ ที่ทำให้หุ้นไทยแดงทั้งพอร์ต และทำไม? ต่างชาติจึงถอนการลงทุนออกจากตลาดหุ้นไทย

ปัญหาตลาดหุ้นไทยสะสมมายาวนาน สะท้อนได้จากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยต่อเนื่องกว่า 1 ล้านล้านบาท เฉลี่ยปีละ 1 แสนล้านบาท เพียงแค่ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไปแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท และคาดว่าถึงสิ้นปีนี้จะสูงถึง 2 แสนล้านบาท

"ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนแบบเน้นคุณค่า วิเคราะห์สาเหตุตลาดหุ้นไทย ในรายการ "คุยนอกกรอบ กับ สุทธิชัย หยุ่น" ทำให้เห็นมุมมองการลงทุนในตลาดหุ้น และสัญญาณด้านเศรษฐกิจของไทยที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน

"ท้อแท้ สิ้นหวัง" คงไม่เกินความจริงกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ด้วยปัจจัยโครงสร้างที่เปลี่ยนไป ดร.นิเวศ อธิบายให้เห็น 3 โครงสร้างหลักที่มีผลกระทบ ได้แก่ โครงสร้างประชากรไทย เปลี่ยนไป” ทั้งจากจำนวนประชากรที่เริ่มลดลง และการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด (Super-aged society) เปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านมีเด็กเกิดใหม่มาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศฟิลิปปินส์ อินดีย อินโดนีเซีย

โครงสร้างเรื่องประชากรของไทย ไม่ทราบจะแก้อย่างไร เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีลูก คนแก่อายุยิ่งเพิ่มขึ้น เป็นข้อเสียเปรียบอันดับต้น ๆ เนื่องด้วยประชากรเป็นคนที่สร้างเศรษฐกิจ ยิ่งมากเศรษฐกิจยิ่งโต ยิ่งมีคุณภาพเศรษฐกิจก็ยิ่งพัฒนา

โครงสร้างการเมือง 10 ปี ที่ผ่านมา เศรษฐกิจตลาดหุ้นไทยแทบจะหยุดนิ่ง เนื่องด้วยการรัฐประหาร ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศ เพราะรัฐบาลมีส่วนนำทิศทางเศรษฐกิจส่งเสริม พัฒนาโครง สร้างพื้นฐาน และทำสัญญาการค้ากับต่างประเทศ ซึ่งในระยะหลังไทยไม่สามารถคุยกับประเทศใดได้ หลายประเทศในยุโปรเปลี่ยนแผนการลงทุนไปประเทศเวียดนาม เนื่องด้วยสนธิการค้าทั่วโลก (FDA) ไม่เสียภาษีส่งออก

โครงสร้างของบริษัท ยังเป็นเศรษฐกิจรุ่นเก่า ที่ยังไม่มีการปรับตัวไปสู่เทคโนโลยีใหม่ ๆ แข่งขันกับบริษัทต่างประเทศ ท้ายที่สุดตลาดหุ้นไม่โต เพราะขายแต่ของเดิม ๆ

"ถ้าบริษัทคุณเก่ง อย่าง อเมริกา มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยี มีความไฮเทค อย่าง Apple ที่มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ และเฟซบุ๊ก ที่คนใช้กันทั่วโลก กลายเป็นว่าความไฮเทคของเขาไม่กี่บริษัทสามารถครองเศรษฐกิจ ครองตลาดหุ้นไม่รู้กี่สิบเปอร์เซ็นต์ หุ้นตัวเดียวก็ใหญ่กว่าประเทศไทยหลายเท่า"

การค้าไม่เอื้อประโยชน์ "วิกฤต"ตลาดหุ้นไทย

สาเหตุที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาไทยน้อยลง ดร.นิเวศ ให้เหตุผลว่า ส่วนหนึ่งมาจากสนธิสัญญาการค้าที่ไม่ได้เอื้อประโยชน์ ทั้งยังเรื่องค่าแรง จำนวนแรงงานไม่เพียงพอ แรงงานไม่มีทักษะ สอดรับกับการพัฒนาตัวเองของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้นักลงทุนเบนเข็มทิศทางลงทุนไปยังประเทศที่เคยเป็นรองไทย ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำ คือ สนธิสัญญาเรื่องภาษี FDA การพัฒนาแรงงานให้มีทักษะความต้องการของประเทศที่จะเข้ามาลงทุน

ดร.นิเวศ ยืนยันสภาวะหุ้นไทยไม่ได้ร่วงแบบวิกฤต แต่ "นิ่ง" ไม่มีการเติบโตตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คนลงทุนไม่ได้รับผลตอบแทน เปรียบเทียบไปเมื่อช่วง 20-30 ปีที่แล้ว แต่ละวันมีคนเทรดซื้อขายหุ้นประมาณ 1 แสนล้านบาท ปัจจุบันเหลือ 4 หมื่นล้านบาท ผู้เล่นรายย่อยหายไป เหลือแต่รายใหญ่จากต่างประเทศที่เทรดด้วยระบบคอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรมที่เร็วมาก

"ก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นบ้านเราคนเล่นหุ้นกันเยอะ ทุกคนเข้าไปแล้วสนุก เพราะว่าได้ผลตอบแทน แต่พอนานเข้า ปีแล้วปีเล่า เล่นไปเล่นมา ไม่เคยได้กำไรเลย ขาดทุนตลอด"

ส่วนผู้เล่นชาวต่างชาติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็ทยอยเทขายหุ้น ปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท 10 ปี ก็ประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะปีนี้ผ่านไปเพียงแค่ 6 เดือน สูญเงินไปแล้ว 1 แสนล้านบาท คาดถึงสิ้นปีน่าจะถึง 2 แสนล้านบาท สวนทางกับเศรษฐกิจของไทยที่ต้องการเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท

"ต่างชาติจริง ๆ พวกนี้เขาไม่ได้มีอะไรหรอก เขาก็บินไปทั่วโลก ดูว่าที่ไหนดี ให้ผลตอบแทนดี เขาก็ไป ไม่เหมือนคนไทย การจะออกไปนอกประเทศมันยุ่ง ต้องแลกเปลี่ยนเงินบาทขาดทุน แต่ต่างชาติพวกนี้เขาไปบ่อย เขาบินไปทั่วโลก เขาไปมานานแล้ว เขาจะดูว่าประเทศไหนกำลังรุ่ง และก็ดูภาพยาว"

เฉกเช่นในสายนักลงทุนชาวต่างชาติมองประเทศไทยเมื่อ 20-30 ปี เป็นประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็ว ทุกอย่างลงตัวใช้ได้ เป็นประเทศที่มีคนเอาเงินเข้ามาเอาเงินออกไป พอเข้ามาถึงจุดหนึ่งการเติบโตชะลอตัว โดยเฉพาะในสถานการณ์เกิดวิกฤต

"ช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 เศรษฐกิจไทยโตปีละ 7% หลังปี 2540 ลงมาเหลือ 5% ผ่านไป 10 ปีเจอวิกฤตอีก โตปีละ 2% หลังโควิด -19 เหลือต่ำกว่า 2% เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนถือว่าต่ำมาก เพราะอาเซียนตอนนี้ยัง 5% ตอนนี้ไทยเราถือว่าต่ำที่สุดแล้ว"

การเมืองไม่นิ่ง กระทบเศรษฐกิจไทยโตต่ำ

... "รัฐบาลบอกเศรษฐกิจไทยเราโตต่ำกว่าศักยภาพ" ศักยภาพที่แท้จริงไทยควรโตที่เท่าไหร่..

ดร.นิเวศ มองว่า ศักยภาพไทยลดลง ไม่สามารถไปกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตไปถึง 5% ตามที่รัฐบาลหวังไว้ได้ เนื่องด้วยจำนวนประชากรลดลงปีละหลายหมื่นคน อีกทั้งไม่มีความสามารถในการเติมเต็มแรงงานทดแทนในส่วนที่ขาด ประเทศไทยจึงจำเป็นจะต้องใช้เทคโนโลยี และ AI เพิ่มประสิทธิภาพ แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากเนื่องด้วยยังไม่มีคนเชี่ยวชาญ หรือการพัฒนาเข้าสู่ภาคประชาชน ปัญหาเริ่มต้นเทคโนโลยีจะต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลจะต้องวางนโยบายว่าจะทำสิ่งเหล่านี้อย่างไร

ดร.นิเวศ บอกว่า การเมืองไม่นิ่ง ทั้งรัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจ นาทีนี้บ้านเราเกิดปัญหาค่อนข้างแรง และอะไรก็ตามที่จะทำออกมาภายใน 6 เดือน 1 ปี ต่อจากนี้ในระยะเวลาสั้น ๆ มันอาจจะช่วยพยุงหุ้นกลับมาได้

"การแจกเงินมันก็เป็นประเด็นหนึ่ง แต่มันไม่ยั่งยืน พอเงินหมดก็หมด แต่ถ้าคุณพัฒนาการเรียนรู้ ทำโครงการที่ให้พวกนี้ต่อยอดได้ บางทีหลังจากเขาทำเป็น นอกจากเขาจะทำงานได้สบาย เขาก็จะเพิ่มประสิทธิภาพให้ตัวเองและประเทศ สุดท้ายเงินในประเทศก็จะเพิ่มขึ้น"

กฎหมายตลาดหุ้นโปร่งใส แรงจูงใจนักลงทุน

กฎหมายที่โปร่งใส เป็นอีกความสำคัญที่จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ กลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย เนื่องด้วยหลายคดี ไม่สามารถดำเนินการเอาผิดได้ หรือได้รับโทษที่น้อยมาก แม้ว่า ความผิดจะเกี่ยวกับจำนวนเงินมหาศาล ทำให้ผู้กระทำความผิดบางคนกลับเข้ามาในตลาดหุ้นได้อีก

ส่วนหนึ่งมาจากที่ประเทศไทยไม่มี กฎหมายตลาดหลักทรัพย์ จะเป็นเพียงกฎหมายพ่วงเข้ากับกฎหมายใหญ่คดีอาญา - คดีแพ่ง ต้องใช้เวลาการสอบสวน พิพากษานานหลายปี ที่สำคัญศาลก็ไม่ค่อยเข้าใจในประเด็นเกี่ยวกับการลงทุน จึงทำให้การตัดสินในบางคดีเป็นไปในแบบที่ไม่ค่อยถูกต้อง

คือ คนโกงเขาก็กล้าไง เพราะคดีมันง่าย ตามยาก หลุดไปเยอะเหมือนกัน ฉะนั้น ผลตอบแทนสูงมาก แต่ความเสี่ยงที่จะถูกจับมันน้อย คุ้มที่จะเสี่ยง มีหลายคนพอเกิดคดีเสร็จก็หนีไปอยู่ต่างประเทศ

จึงต้องทำความเข้าใจว่า "โลกสมัยใหม่ ตลาดหุ้น คือ หัวใจของเศรษฐกิจ"

พบกับรายการ: คุยนอกกรอบกับ สุทธิชัย หยุ่น ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 21.30-22.00 ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว : ภารกิจสร้างสุข "เภสัชกรยิปซี" กฤษณา ไกรสินธุ์

เปิดใจคุย "ธรณ์" วิกฤตปะการังฟอกขาว ในวันใต้ท้องทะเลไทยเดือด

"ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ศึกษาเสมอภาค "สมการแก้จนข้ามรุ่น"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง